หนังสือแห่งความรัก'ปราย พันแสง,นิตยสาร OOM ,2550


หนังสือแห่งความรัก
’ปราย พันแสง
จากนิตยสาร OOM,กุมภาพันธ์,2550
............


ลิลิตพระลอ
หลายปีมานี้ ด้วยหน้าที่การงาน ทำให้โลกการอ่านส่วนตัวเปลี่ยนไปมาก ถ้านับจำนวนเล่ม อาจจะอ่านน้อยกว่าเมื่อก่อน แต่เล่มที่เลือกอ่าน ก็มีความหลากหลายขึ้น แม้แต่หนังสือที่ไม่เคยแตะมาก่อนเลย อย่างพวกวรรณคดีไทยเล่มหนาๆ ที่เคยเบื่อๆ สมัยเป็นเด็กนักเรียน ก็ยังหยิบขึ้นมาอ่านได้ลงคอ อาจเป็นเพราะคนเราพอโตขึ้น คงจะอยากอ่านอะไรที่มันลงลึกมากขึ้น ลิลิตพระลอ เป็นเล่มหนึ่งที่ได้อ่าน อ่านจบแล้วต้องบอกว่า น่าจะอ่านตั้งนานแล้ว เพราะมันสนุกมาก เซ็กซี่มาก แค่ฉากนางรื่นนางโรยกับนายแก้วนายขวัญซึ่งเป็นตัวประกอบของเรื่องเล่นไล่จับกันในสระบัวจนฝูงปลาแตกกระเจิงก็เขียนเล่าบรรยายได้อีโรติกมาก ส่วนฉากอีโรติกจริงๆ ของพระลอกับพระเพื่อนพระแพงก็คงไม่ต้องบรรยายว่าหมดจดแค่ไหน ตอนนี้จึงไม่แปลกใจแล้วว่าทำไมนักเขียนผู้ใหญ่หลายคนในบ้านเราจึงชอบยกตอนนั้นตอนนี้ของหนังสือมาพูดถึงบ่อยๆ
..........
The Blue Stone
โลกเหงาของหินสีฟ้า

เป็นหนังสือเล่มล่าสุดของ จิมมี่ เลี่ยว ที่คุณชุตินันท์ เอกอุกฤษฏ์กุล แปลมาเป็นภาษาไทย ในเล่มเป็นเรื่องราวของหินสีฟ้าก้อนหนึ่ง ที่แตกออกเป็นสองซีก ซีกหนึ่งถูกทิ้งไว้ในป่าลึก อีกซีกหนึ่งถูกพาเข้ามาอยู่ในเมืองใหญ่ แล้วก็ถูกแปรรูป ถูกทำให้แตกออกเป็นเสี่ยงๆ เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ทำให้มันเหงาแล้วก็คิดถึงอีกครึ่งที่เหลืออยู่ตลอดเวลา หนังสือเล่มนี้ก็คือ The Missing Piece ของ เชล ซิลเวอร์สไตน์ที่เอามาเขียนใหม่แบบคนตะวันออกดีๆ นี่เอง อาจจะเป็นเพราะจิตวิญญาณแบบเอเชีย ที่เรียกร้องสิ่งต่างๆ จากชีวิตน้อยกว่าคนตะวันตกกระมัง อ่านแล้วจึงรู้สึกว่ามันเป็นความไม่สมบูรณ์แบบที่เจียมเนื้อเจียมตัวดี ถ้าแอบรักใครชอบใคร หนังสือเล่มนี้เหมาะมากที่จะเป็นหนังสือบอกความในใจว่าเรารัก โดยมีหมายเหตุที่มองไม่เห็นว่า รักและคิดถึงนะ แต่ไม่ได้เรียกร้องต้องการอะไรจากเธอเลยนะ น่ารักไหม
.............
Georgia O'Keeffe
And Alfred Stieglitz
ชอบภาพเขียนดอกไม้ของจอร์เจีย โอคีฟ มานานแล้ว ยิ่งมีโอกาสได้อ่านเรื่องราวความเป็นมา วิธีคิด วิธีทำงานของเธอก็ยิ่งชอบ หลายปีที่แล้วเคยแปลบทสัมภาษณ์ของเธอเกี่ยวกับดอกไม้เอาไว้ในหนังสือ “สวยสดและงดงาม”เอาไว้ด้วย มีอยู่ครั้งหนึ่ง มีโอกาสไปเที่ยวหอศิลป์ปอมปิดู ที่ปารีส พอดีที่นั่นจัดแสดงภาพเขียนของเธอเอาไว้ด้วย ก็เลยประทับใจ ซื้อหนังสือ One Hundred Flowers ของเธอที่มีขายในมิวเซียมกลับมาเป็นที่ระลึกด้วย ภาพวาดของเธอตลอดชีวิตหนึ่งในสี่เป็นภาพดอกไม้ และหนังสือเล่มนี้ก็รวบรวมภาพดอกไม้ที่เป็นงานมาสเตอร์พีซของเธอไว้ทั้งหมด และที่ตลกมากคืออีกสองสามวันถัดมา ระหว่างที่อยู่ในปารีสก็มีโอกาสแวะไปที่พิพิธภัณฑ์ Orsay ปรากฏว่าที่นั่นกำลังจัดแสดงงานนิทรรศการภาพถ่ายของจอร์เจีย โอคีฟ ซึ่งถ่ายโดย อัลเฟรด สเตกริตซ์ สามีของเธอ ก็เลยต้องซื้อหนังสือของ อัลเฟรด สเตกริตซ์ มาด้วยอีกหลายเล่ม ทั้งสองเป็นศิลปินทีเก่งมาก ยิ่งอ่านเรื่องราวของทั้งคู่แล้วก็ยิ่งทำให้ทึ่ง เพราะแต่ละคนสร้างสรรค์ศิลปะคนละแขนงที่มีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์เป็นตัวของตัวเองมาก แต่ผลงานของคนสองคนก็เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน นี่คือการงานและความรักในอุดมคติที่เราไม่อยากจะเชื่อเลยว่ามันเคยมีจริงในโลกนี้