คอลัมน์ "a pen" นิตยสาร a day,Jan-2551

คอลัมน์ "a pen" interview 89
นิตยสาร a day,ฉบับมกราคม 2551
ปากกาของ ‘ปราย พันแสง

-แนะนำตัวเองด้วยครับ
ปากกาหมึกเจลสีดำ ยี่ห้อ Lotus Mabio ขนาด 0.5

-คุณมาอยู่กับ ‘ปราย พันแสงได้ยังไงครับ
คุณ’ปราย พันแสง ซื้อมาจากร้านเครื่องเขียนในห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์เมื่อเดือน พฤศจิกายน 2550 ที่ผ่านมา พร้อมๆ กับปากกาประเภทเดียวกัน (หมึกเจล) สีน้ำเงิน สีฟ้า และสีแดง อีกหลายด้าม



-เรามักติดภาพผู้หญิ้งผู้หญิงของ ‘ปราย พันแสง จากหนังสือรักโรแมนติกจำนวนมากของเธอ ในความเห็นของคุณจริงๆ แล้วเธอเป็นคนยังไงกันแน่
เป็นคนสบายๆ คงไม่แตกต่างจากคนทั่วไป อยู่ง่าย กินง่าย ตั้งใจทำงาน รักศักดิ์ศรี เขียนหนังสือได้ คงไม่แตกต่างจากคนทั่วไปนัก

-‘ปรายบอกว่าปัจจุบันเธอมีฟรีฟอร์มเป็นลมหายใจ เป็นความสุขที่จับต้องได้ของเธอ คุณช่วยบอกหน่อยได้ไหมว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น
คงต้องเกริ่นถึงที่มาก่อนว่า นิตยสารฟรีฟอร์ม เป็นนิตยสารที่เกิดจากความคิดของคนหนุ่มสาวสี่ห้าคน ที่คลุกคลีทำหนังสืออยู่ในบริษัทสิ่งพิมพ์หลายแห่งของเมืองไทยเรามานานหลายปี ซึ่งแต่ละคนก็รู้เช่นเห็นชาติเบื้องหน้าเบื้องหลังการทำหนังสือมาแล้วหมดไส้หมดพุง วันหนึ่งคนกลุ่มนี้ก็เบื่องานประจำที่ตัวเองทำอยู่ขึ้นมาอย่างแรง และตั้งใจจะลาออกจากสำนักงานที่ทำอยู่ตอนนั้น

ความที่เป็นเพื่อนพ้องน้องพี่ที่รู้จักมักคุ้นกันดี ก็เลยมีโอกาสได้มาคุยกันถึงความคิดความฝันในการทำหนังสือของแต่ละคน ซึ่งทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า เบื่อ “ระบบ” ของหนังสือที่เป็นอยู่ในบ้านเราตอนนี้เต็มที เบื่อที่ทุกอย่างในหนังสือต้องขึ้นอยู่กับ “โฆษณา” ขนาดนั้น ทั้งๆ ที่โฆษณาบางอย่าง มันไม่ควรจะนำมาโฆษณาด้วยซ้ำ เพราะมันไม่ส่งเสริมหรือจรรโลงอะไรในสังคมเลย พวกเขาก็เลยมาหารือกันว่า ถ้าอยากทำหนังสือที่พวกเขาอยากอ่านอยากเห็นขึ้นมาสักเล่ม โดยที่ “โฆษณา” ไม่ใช่เรื่องแรกที่คิดถึง มันจะเป็นไปได้มั้ย พวกเขาก็เลยมานั่งสุมหัวกันถึงความเป็นไปได้ ดูตัวเลขในการลงทุน ดูอะไรต่างๆ จนได้ข้อสรุปว่า มันเป็นไปได้นะ ถ้ามีการวางแผนและลงมือทำงานอย่างฉลาด รัดกุม และประหยัด

จากกำลังทรัพย์ และความรู้ความสามารถที่มีอยู่ พวกเขาได้ข้อสรุปว่า น่าจะทดลองทำนิตยสารเล่มนี้ได้สักครึ่งปีหรือหนึ่งปี โดยที่ไม่ลำบากมาก หรือว่าถ้ามันไม่ประสบความสำเร็จจริงๆ พวกเขาก็ไม่น่าจะเสียหายหรือเจ็บตัวมาก เพราะวางแผนการทำงานกันอย่างรัดกุมมาก ที่สำคัญคือ แต่ละคนก็อายุยังไม่มาก อยู่ในวัยเลขสอง เลขสาม ถ้ามันเจ๊ง ต้องเป็นหนี้ขึ้นมา พวกเขาก็ยังมีเวลาและมีเรี่ยวแรงพอที่จะเริ่มต้นใหม่หรือพอจะมีปัญญาใช้หนี้ได้ ก็เลยเกิดเป็นหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา ด้วยเงินทุนหนึ่งล้านบาท ที่รวบรวมมาจากทีมงาน และเพื่อนพ้องน้องพี่คนใกล้ชิด

นิตยสารฟรีฟอร์มฉบับปฐมฤกษ์ ออกวางจำหน่ายครั้งแรกได้ในงานสัปดาห์หนังสือเมื่อปี 2549 ที่ผ่านมา มาถึงตอนนี้ นิตยสารฟรีฟอร์มออกวางจำหน่ายมาถึง 13 ฉบับแล้ว โดยฉบับที่ 13 เป็นฉบับพิเศษ เนื้อหารูปเล่มหนากว่าฉบับปกติประมาณสามเท่า จัดทำเพื่อเป็นเฉลิมฉลองการก้าวเข้าสู่ขวบปีที่ 2 ซึ่งจะมีการปรับเปลี่ยนขนานใหญ่กันอีกครั้ง

นอกจากนิตยสารฟรีฟอร์มจะมีอายุยืนยาวเกินหนึ่งปีแล้ว พวกเขายังก่อตั้งสำนักพิมพ์ฟรีฟอร์ม เพื่อผลิตพ็อคเก็ตบุ๊คโดยเฉพาะ ซึ่งปัจจุบันนี้ ก็มีผลงานออกวางจำหน่ายแล้วหลายเล่ม เช่นหนังสือ “ไตรภาคนิโกโปล” นิยายกราฟิคเลื่องชื่อของ เอ็นกิ บิลัล ที่แปลมาจากภาษาฝรั่งเศส,พ็อคเก็ตบุ๊ค “ศาสดาเบสต์เซลเลอร์ ฮารูกิ มูราคามิ” ที่เพิ่งออกวางจำหน่ายล่าสุดนี้ ก็ได้รับการต้อนรับจากนักอ่านเป็นอย่างดี พวกเขาจึงมีนโยบายที่จะผลิตทั้งนิตยสารและพ็อคเก็ตบุ๊คไปพร้อมกันอย่างต่อเนื่อง

ด้วยผลงานเหล่านี้ น่าจะเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นถึงความคิดและแนวทางการทำงานของพวกเขาในระดับหนึ่ง แต่อะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า “สิ่งที่พวกเขาเชื่อ” มันเป็นไปได้จริง คุณ’ปรายและทีมงานจึงมีความสุขกับฟรีฟอร์มในวันนี้เป็นอย่างมาก

-ดูจากผลงานที่ออกมาอย่างต่อเนื่องแล้วท่าทาง ‘ปราย พันแสง จะสนุกสนานกับการทำงานมาก คุณอยู่กับ ‘ปรายแล้วเหนื่อยไหม เธอทำงานเยอะขนาดไหน
ปากกาคงไม่เหนื่อยเท่าไหร่ เพราะทุกวันนี้คุณ’ปราย เธอไม่ค่อยใช้ปากกาทำงานแล้ว เธอนิยมจิ้มตัวหนังสือบนคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์มากกว่า เธอทำงานเยอะมาก แล้วก็นอนเยอะมาก

-ปัจจุบัน ‘ปรายทั้งเขียน ทั้งแปล ทั้งเป็นบรรณาธิการ ในฐานะที่ทำงานร่วมกันกับ ‘ปราย คุณว่าเธอชอบงานอะไรมากที่สุด
เธอชอบทุกอย่าง แต่ถ้าจะหาความเป็นที่สุด “ชอบที่สุด” ก็คงจะเป็น “ชอบอ่าน”

-ทำงานด้านเขียนมาจนครบทุกอย่างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเขียนคอลัมน์ บทกวี บทละคร พ็อคเก็ตบุ๊คอีกหลายเล่ม นิตยสารอีกเล่มหนึ่ง มีอะไรที่ ’ปรายอยากทำมากๆ หลงเหลืออยู่บ้างไหม
ตอนนี้คุณ’ปราย กำลังปรับปรุงชั้นล่างของออฟฟิศฟรีฟอร์ม ซึ่งเดิมทีเป็นร้านสรรพรส (อยู่ในซอยสุขุมวิท 23) ให้เป็นร้านหนังสือมากขึ้น (จากเดิมทีเป็นร้านอาหาร ที่มีหนังสือเยอะๆ ให้เลือกอ่าน) ร้านสรรพรสเปิดมาหลายปีแล้ว มาถึงปีนี้ คุณ’ปรายเธออยากทำร้านหนังสือที่ขายหนังสือเฉพาะหนังสือของเธอเอง และหนังสือที่เธอชอบเท่านั้น ตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนปรับปรุงตกแต่งอยู่ ร้านสรรพรสเปิดมาสี่ห้าปีแล้ว ไม่ได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมานานแล้ว จึงน่าจะได้ฤกษ์ปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่เสียที เธอจึงต้องใช้เวลาปรับเปลี่ยนสักตั้งใหญ่ ส่วนร้านโฉมใหม่ น่าจะเปิดได้อย่างเป็นทางการไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ที่จะถึงนี้

-มาจนถึงทุกวันนี้ความรู้สึกในการเขียนหนังสือของ ‘ปราย พันแสง ยังเหมือนเมื่อครั้งที่เขียนกลอนเปล่า เรื่องสั้นส่งไปตามนิตยสารวัยรุ่นในสมัยเรียนมัธยม หรือกระทั่งสมัยที่ได้เข้าเป็นคนทำหนังสืออาชีพที่นิตยสารไปยาลใหญ่ตอนอยู่มหาวิทยาลัย ปีสองหรือไม่
คงจะเปลี่ยนไปบ้าง เมื่อก่อนเวลาเขียนอะไรสักอย่าง คุณ’ปรายจะคิดถึงแนวทางของหนังสือ หรือตัวบรรณาธิการที่คัดเลือกเรื่องของเธอมากๆ ว่าเขาเป็นคนอย่างไร ชอบลงเรื่องสไตล์ไหน แล้วเธอก็จะเขียนในแนวทางนั้น เพื่อไม่ให้งานของเธอโดนเขาจับทิ้งลงตะกร้า ซึ่งบางทีการเขียนเพื่อชนะใจคนคัดเรื่องอย่างนั้น เธอจะอึดอัด เนื่องจากไม่ค่อยได้เขียนเรื่องตามใจตัวเองเท่าไหร่

แต่ทุกวันนี้ เธอมีอิสระเสรีเต็มที่ในการเขียนหนังสือ เธอสามารถเขียนอะไรก็ได้ บ่อยครั้งเธอมีโอกาสดีขนาดว่า บรรณาธิการหนังสือโทรศัพท์มาขอต้นฉบับ แล้วบอกมาด้วยเลยว่า “คุณ’ปรายเขียนเรื่องอะไรก็ได้ เอาหมด” ซึ่งแบบนั้นคุณ’ปรายเธอจะชอบมาก เพราะเธอสามารถเลือกเขียนเฉพาะเรื่องที่เธออยากเขียนเท่านั้น พูดได้เลยว่าผลงานทุกอย่างที่ปรากฏอยู่ทั่วไปในทุกวันนี้ คือชีวิตจิตใจ คือรสนิยมที่แท้จริง และเป็นเนื้อแท้ตัวตนของเธอล้วนๆ

หนังสือแห่งความรัก'ปราย พันแสง,นิตยสาร OOM ,2550


หนังสือแห่งความรัก
’ปราย พันแสง
จากนิตยสาร OOM,กุมภาพันธ์,2550
............


ลิลิตพระลอ
หลายปีมานี้ ด้วยหน้าที่การงาน ทำให้โลกการอ่านส่วนตัวเปลี่ยนไปมาก ถ้านับจำนวนเล่ม อาจจะอ่านน้อยกว่าเมื่อก่อน แต่เล่มที่เลือกอ่าน ก็มีความหลากหลายขึ้น แม้แต่หนังสือที่ไม่เคยแตะมาก่อนเลย อย่างพวกวรรณคดีไทยเล่มหนาๆ ที่เคยเบื่อๆ สมัยเป็นเด็กนักเรียน ก็ยังหยิบขึ้นมาอ่านได้ลงคอ อาจเป็นเพราะคนเราพอโตขึ้น คงจะอยากอ่านอะไรที่มันลงลึกมากขึ้น ลิลิตพระลอ เป็นเล่มหนึ่งที่ได้อ่าน อ่านจบแล้วต้องบอกว่า น่าจะอ่านตั้งนานแล้ว เพราะมันสนุกมาก เซ็กซี่มาก แค่ฉากนางรื่นนางโรยกับนายแก้วนายขวัญซึ่งเป็นตัวประกอบของเรื่องเล่นไล่จับกันในสระบัวจนฝูงปลาแตกกระเจิงก็เขียนเล่าบรรยายได้อีโรติกมาก ส่วนฉากอีโรติกจริงๆ ของพระลอกับพระเพื่อนพระแพงก็คงไม่ต้องบรรยายว่าหมดจดแค่ไหน ตอนนี้จึงไม่แปลกใจแล้วว่าทำไมนักเขียนผู้ใหญ่หลายคนในบ้านเราจึงชอบยกตอนนั้นตอนนี้ของหนังสือมาพูดถึงบ่อยๆ
..........
The Blue Stone
โลกเหงาของหินสีฟ้า

เป็นหนังสือเล่มล่าสุดของ จิมมี่ เลี่ยว ที่คุณชุตินันท์ เอกอุกฤษฏ์กุล แปลมาเป็นภาษาไทย ในเล่มเป็นเรื่องราวของหินสีฟ้าก้อนหนึ่ง ที่แตกออกเป็นสองซีก ซีกหนึ่งถูกทิ้งไว้ในป่าลึก อีกซีกหนึ่งถูกพาเข้ามาอยู่ในเมืองใหญ่ แล้วก็ถูกแปรรูป ถูกทำให้แตกออกเป็นเสี่ยงๆ เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ทำให้มันเหงาแล้วก็คิดถึงอีกครึ่งที่เหลืออยู่ตลอดเวลา หนังสือเล่มนี้ก็คือ The Missing Piece ของ เชล ซิลเวอร์สไตน์ที่เอามาเขียนใหม่แบบคนตะวันออกดีๆ นี่เอง อาจจะเป็นเพราะจิตวิญญาณแบบเอเชีย ที่เรียกร้องสิ่งต่างๆ จากชีวิตน้อยกว่าคนตะวันตกกระมัง อ่านแล้วจึงรู้สึกว่ามันเป็นความไม่สมบูรณ์แบบที่เจียมเนื้อเจียมตัวดี ถ้าแอบรักใครชอบใคร หนังสือเล่มนี้เหมาะมากที่จะเป็นหนังสือบอกความในใจว่าเรารัก โดยมีหมายเหตุที่มองไม่เห็นว่า รักและคิดถึงนะ แต่ไม่ได้เรียกร้องต้องการอะไรจากเธอเลยนะ น่ารักไหม
.............
Georgia O'Keeffe
And Alfred Stieglitz
ชอบภาพเขียนดอกไม้ของจอร์เจีย โอคีฟ มานานแล้ว ยิ่งมีโอกาสได้อ่านเรื่องราวความเป็นมา วิธีคิด วิธีทำงานของเธอก็ยิ่งชอบ หลายปีที่แล้วเคยแปลบทสัมภาษณ์ของเธอเกี่ยวกับดอกไม้เอาไว้ในหนังสือ “สวยสดและงดงาม”เอาไว้ด้วย มีอยู่ครั้งหนึ่ง มีโอกาสไปเที่ยวหอศิลป์ปอมปิดู ที่ปารีส พอดีที่นั่นจัดแสดงภาพเขียนของเธอเอาไว้ด้วย ก็เลยประทับใจ ซื้อหนังสือ One Hundred Flowers ของเธอที่มีขายในมิวเซียมกลับมาเป็นที่ระลึกด้วย ภาพวาดของเธอตลอดชีวิตหนึ่งในสี่เป็นภาพดอกไม้ และหนังสือเล่มนี้ก็รวบรวมภาพดอกไม้ที่เป็นงานมาสเตอร์พีซของเธอไว้ทั้งหมด และที่ตลกมากคืออีกสองสามวันถัดมา ระหว่างที่อยู่ในปารีสก็มีโอกาสแวะไปที่พิพิธภัณฑ์ Orsay ปรากฏว่าที่นั่นกำลังจัดแสดงงานนิทรรศการภาพถ่ายของจอร์เจีย โอคีฟ ซึ่งถ่ายโดย อัลเฟรด สเตกริตซ์ สามีของเธอ ก็เลยต้องซื้อหนังสือของ อัลเฟรด สเตกริตซ์ มาด้วยอีกหลายเล่ม ทั้งสองเป็นศิลปินทีเก่งมาก ยิ่งอ่านเรื่องราวของทั้งคู่แล้วก็ยิ่งทำให้ทึ่ง เพราะแต่ละคนสร้างสรรค์ศิลปะคนละแขนงที่มีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์เป็นตัวของตัวเองมาก แต่ผลงานของคนสองคนก็เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน นี่คือการงานและความรักในอุดมคติที่เราไม่อยากจะเชื่อเลยว่ามันเคยมีจริงในโลกนี้

ห้องสมุดเนียลสัน เฮส์,นิตยสารสุดสัปดาห์ 2550




ห้องสมุดเนียลสัน เฮส์
ทัชมาฮาลเล็กๆ สำหรับคนรักหนังสือ
ที่ชอบในกรุงเทพฯ ของ’ปราย พันแสง
จากนิตยสารสุดสัปดาห์,2550
..........
ห้องสมุดเนียลสัน เฮส์ น่าจะเป็นห้องสมุดที่สวยที่สุดในกรุงเทพฯ หรืออาจจะสวยที่สุดในประเทศไทย นอกจากสวยงามด้วยสถาปัตยกรรมการสร้างอาคารเป็นแบบเดียวกับพระที่นั่งอนันตสมาคม ออกแบบโดยมาริโอ ตามานโย(Mario Tamango) สถาปนิกชาวอิตาเลียนที่เข้ามารับราชการในบ้านเราสมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว จุดเริ่มและแรงบันดาลใจในการก่อสร้างอาคารนี้ก็สวยงามมากเช่นกัน เพราะอาคารสร้างขึ้นจากความรักที่คุณหมอเฮส์ มีต่อคุณเจนนี่ ภรรยาของท่าน สถานที่แห่งนี้ถือว่าทัชมาฮาลสำหรับคนรักหนังสือในเมืองไทยนั่นเอง

ที่น่าประทับใจอีกอย่างคือ ข้างในห้องสมุดยังมีห้องแสดงงานศิลปะ “โรทันดา แกลเลอรี่” มีผลงานที่ได้รับการคัดสรรอย่างดีมาจัดแสดงอยู่ตลอดปี บางครั้งก็มีศิลปินหรือนักเขียนมานั่งพูดคุยอย่างเป็นกันเองด้วย ความประทับใจส่วนตัวเกี่ยวกับห้องสมุดนี้ เคยนำมาเขียนเป็นฉากในเรื่องสั้นเรื่องหนึ่ง ชื่อเรื่อง “ประกายตาหางนกยูง” เพิ่งรวมอยู่ในพ็อคเก็ตบุ๊คเล่มใหม่ล่าสุดของพี่ เรื่องสั้นเรื่องนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ต่างรักต่างรุ่นของผู้ชายผู้หญิงสองสามคู่ที่ลุ่มหลงอยู่ในโลกแห่งการอ่านอย่างมีความสุข เขียนขึ้นมาเพราะอยากให้คนอ่านได้รับรู้ว่า โลกการอ่านนั้นมันสวยงาม และน่ารักมาก


...........
ห้องสมุดเนียลสัน เฮส์
Neilson Hays Library
ที่อยู่ 195 ถ.สุรวงศ์ แขวงสุรวงศ์ บางรัก กรุงเทพฯ โทร 0-2233-1731
ตั้งอยู่ในพื้นที่ 1 ไร่เศษ ริมถนนสุรวงศ์ เขตบางรัก กทม.เป็นห้องสมุดที่มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจไม่น้อย ก่อตั้งในสมัยหมอบรัดเลย์ หมอสมิธ ราวปี พ.ศ.2411 โดยภรรยาของหมอทั้งสอง ทำเป็นบาร์ซ่าร์เพื่อหาเงินมาซื้อหนังสือเพิ่มเติมแล้วแลกกันอ่าน และตั้งเป็น "The Bangkok Ladies Library Association" โดยไม่หวังผลกำไรจากนั้นห้องสมุดก็ร่อนเร่ไปอาศัยสถานที่ต่างๆอยู่ระยะหนึ่งต่อมามีแหม่มชาวเดนมาร์ก ชื่อ Jennie Neilson Hays มาเป็นกรรมการอยู่ 25 ปี จนเสียชีวิต

พ.ศ.2464 สามีของเธอ คือ หมอ T.Heyward Hays จึงได้สร้างตึกหลังนี้ขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ภรรยา ตึกห้องสมุดเนลสัน เฮย์ หลังนี้ เป็นตึกชั้นเดียวมีรูปทรงสถาปัตยกรรมแบบยุโรบโบราณ ประกอบด้วยหลังคาโค้งทรงกลม(Dome) หัวเสาทุกต้นสลักลวดลายสวยงาม ใต้ตัวตึกเป็นบ่อน้ำ เพื่อให้ความเย็นภายในอาคาร ปัจจุบันห้องสมุดมีหนังสือให้บริการมากกว่า 2 หมื่นเล่ม เป็นหนังสือภาษาอังกฤษทั้งหมดทั้งเก่าและใหม่ ให้บริการสำหรับสมาชิกไม่จำกัดชาติ ภาษา อายุ [ภาพถ่ายและข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ www.thaitambon.com]

ร้านล้วนอร่อย,นิตยสาร Life and Home 2550


อร่อยล้วนๆ ที่ ล้วนอร่อย
ร้านนี้มีเรื่องเล่า
...กาลครั้งหนึ่ง
ยังมีแก๊งนักชิมโคตรซ่า
กับก๊วนแม่ครัวใจกล้าหน้านิ่ง
ต่างมารวมตัว-รวมใจเพื่อทะเลาะกันอยู่ได้เป็นปีๆ
เรื่องจับนั่นผสมนี่
ให้เกิดอาหารหน้าตาดี
ที่ประชาชีทั่วหล้าสามารถทานกันได้ ทานกันดี
หรือมาทานกันที ลุยรวดเดียวเกลี้ยงจาน
วันคืนผ่านไป
แม้พวกเขาเหล่านี้ยังต้องทะเลาะกันอยู่ไม่หาย
เพื่อก่อเกิดผลงานอันแสนจะภาคภูมิใจ
คืออาหารจานเด็ด
ให้เป็นเกียรติเป็นศรีของประเทศนี้
ความอร่อยที่บ่มเพาะจากประสบการณ์นานปี
ขนาดแดจังกึมยังอาจต้องเรียกพี่
ซังกุงเองก็ชิดซ้าย
นี่คือตำนาน "ล้วนอร่อย"
ร้านเล็กๆ ที่ขายอาหารจานใหญ่
คนทำตั้งใจจะไม่ขายอะไร
นอกจากของกินได้ที"อร่อย" ติดปากติดใจ "ล้วนๆ"
................................................
โดย :'ปราย พันแสง
ถ้าลองถามคุณเล่นๆ ว่า เมื่ออ่านตำนานเล่าขานความเป็นมาของร้านล้วนอร่อยบทนี้จบแล้ว คุณรู้สึกอย่างไร...เชื่อว่าหลายคนคงมีคำถามมากมายเกิดขึ้นในใจ และคำตอบที่จะไขข้อข้องใจต่างๆ ได้ดีที่สุด เห็นทีจะหนีไม่พ้นการมาลิ้มรสความอร่อยล้วนๆ ที่ล้วนอร่อยแห่งนี้ด้วยตัวคุณเอง
........
ล้วนอร่อย เป็นร้านอาหารที่ตกแต่งแบบโมเดิร์นสไตล์ที่โดดเด่นกว่าร้านไหนๆ บนถนนเส้นเลียบทางด่วนรามอินทราขาเข้าสู่เอกมัย ซึ่งเดิมทีสถานที่แห่งนี้เคยเปิดเป็นผับมาก่อน แต่ได้ไอเดียครีเอตของเจ้าของร้าน Renovate ใหม่จนแทบจะไม่เหลือเค้าโครงเดิมอยู่เลย ด้วยลักษณะโครงสร้างร้านทรงสูง มีการนำกระจกมาใช้เป็นวัสดุหลักของงานดีไซน์ ทำให้บรรยากาศของร้านโล่ง โปร่ง สบายตา
..........
นอกจากนี้ยังเพิ่มความน่าสนใจให้งานดีไซน์ด้วยการเพนต์ผนังรูปผักผลไม้เพื่อสุขภาพสีสันสดใส ซึ่งลงตัวกับสีส้มสดตัดกับสีขาวสะอาดตาที่ใช้ตกแต่งผนังด้านในร้าน
.............
นอกจากบรรยากาศของร้านที่เก๋สะดุดตาแล้ว ตำรับกับข้าวของที่นี่รับรองว่ามีรสมือที่แสนกลมกล่อมเพราะได้แม่ครัวที่มากด้วยประสบการณ์ บวกกับความเป็นมืออาชีพทางด้านการตระเวนชิมอาหารของเจ้าของร้านมาร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ ซึ่งให้ความสำคัญกับคุณภาพและรสชาติอาหารเป็นพิเศษ ทั้งยังมีรายการอาหารที่ครีเอตสุดๆ หลายรายการให้ได้เลือกชิมหมุนเวียนกันได้ไม่รู้เบื่อ
..............
สำหรับใครที่นำนิตยสาร Life and Home ฉบับนี้ติดมือไปทานอาหารที่ร้าน เจ้าของร้านเขากระซิบมาว่า ยินดีลดให้ 10 เปอร์เซ็นต์กันเลยทีเดียวสำหรับค่าอาหาร แก๊งนักชิมตัวยงทั้งหลายร้านนี้ไม่ควรพลาด

การประชุมวิชาการเรื่องเพศศึกษาเพื่อเยาวชน 2549

การประชุมวิชาการเรื่องเพศศึกษาเพื่อเยาวชน
วันที่ ๒๕-๒๗ ตุลาคม ๒๕๔๙
ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กทม.
วันพุธที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๙
๐๘.๐๐-๑๒.๐๐ ลงทะเบียน ชมนิทรรศการ และร่วมกิจกรรมเครือข่าย (หน้าห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น ๔)
๑๒.๐๐-๑๓.๐๐ อาหารกลางวัน
๑๓.๐๐-๑๓.๑๕ ชี้แจงกำหนดการประชุม โดย องค์การแพธ และ องค์กรภาคี (Node)
.....
๑๓.๑๕-๑๔๐๐ พิธีเปิด
- ชมวิดิทัศน์และการแสดง
- กล่าวรายงาน โดย คุณภาวนา เหวียนระวี ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ องค์การแพธ
- กล่าวเปิดการประชุม และมอบประกาศนียบัตร
โดย ดร. จรวยพร ธรณินทร์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
..............
๑๔๐๐-๑๕๐๐ ปาฐกถานำ “การศึกษา การพัฒนาเยาวชน และคุณธรรมเรื่องเพศ”
............
๑๕.๓๐-๑๗.๓๐
ห้องย่อย: เสริมแนวคิด ร่วมเรียนรู้มุมมองที่แตกต่าง (Grand Ballroom ชั้น ๔)
ห้อง Grand A:

เรื่องรัก เรื่องใคร่ เรื่องที่ต้องเรียนรู้
(Love, Lust & Learning)
วิทยากร
พญ. พรรณพิมล หล่อตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล
จอน อึ๊งภากรณ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพฯ
ปราย พันแสง นักเขียน
ผู้ดำเนินรายการ ดร. ชะนวนทอง ธนสุกาญจน์ มหาวิทยาลัยมหิดล


.............
ห้อง Grand B: ปล่อยให้ เลียน ลอง ลอก อย่างไรถ้าอยากได้ “เด็กดี”
วิทยากร: ดร. อุทัย ดุลยเกษม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
มนตรี สินทวิชัย อดีตสมาชิกวุฒิสภกรุงเทพฯ
กชวรรณ ชัยบุตร อดีตเลขาธิการ สโมสรนิสิตนักศึกษาฯ( สนนท.)
ผู้ดำเนินรายการ สมวงษ์ อุไรวัฒนา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์


ห้อง Grand C: หุ้นส่วนการเรียนรู้ ผู้ใหญ่กับเยาวชน
วิทยากร: Dr. Katherine C. Bond Rockefeller Foundation
แบ๊งค์ งามอรุณโชติ นิสิตปีที่ ๓ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้ดำเนินรายการ ผศ. จินตนา เวชมี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา

๑๘.๐๐-๒๐.๓๐ ปาร์ตี้ก้าวย่างอย่างเข้าใจ (Grand Ballroom)
พบ กรรมการที่ปรึกษาโครงการฯ และผู้สนับสนุนงาน และร่วมกิจกรรมผูกสัมพันธ์ระหว่างเครือข่าย

๒๑.๐๐-๐๑.๐๐ ตระเวนเรียนรู้ชีวิตคนกลางคืน (Night Tour) กับทีม SWING

วันพฤหัสบดีที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๔๙

๐๖.๐๐-๐๗.๓๐ โยคะเพื่อความสมดุลย์ (ดาดฟ้า ชั้น ๕) โดยคุณนีลชา เฟื่องฟูเกียรติ สถาบันโยคะวิชาการมูลนิธิหมอชาวบ้าน

๐๘.๐๐-๐๘.๓๐ สาธิต และเรียนรู้จากคู่มือ “เล่นสนุก มุขก้าวย่าง” (Grand Ballroom)

๐๘.๓๐-๐๘.๔๕ สรุปภาพรวมงานวันแรก โดย ทีมเยาวชน (Grand Ballroom)

๐๘.๔๕-๐๙.๓๐ บทเรียนครึ่งทาง “ก้าวย่างอย่างเข้าใจ” ช่วงที่ ๑ (Grand Ballroom)
โดย องค์กรภาคีก้าวย่างฯ ภาคใต้: คณะพยาบาลศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์
องค์กรภาคีก้าวย่างฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: ศูนย์ฝึกอบรม รพ.พระศรีมหาโพธิ์
ดำเนินรายการ ภาวนา เหวียนระวี องค์การแพธ

๐๙.๓๐-๑๐.๓๐ พื้นที่ทางสังคมกับเพศวิถี: ความสัมพันธ์ที่ไม่หยุดนิ่ง (Grand Ballroom)
วิทยากร: ดร. ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อ. ขวัญสรวง อติโพธิ ผู้อำนวยการสถาบัน “สร้างบ้าน แปงเมือง”
ดำเนินรายการ อ. รุจน์ โกมลบุตร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

๑๐.๔๕-๑๒.๑๕ ห้องย่อย (Grand A-B-C ๓ ห้อง)

ห้อง Grand A:
เซ็กส์ของเยาวชน ปมของผู้ใหญ่
ห้อง Grand B:
หญิงชายแตกต่างกัน (จริงไหม)
ในเรื่องเพศ
ห้อง Grand C:
ประสบการณ์ การจัด “เพศศึกษา” สู่หลักสูตรในสถานศึกษา
- โตมร ศุขปรีชา
บรรณาธิการนิตยสาร GM
- สุชาดา จักรพิสุทธิ์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
- กิตติพันธ์ กันจินะ Youthnet
ดำเนินรายการ
- คำ ผกา
นักเขียน
- ดร. แอนโทนี ประมวญรัตน์
สมาคมแนวร่วมธุรกิจไทยต้านภัยเอดส์
- อ. กมลทิพย์ ยุทธิวัฒน์ วิทยาลัยเทคนิคนครศรีธรรมราช
ดำเนินรายการ
- อ. ก่อศักดิ์ ศรีน้อย
โรงเรียนสทิงพระวิทยา สงขลา
- อ. ละมัย จั่นประดับ
โรงเรียนลาดปลาเค้าพิทยาคม กรุงเทพฯ
- อ. สว่าง รวมจินดา
โรงเรียนบางแก้วพิทยาคม พัทลุง
- ดร. ชะนวนทอง ธนสุกาญจน์ ม. มหิดล
ดำเนินรายการ

๑๒.๑๕-๑๓.๑๕ อาหารกลางวัน และกิจกรรมสานเครือข่าย (ลานหน้า Grand Ballroom)

วันพฤหัสบดีที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๔๙

๑๓.๑๕-๑๕.๑๕ ห้องย่อย (๕ ห้อง) : เสริมทักษะ ความรู้ และแบ่งปันประสบการณ์
ห้อง Grand A: ท้อง แท้ง ความรุนแรงทางเพศ
วิทยากร ดร. วาสนา อิ่มเอม กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA)
ณัฐยา บุญภักดี มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง
ดำเนินรายการ ชาติวุฒิ วังวล ศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข
ห้อง Grand B: (ห้องเยาวชน) เสริมทักษะการให้ข้อมูลเอดส์/เพศ
โดย ทีมแพธ
ห้อง Grand C: เรื่องเล่าจากห้องเรียนเพศศึกษา “รู้ได้อย่างไรว่าเด็กคิด วิเคราะห์ได้”
นำเสนอโดย: อ. กมลทิพย์ ยุทธิวัฒน์ วิทยาลัยเทคนิคนครศรีธรรมราช
อ. รอมียะห์ นิมุ โรงเรียนบ้านสาคอ จังหวัด ยะลา
อ. กานติมา ศรีทิพย์ โรงเรียนกรับใหญ่ว่องกุศลกิจ พิทยาคม จังหวัดราชบุรี
ดำเนินรายการ อ. นิรมิต ชาวระนอง มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
ห้อง Gemini ชั้น ๓: กระบวนการเรียนรู้ “ทักษะชีวิต: พบต้นฉบับ Life Skills”
วิทยากร อนุชน หวลทรง และ นนทธร ไชยเพ็ชร ทีมงาน UNICEF
ห้อง Board Room: (ห้องเยาวชน) ต้องบอกอย่างไร ผู้ใหญ่จึงจะเชื่อมั่นในเยาวชน
วิทยากร ทีมงานไม้ขีดไฟและเพื่อนใจวัยทีน

๑๕.๓๐-๑๗.๐๐ ห้องย่อย (๕ ห้อง): เสริมทักษะ ความรู้ และแบ่งปันประสบการณ์
ห้อง Grand A: แลกเปลี่ยนบทเรียน ค้นหา Best Practice
“การผลักดันให้เกิดการดำเนินงานเพศศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพในโรงเรียน”
นำเสนอบทเรียน อ. ปนัดดา ขุนทอง โรงเรียนกำแพงแสนวิทยา จังหวัดนครปฐม
อ. เพยาว์ วงศาโรจน์ โรงเรียนหนองรีประชานิมิต จังหวัดกาญจนบุรี
ทีมชวนแลกเปลี่ยน: รศ. ดร. เพชรน้อย สิงห์ช่างชัย, คุณอรอินทร์ ขำคม, คุณสมวงศ์ อุไรวัฒนา
ห้อง Grand B: (ห้องเยาวชน) เสริมทักษะการให้ข้อมูลเอดส์/เพศ (ต่อเนื่อง)
โดย ทีมแพธ
ห้อง Grand C: แลกเปลี่ยนบทเรียน ค้นหา Best Practice: “เทคนิคการสร้างการมีส่วนร่วมในห้องเรียน”
นำเสนอบทเรียน อ. กาญจนา หลวงจอก โรงเรียนบางแพปฐมพิทยา จังหวัดราชบุรี
อ. ศุภลักษณ์ อุตรา โรงเรียนสหธาตุศึกษา จังหวัดอุบลราชธานี
อ. พันธ์เพ็ญ โพธิ์ใบ วิทยาลัยการอาชีพพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช
อ. อชิรวิชญ์ เทนโสภา โรงเรียนช่องเม็กวิทยา จังหวัดอุบลราชธานี
ทีมชวนแลกเปลี่ยน อ. สุจิตรา โปร่งแสง สมอ./สอศ. และ
อ. สุวิมล จันทร์เปรมปรุง โรงเรียนนวมินทราชินูทิศสตรีวิทยา พุทธมณฑล
ห้อง Gemini ชั้น ๓: การ Coaching
วิทยากร สุจิตรา ชนกประสิทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้าน Human Resource
ดำเนินรายการ หทัยรัตน์ สุดา องค์การแพธ

ห้อง Board Room: (ห้องเยาวชน) ต้องบอกอย่างไร ผู้ใหญ่จึงจะเชื่อมั่นในเยาวชน (ต่อเนื่อง)
วิทยากร ทีมงานไม้ขีดไฟและเพื่อนใจวัยทีน


วันพฤหัสบดีที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๔๙

๑๘.๐๐-๑๙.๐๐ อาหารเย็น แบบบุฟเฟต์ (ห้อง Jupiter และ ห้อง Venus ชั้น ๓)

๑๙.๐๐-๒๐.๓๐ ห้องย่อย: เสริมการเรียนรู้เรื่องเพศ แบบรื่นรมย์
ห้อง Gemini ชั้น ๓: Safer Sex Workshop
โดย ทีมวิทยากรจาก SWING

ห้อง Mars ชั้น ๓: ประชุมหารือเฉพาะผู้เกี่ยวข้อง “งานเยาวชนและเครือข่ายเพศศึกษาเพื่อเยาวชนในจังหวัดนำร่อง”
โดย ทีมองค์การแพธ

ห้อง Venus ชั้น ๓: เปิดอกคุยเรื่องเพศกับผู้ให้บริการทางเพศ
ชวนคุยโดย นิมิตร์ เทียนอุดม มูลนิธิเข้าถึงเอดส์

ห้อง Board Room: คุยเรื่องเพศกับ M Plus “เมื่อลูกศิษย์เป็นเกย์”
ดำเนินรายการโดย ธวัชชัย พาชื่น นักศึกษาปริญญาโท ม. มหิดล


๒๑.๐๐-๐๑.๐๐ ตระเวนเรียนรู้ชีวิตคนกลางคืน (Night Tour) กับทีม SWING และ สมาคมฟ้าสีรุ้ง
วันศุกร์ที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๔๙

๐๗.๐๐-๐๘๐๐ โยคะเพื่อความสมดุลย์ (ดาดฟ้า ชั้น ๕)
โดยคุณนีลชา เฟื่องฟูเกียรติ สถาบันโยคะวิชาการมูลนิธิหมอชาวบ้าน
๐๘.๐๐-๐๘.๓๐ สาธิต และเรียนรู้จากคู่มือ “เล่นสนุก มุขก้าวย่าง” (Grand Ballroom)

๐๘.๓๐-๐๘.๔๕ สรุปภาพรวมงานวันที่สอง โดย ทีมเยาวชน (Grand Ballroom)
๐๘.๔๕-๐๙.๓๐ เวทีใหญ่: บทเรียนครึ่งทาง “ก้าวย่างอย่างเข้าใจ” ช่วงที่ ๒ (Grand Ballroom)
· องค์กรภาคีก้าวย่างฯ: เครือข่ายอาชีวศึกษา สำนักมาตรฐานการอาชีวศึกษา
· องค์กรภาคีฯ ภาคตะวันตก: มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กาญจนบุรี
ดำเนินรายการ ภาวนา เหวียนระวี องค์การแพธ

๐๙.๓๐-๑๐.๓๐ ปรากฏการณ์เยาวชน : วิกฤติ โอกาส หรือวิตกจริตของใคร (Grand Ballroom)
วิทยากร: ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการ บ้านกาญจนาภิเษก
ศุ บุญเลี้ยง นักเขียน
ดำเนินรายการ กิตติพันธ์ กันจินะ Youthnet

๑๐.๔๕-๑๒.๑๕ ห้องย่อย (๕ ห้อง)
ห้อง Grand A: แลหนัง เถือเนื้อ : ชวนคุยเรื่องเพศจากหนัง
วิทยากร: ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ บรรณาธิการ Bioscope
ธัญสก พันสิทธิวรกุล ผู้กำกับหนังสั้นอิสระ
ดำเนินรายการ อนุสรณ์ ติปยานนท์ นักเขียน

ห้อง Grand B: เสริมทักษะการพัฒนาแผนการเรียนรู้จากสื่อ (สำหรับครู/คนทำงานเพศศึกษา )
โดย ทีมแพธ

ห้อง Magic ๑: แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเยาวชน
โดย ทีมบางเพลย์

ห้อง Grand C: สารพัดคำถามถึงคนรักเพศเดียวกัน
วิทยากร: นิกร ฉิมคง กลุ่มบางกอกเรนโบว์
ไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์ นักเขียนประชาไท
ดำเนินรายการ อุษา สุขาพันธุ์ โรงพยาบาลหาดใหญ่

ห้อง Board Room : อยากรู้ไหม เยาวชนหาข้อมูลเรื่องเพศในสื่อไอที อย่างไร
วิทยากร: พีรนุช สุวรรณรัตน์ และทีมปลาวาฬ บราวเซอร์
ดำเนินรายการ พุทธพจน์ ตรีเภรี กลุ่มเยาวชนมหาสดัม

๑๒.๑๕-๑๓.๑๕ อาหารกลางวัน – ลานหน้าห้อง Grand Ballroom
๑๓.๓๐-๑๕.๐๐ พิธีปิด
§ สรุปการประชุม โดยตัวแทนโครงการก้าวย่างอย่างเข้าใจ
§ กล่าวปิดการประชุม โดย พญ. เพชรศรี ศิรินิรันดร์ ผู้แทนสำนักงานกองทุนโลก
§ พิธีปิด: รวมพลังเครือข่ายรายจังหวัด

อาร์เอส.ฯ ส่ง WHAT'S LOVE? 2545

อาร์เอส.ฯ ส่ง WHAT'S LOVE? 2545
10 ศิลปิน 10 นักเขียน 10 ผู้กำกับฯ
...................

นับเป็นปรากฏการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ส่งท้ายปี ที่จะสะกดทุกสายตาให้หยุดไว้ที่จุดเดียวกัน กับโปรเจ็คท์พิเศษส่งท้ายปี การรวมตัวแบบเฉพาะกิจของ 30 คนคุณภาพจาก 3 สาขาอาชีพ อันประกอบไปด้วย 10 ศิลปิน, 10 นักเขียน และ 10 ผู้กำกับฯ กับ อัลบั้ม WHAT'S LOVE? จาก อาร์เอส.ฯ
....
โดยโปรเจ็คท์พิเศษสุด WHAT'S LOVE? นี้ จะเริ่มประเดิมด้วยอัลบั้มเพลงที่ 10 ศิลปินมาถ่ายทอดกลิ่นอายของความรักที่หลากหลาย ผ่านบทเพลงไพเราะทั้ง 10 เพลง ซึ่งแต่ละศิลปินล้วนแล้วแต่เป็นศิลปินชื่อดังที่ประสบความสำเร็จ และได้รับกระแสตอบรับจากแฟนเพลงอย่างมหาศาล ทั้ง ฟอร์ด - สบชัย ไกรยูรเสน, แนนซี่ - นันทพร สว่างแจ้ง, จอนนี่ อันวา, ซอ - มนต์มนัส พลับทอง ( เดอะซิส ), แหม่ม - พัชริดา วัฒนา, อ้อน - ลัคนา หวงมณีรุ่งโรจน์, ศิต - ประกาศิต สากลวารี ( วงโมทีฟ ), แพท - พันธ์ปิติ โพธิ์วิจิตร ( วงจีวา ), ปอนด์ - กฤษฎา วดีศิริศักดิ์ ( วงปลื้ม ) และ อู๋ - ธรรพ์ณธร ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา
....
โดยแต่ละศิลปินก็จะมาขับร้องแต่ละบทเพลง ด้วยเนื้อหาของความรักที่แปลกแยกตามคอนเส็ปต์ของตนเอง อาทิ ฟอร์ด - สบชัย ไกรยูรเสน เจ้าของน้ำเสียง อบอุ่น โรแมนติก กับเพลง รักคือ...ปาฏิหาริย์ ซึ่งมีเนื้อหาอันลึกซึ้งที่จะเข้าครองหัวใจของทุกคู่รักในสไตล์การขับร้องแบบ R&B โดย ฟอร์ด ได้กล่าวถึงความพิเศษของอัลบั้มนี้ว่า... ...ผมคิดว่าอัลบั้ม WHAT'S LOVE? เป็นอัลบั้มที่พิเศษมากครับ เพราะเป็นเพลงที่แต่งขึ้นใหม่ด้วยความหมายดี ๆ เกี่ยวกับนิยามความรักในมุมมองทั้ง 10 รูปแบบ โดยทุกเพลงจะขึ้นต้นด้วยคำถามว่า 'รักคือ...' และตามด้วยคำตอบของแต่ละคน อย่างเช่น 'รักคือ..เธอ', 'รักคือ.. สายลม', 'รักคือ..กำแพง' ฯลฯ หรือสำหรับเพลงของผม 'รักคือ..ปาฏิหาริย์' ซึ่งในเนื้อหาจะบอกถึงความรักที่เกิดขึ้นกับคนสองคนที่แตกต่างกัน แต่ก็มาพบกัน รู้จักกัน และรักกัน
.....
ไม่ใช่อัลบั้มนี้จะเป็นเพียงการรวมตัวของนักร้อง 10 คนเท่านั้น......แต่ยังมี 10 นักเขียนที่ทุกคนชื่นชอบและติดตามผลงาน นำเอาบทเพลงทั้ง 10 ไปตีความหมายและเขียนออกมาเป็นเรื่องสั้นตามแบบฉบับของ ตนเองได้อย่างน่าอ่าน
....
มี 10 ผู้กำกับฯ ที่จะมาผลิตมิวสิกฯ สวยๆ ในสไตล์ของแต่ละคนให้ได้ชมกัน ซึ่งไม่ใช่แค่พวกเรา 30 คนนี้เท่านั้น แต่ทีมงานเบื้องหลังทุกคน ต่างก็ทุ่มเททำงานกันอย่างเต็มที่เพื่อให้อัลบั้ม 'WHAT'S LOVE?' ออกมามีคุณภาพมากที่สุด และถือว่าเป็นอัลบั้มที่ใช้ระยะเวลาในการทำงานนานมาก เพราะเริ่มตั้งแต่การวางคอนเส็ปท์ การทำงานเพลง และเมื่อศิลปินเข้าห้องอัดจนผลงานเพลงออกมาเสร็จเรียบร้อย ก็ต้องนำเพลงไปให้นักเขียนและผู้กำกับฯ ฟัง เพื่อนำไปใช้ ตีความในการสร้างสรรค์ผลงานออกมาตามสไตล์ของตัวเอง รวมเบ็ดเสร็จก็ประมาณเกือบปีครับ...
..........
สำหรับ แนนซี่ - นันทพร สว่างแจ้ง เจ้าของเส้นเสียงสดใส ได้รับมอบหมายให้มาถ่ายทอดบทเพลง รักคือ..เธอ ในสไตล์ Soul ซึ่ง "แนนซี่" กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้ทำงานในอัลบั้มพิเศษชุดนี้ว่า......ซี่รู้สึกดีใจมากๆ ค่ะ ที่ได้มีโอกาสเป็น 1 ใน 10 ศิลปินที่มาขับร้องบทเพลงในอัลบั้ม 'WHAT'S LOVE?' เพราะเป็นอัลบั้มที่พิเศษมากจริงๆ บอกถึงมุมมองความรัก 10 รูปแบบที่แตกต่างกัน แล้วบรรยากาศในการทำงานก็อบอุ่น สนุกสนานและเป็นกันเองมาก ทุกคนก็ต่างทำงานด้วยความตั้งใจ
..........
ส่วนตัวแล้วซี่ชอบทุกเพลงในอัลบั้มนี้ค่ะ เพราะมีความหมายดีๆ ทั้งนั้น โดยเฉพาะเพลงที่ซี่ร้อง 'รักคือ..เธอ' ซึ่งจะเป็นเพลงในมุมมองของความรักที่สดใส แตกต่างจากเมื่อก่อนที่ซี่มักจะได้ร้องแต่เพลง ในแนวอกหักส่วนใหญ่ ซึ่งเพลงนี้ก็ค่อนข้างร้องยากค่ะ แต่ซี่ก็พยายามทำออกมาให้ดีที่สุด และเชื่อว่าทุกเพลงในอัลบั้มนี้คงต้องถูกใจทุกคนแน่ค่ะ...
....
นอกเหนือจากศิลปินทั้ง 10 คนแล้ว ยังมี 10 นักเขียนที่คมทั้งจินตนาการ และปลายปากกา มาร่วมกันถ่ายทอดอารมณ์รัก ของแต่ละบทเพลงออกมาเป็นเรื่องสั้นตามสไตล์ของตนเองได้อย่างน่าอ่าน อย่าง ปราย พันแสง, อัษฎาวุธ เหลืองสุนทร, นันทขว้าง, กิ่งฉัตร, โลเล, รักษิตา, อมราพร แผ่นดินทอง, ทราย เจริญปุระ, พิง ลำพระเพลิง และ ยุทธนา บุญอ้อม
...........
แถมยังมี 10 ผู้กำกับฯ ที่จะมางัดไอเดียในสมองออกมาถ่ายทอดเพลงทั้ง 10 เพลง ออกมาเป็นมิวสิกฯ ชิ้นโบว์แดง คือ อลงกต เอื้อไพบูลย์, อภิชญ์ บุศยศิริ, คมภิญญ์ เข็มกำเนิด, เอกสิทธิ์ ตระกูลเกษมสุข, อรรถกร โสรัจประสพสันติ, ลัคณา วิรุณานนท์, นิธิวัฒน์ ธราธร, กิรเดช เกตกินทะ, ปราโมทย์ แสงศร และ มนชนก สมใจเพ็ง
....
โดยผลงานของทั้ง 10 นักเขียน และ 10 ผู้กำกับฯ จะถูกรวบรวมออกมาสู่สายตาในรูปแบบของ WHAT'S LOVE? Limited Edition Pocket Book เพียง 10,000 ชุดเท่านั้นนอกเหนือจากทั้ง 30 คนคุณภาพจาก 3 สายอาชีพ ที่มาบรรจบกันในอัลบั้ม WHAT'S LOVE? แล้ว ในส่วนของการรังสรรค์ดนตรีแบบ อัน - ปลั๊ก ก็ยังได้นักดนตรีมืออาชีพอีกมากมายมาร่วมแจม ควบคุมการผลิตโดยโปรดิว เซอร์ผู้ละเอียดในเนื้องานทุกกระเบียดนิ้ว สุทธิพงษ์ สมบัติจินดา
............
และนี่คือบทสรุปของความยิ่งใหญ่ในอัลบั้ม WHAT'S LOVE? อัลบั้มแห่งปีที่จะปะทุเชื้อไฟของความรักหลากรูปแบบให้คุกรุ่นในใจคุณ คอยติดตามอัลบั้มสุดพิเศษนี้ในรูปแบบเทปและซีดีได้ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2545 และในส่วนของเรื่องสั้นจาก 10 นักเขียน รวมถึงมิวสิกฯ ของ 10 ผู้กำกับ ที่ถูกบรรจุไว้ใน WHAT'S LOVE? Limited Edition Pocket Book จะวางจำหน่ายในวันที่ 7 ธันวาคม 2545 นี้

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด โดย น้าชาติ ประชาชื่น 2544

ปราย พันแสงคอลัมน์ รู้ไปโม้ดโดย น้าชาติ ประชาชื่น
หวัดดีครับ น้าชาติ ประชาชื่น
อยากทราบประวัติของคุณปราย พันแสง น่ะครับ
..........
ตอบ - ทองปราย พันแสง เริ่มต้นงานเขียนหนังสือสมัยเรียนมัธยมปลาย ด้วยการเขียนกลอนเปล่า เขียนเรื่องสั้น ส่งไปลงนิตยสารวัยรุ่น จุดประกายฝันในงานเขียนหนังสือตั้งแต่นั้นเริ่มทำงานที่หนังสือที่สำนักศิษย์สะดือ เป็นพนักงานประจำกองบรรณาธิการนิตยสารไปยาลใหญ่ ช่วงเรียนอยู่ปี 2 คณะบริหารธุรกิจ เอกโฆษณา มหาวิทยาลัยรามคำแหงในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ผ่านงานมาหลากหลาย รวมถึงนักข่าวหนังสือพิมพ์ "ข่าวสด" บรรณาธิการนิตยสาร ก๊อปปี้ไรเตอร์ เป็นคนเขียนบทละครโทรทัศน์ในตำแหน่งเลิฟซีนเมเนเจอร์ ของบริษัท กระดาษพ่อ ดินสอแม่ จำกัด และกำลังจะเริ่มหัดเขียนบทภาพยนตร์บ้างในปีนี้ตอนนี้มีงานเขียนคอลัมน์หลากหลายสไตล์ประจำอยู่ในนิตยสาร มติชนสุดสัปดาห์ อิมเมจ Summer และหนังสือพิมพ์มติชน หน้า 14 ฉบับ วันอาทิตย์ นอกจากนี้ยังมีผลงานพ็อกเก็ตอีกหลายเล่ม
....................
จากหนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับ31มค2544

หนังสือในดวงใจ สาระสาส์น 2543

คอลัมน์ "หนังสือในดวงใจ 'ปราย พันแสง"
..............
Travel
ของไมเคิล ไครซ์ตัน
เป็นบันทึกไครซ์ตันช่วงเริ่มต้นอาชีพนักเขียนแล้วและช่วงที่เขาเดินทางท่องเที่ยวไปตามสถานที่ต่าง ๆ ของโลก เช่น นิวกีนี ปากีสถาน ฮ่องกงและอีกหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย แต่เขาไม่ประทับใจเมืองไทยเท่าไหร่ ที่ชอบคือ ถึงเป็นบันทึกส่วนตัวแต่เขาไม่ได้เปิดเผยตัวเขาทั้งหมด ถ้าเกี่ยวพันเขาถึงจะเล่าเรื่องครอบครัวหรือเรื่องชีวิตส่วนตัวช่วงนั้น ส่วนที่ไม่เกี่ยวก็ไม่เล่า เวลาอ่านเราต้องปะติดปะต่อเอาเอง ตรงนี้ดีนะ แสดงว่าเขาไม่ใช่พวกขี้โม้ที่บ้าความสำเร็จจนน้ำลายฟูมปาก เราชอบนักเขียนแบบนี้ คือเปิดเผยนิด ปกปิดหน่อย ๆ มันมีเสน่ห์น่าติดตามดีและลึก ๆ แล้ว เราจะรู้สึกว่าเขาเป็นพวกใจนักเลงที่มีด้านเซนสิทีฟอยู่ด้วยแต่ไม่ใช่พวกขี้อ้อนอ่อนไหว ลม ๆ แล้ง ๆ
...............
ฤทธิ์มีดสั้น
ดูหนังเรื่อง The Last Seduction เห็นบทบาทของลินดา ฟิโอเรนติโนในหนังเรื่องนี้แล้วคิดถึงลิ่มเซียวยี้ในเรื่องฤทธิ์มีดสั้นที่สุด แต่ใน The Last Seduction เป็นลิ่มเซียวยี้ที่วิวัฒนาการตัวเองสำเร็จเรียบร้อย เลยไม่ต้องเจอชะตากรรมทุเรศแบบในฤทธิ์มีดสั้น ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นการจนมุมของโกวเล้งด้วย เพราะใส่สีสันขนาดนั้นแล้ว คงไม่รู้จะจบยังไงจึงจะสะอาดถูกหลักอนามัย พอผิดหวังจากอาฮุยเลยให้หายวับไปจากหน้ากระดาษเลย อีกสี่ห้าบรรทัดต่อมาปรากฏว่ากลายเป็นนางคณิกาไปเสียแล้ว แถมนอนกับผู้ชายวันละสิบคนโดยไม่เอาเงิน โอโห เป็นจินตนาการที่ผู้ชายมาก
.................
The Enchanted Desna
ของ อเล็กซานเดอร์ ดอฟเชนโกอเล็กซานเดอร์
โก เป็นผู้กำกับหนังและนักเขียนยูเครน ไปเจอหนังสือฉบับแปลเป็นไทย(คะนึงหา)ของคุณผาติ เผ่าไท แสดงว่าคนแปลเด็ดมากจริง ๆ ที่เลือกเรื่องนี้มาแปลให้อ่านกัน เป็นหนังสือกึ่งอัตชีวประวัติของอเล็กซานเดอร์ ดอฟเชนโกเอง ส่วนที่ประทับใจเป็นอารมณ์ขันเศร้า ๆ แสบ ๆ อย่างตอนที่เขาเล่าเรื่องย่าซึ่งเป็นคนแก่ปากจัด เขาก็บอกว่า ย่าของเขาสามารถมีชีวิตอยู่ได้สามวันโดยไม่ต้องกินอะไรเลย แต่ถ้าไม่ได้ด่าอะไรเลย ย่าเขาจะมีชีวิตอยู่ได้แค่วันเดียวเท่านั้นหรือถ้าจะพูดถึงความยากจนของยูเครน เขาก็จะบอกว่าคนบ้านเขายิงปืนแม่นเกือบทุกคน เพราะต้องยิงนกเป็ดน้ำมาเป็นอาหาร ยิ่งจนก็ยิ่งต้องยิงปืนแม่นเพื่อจะไม่ต้องเสียลูกกระสุนเปล่า ๆ
................
"A life less ordinary"
ของ จอห์น ฮอดจ์
ไม่ใช่หนังสือดี แต่ไอเดียมันน่ารักดี เพราะมันเป็นผลผลิตของ pop culture ที่ชัดเจนดี แล้วบังเอิญไปรู้เบื้องหลังมานิดหน่อย คือ จอห์น ฮอดจ์จริง ๆ แล้วเขาเป็นแพทย์แต่เข้าใจชีวิตพังก์มาก เขาเพิ่งแต่งงานกับคนที่ดีไซน์เสื้อผ้าให้หนังเรื่อง Trainspotting คงทำให้เขาทึ่งในเรื่องบุพเพสันนิวาสหรือพรหมลิขิตอะไรทำนองนี้อยู่ เลยเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา ไอเดียมันมีอยู่ว่ากว่าที่คนสองคนจะมารักกัน พระเจ้าต้องทำงานหนักมาก ต้องลงทุนสร้างสถานการณ์ให้มาเจอกัน ต้องสร้างอุปสรรคขึ้นมาเพื่อจะได้ช่วยกันแก้ จะได้รักกันมากยิ่งขึ้น คนไม่ต้องทำอะไรมากมาย แค่ต้องรักกันให้ได้แค่นั้นแหละ แต่ยากชิบเป๋ง ทำไมทำไม่ได้สักที เออ เข้าใจคิดดี แต่เป็นหนังแล้วไม่ค่อยสนุก อย่างตอนที่นางฟ้าโดนพระเอกต่อยหน้า อ่านหนังสือตะลึงมากว่าคิดได้ไง แต่พอเห็นหนังแล้วกลับรู้สึกเฉย ๆ
...............
วิจารณ์หนังทัศนะใหม่
ของ อาจารย์กาญจนา แก้วเทพ
อันที่จริงควรจะบอกว่าอาจารย์กาญจนาเป็นแม่คนที่สองผู้ให้กำเนิดทางปัญญาคงจะถูกกว่า เพราะหนังสือของอาจารย์หลายเล่มเป็นหนังสือที่ต้องหยิบมาอ่านเรื่อย ๆ มีอิทธิพลต่อความคิดอ่านของเรามาก แต่เล่มนี้พิเศษหน่อยนึงคือ เราคิดว่าตัวเองไม่ใช่เฟมินิสต์ แต่สามารถอ่านงานวิจารณ์ภาพยนตร์จากมุมมองนักสิทธิสตรีอย่างอาจารย์ได้อย่างสนุกสนาน และพูดได้ว่า อาจารย์น่าจะเป็นนักวิจารณ์ไทยคนแรก ที่ใช้มุมมองของเฟมินิสต์เข้าไปศึกษาภาพยนตร์อย่างจริงจังและปากจัดด้วย เราคิดว่านี่คืออาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ภาคที่เป็นผู้หญิง
.................
Flower for Mrs.Harris
ของ พอล กาลลิโค
ดูละครเวทีมาก่อน รู้สึกจะเป็นกลุ่มของนักศึกษาธรรมศาสตร์ทำ ไปแสดงที่เอ.ยู.เอ เข้าไปดูแบบไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไรเลย เพราะเพื่อนพาไป ปรากฏว่า นั่ง ๆ ดูไปแล้วน้ำตาไหลไม่รู้ตัว ละครเลิกเลยไปร้านหนังสือกัน ก็ได้หนังสือมาอ่าน ปรากฏว่ายิ่งอ่านยิ่งประทับใจ เขาพูดถึงเรื่องความใฝ่ฝันและความปรารถนาของคนเราได้ชัดเจนและใกล้ชิดกับเราดี ทำให้เราสัมผัสได้ ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่สิ่งที่เราสัมผัสได้ง่าย ๆ
...............
เมฆสูงและร่มไม้
ของ ยังดี วจีจันทร์
ไม่ค่อยชอบงานสั่งสอนศีลธรรม แต่หนังสือรวมบทกวีของยังดีเล่มนี้เป็นขอยกเว้น รู้สึกว่าเขาไม่ใช่สักแต่ประดิษฐ์สำนวน ชอบที่เขาใช้คำสั้น ๆ แต่หนัก อ่านแล้วเป๊ะ เป๊ะ น็อคเราได้ทุกคำ เข้าใจง่าย ไม่มีสัมผัส แต่เขียนออกมามีเสียงไพเราะมาก มีจังหวะแบบบทกวีจีน บางบทก็อารมณ์จิ๊กโก๋นิด ๆ มีบทหนึ่งจำฝังใจตั้งแต่อ่านครั้งแรก เขาบอกว่าในแง่ของส้นตีน คนขาเดียวยืนน้อยกว่าคนสองขา แต่ในแง่ของหัวใจ คนขาเดียวบอกว่า ถ้าต้องเสียขาที่เหลือไปเขาก็จะบิน โอ้โห ส้นตีนกับหัวใจเนี่ยนะ เหมือนเจออัพเปอร์คัทสอยคางน็อคเห็นดาวเลย
..............
พฤกษนิยาย
ของ ส.พลายน้อย
จริงหนังสือชุดนี้มีสี่เล่ม มีสัตวนิยาย เทวนิยาย พฤษนิยายและอมนุษยนิยาย ซึ่งเล่มนี้ยังหาไม่ได้ แต่ทั้งหมดนี้ชอบพฤกษนิยายที่สุดเพราะชอบประวัติดอกไม้ต้นไม้ อย่างหนังสือกลุ่มพฤกษศาสตร์ที่พิมพ์สวย ๆ ขายกันทุกวันนี้ก็ซื้อสะสมไว้หลายเล่ม อย่างของสำนักพิมพ์แพรวพวก บัว ไม้ดอก ไม้ประดับอะไรพวกนี้ ทำสวยมาก ดอกไม้ที่เราชอบ ๆ ก็ซื้อเก็บ ภาพสวย มีข้อมูลทางพฤกษศาสตร์ครบ แต่อ่านแล้วรู้สึกว่ายังขาดอะไรบางอย่าง มีพฤกษนิยายอยู่ด้วยอีกเล่มจึงค่อยสบายใจหน่อย
..............
เหี้ย ห่า และสารพัดสัตว์
ของ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล
เป็นเชื้อพระวงศ์ที่ทรงมันส์มาก ท่านบอกว่าเขียนเรื่องพวกนี้ขึ้นมาในวันที่รู้สึกเหี้ยที่สุดในชีวิต พวกสัตว์ในเรื่องนี้ชื่อเพราะทุกตัวเลย โดยเฉพาะชื่อบรรดาเหี้ยทั้งหลาย เป็นหนังสือที่มอบให้คนที่เรารักก็สนุกดี เอามุข ส่วนคนที่เราไม่ชอบ เราก็สามารถมอบให้เขาได้เหมือนกัน เพราะชื่อของสัตว์บางตัวในเล่มนี้อาจจะตรงกับชื่อของคนที่เราตั้งใจมอบให้ด้วย

เขียนถึงผู้ชายที่หลงรักดวงจันทร์ 2546

เขียนเมื่อ: Thu 23/01/03 14:20
พอดีมีคนมาบอกถึงหนังสือเล่มนี้ว่าผมน่าจะลองอ่านดู บอกว่าเห็นชื่อเรื่องเลยนึกถึงผม อ่ะเป็นงั้นซ่ะไป ผมเลยไปเดินที่ B2S ชิดลม (เพราะใกล้ที่ทำงาน ข้ามแค่ถนนก็ถึง) พอลองๆ อ่านดูก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องอ่านเบาๆ สบายๆ พร้อมภาพสวยๆ ประกอบ ผมว่าเหมาะสำหรับผ่อนคลายน่ะครับ บางตอนก็ให้แง่คิดอะไรบางอย่าง เลยเก็บมาฝากเพื่อนๆ ครับ ขนาดเล่มก็ไม่ใหญ่ครับ 14.5 ซม. x 15.5 ซม. ครับ


ลิขสิทธิ์ภาษาไทย สำนักพิมพ์ ระหว่างบรรทัด เลขมาตรฐานสากลประจำหนังสือ 974-90756-6-8 ราคา 175 บาท

ผู้เขียนเรื่องและวาดภาพประกอบ : Jimmy Liao เป็นคนไต้หวันเกิดเมื่อปี พ.ศ.2500 หลังจากเรียนจบด้านการออกแบบจากมหาวิทยาลัยวัฒนธรรมจีน ก็เข้าทำงานในวงการโฆษณา มีงานอดิเรกเป็นคนทำภาพประกอบ ชื่นชอบงานภาพประกอบวรรณกรรมเยาวชน งานศิลปะของเขา งดงาม อ่อนโยน ขณะเดียวกันก็ให้รายละเอียดถึงบางแง่มุมของความโดดเดี่ยวของชีวิตมนุษย์ ปัจจุบันเขามีครอบครัวอันอบอุ่น พร้อมด้วยภรรยาและลูกสาวอยู่ที่กรุงไทเป

'ปราย พันแสง : คนแปล คอลัมนิสต์รสจัด มีผลงานเขียนหลากหลายสไตล์ หนังสือ ภาพยนตร์ ดนตรี บทกวี อินเตอร์เน็ต เรื่องอ่านเล่น และเรื่องไม่เป็นเรื่องทั่วไป ชื่อย่อมาจาก ทองปราย พันแสง เป็นสาวไทย นิสัยจัดว่าดี ราศีมีน กินอยู่ง่ายแต่ใจไม่ง่าย อายุอานามประมาณเดียวกับซินเนด โอ'คอเนอร์ มีผลงานหนังสือรวมเล่ามาแล้วถึง 9 เล่ม สำหรับผลงานแปลสองเล่มก่อนหน้านี้ของเธอคือ เด็กชายหอยนางรมและความรักของสี่เหลี่ยมกับวงกลม สำหรับผลงานแปลของจิมมี่ เหลียว ลำดับแรกคือ "ดวงตะวันส่องฉาย" (A chance of sunshinece) และ "ผู้ชายที่หลงรักดวงจันทร์" (Moon, Forgets) นับเป็นผลงานลำดับต่อมา

สิ่งที่เคยเห็น,
จะไม่ได้เห็นอีกต่อไป
สายลมฤดูร้อนแตะไกวยอดไม้,
เพียงเพื่อจากไปในฉับพลัน
สิ่งใดเคยให้ได้จดจำ,
ผ่านพล้ำเกินจะไขว่คว้าทัน
เหลืออ้อยอิ่งเพียงหมอกควัน...
เลือนพร่างเงาไม้
...............
(รายละเอียดทั้งหมดคัดมาจาก : หนังสือ
"ผู้ชายที่หลงรักดวงจันทร์")

ชอบ"เราเป็นได้ มากกว่าตัวเองจะเป็นได้" 2550

เราเป็นได้
มากกว่าตัวเอง
จะเป็นได้
......

วันนี้มีเรื่องเล่า ให้เข้ากับบรรยากาศ เดือนแห่งความรัก
รักอย่างไรให้เป็น
รักอย่างไรให้มีความสุข
ทุกคนมีเรื่องราวชีวิตเกี่ยวกับความรักได้ในหลายรูปแบบ
สำหรับตัวเอง เชื่อว่า ความรัก เป็นสิ่งสวยงาม
รักอย่างไรก็ได้ถ้าใจมีความสุข
รักแล้วต้องมีสติ รักแล้วต้องให้อภัย
รักแล้วรักเลย(ไม่ทวงคืน...แล้วไม่ต้องนำมาคืนด้วย)
รับรู้สัมผัสแห่งความรัก ความสุขได้ไว
ชอบ เรื่อง เราเป็นได้มากกว่าตัวเองจะเป็นได้ ของ'ปราย พันแสง
จึงนำมาเล่าสู่เพื่อน ๆ ฟัง
ช่างน่าอัศจรรย์(ใจ)จริง ๆ

บางสิ่ง บางอย่าง บางคน
มีอิทธิพลต่อบางสิ่ง บางอย่าง บางคนอยู่เสมอ
ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่
ใครบางคนผ่านเข้ามา อาจทำให้ชีวิตเราเปลี่ยนไป
เป็นราชสีห์มาตลอดชีวิต อาจจะกลายเป็นลูกหมาตัวเล็ก ๆ
ไปในทันที เมื่อสบตาใครบางคนเข้า
……………………

ชั่วชีวิตหนึ่งของคนเรา คงได้ผ่านพบผู้คนมากมาย
ได้พูดคุยกับใครบางคนทุกวัน
โดยที่เราไม่รู้จักกันแม้แต่น้อย
ยิ้มให้กันทุกครั้งที่เดินสวนทาง
แต่เราไม่เคยเห็นกันในดวงตา
บางคนเดินมาพร้อมเรา
แต่เมื่อเขาหยุดเราก็จำต้องเดินล่วงหน้าไป
หรือในวันใดเราสะดุดหยุดไป
ก็ไม่น่าแปลกใจหากจะมีใครต่อใครเดินแซงหน้าเราขึ้นไปบ้าง
……………………
ในท่ามกลางผู้คนสับสนบนโลกเรานี้
มันจึงดีแค่ไหน
มหัศจรรย์แค่ไหน
หากมีใครคนหนึ่งเดินฝ่าผู้คนเหล่านั้น
มาหยุดอยู่ตรงหน้าเพื่อให้คุณรักเขาได้
การรักในสิ่งที่ควรรักเป็นธรรมชาติ
แต่เมื่อใดที่เราต้องเผื่อใจ
ต้องเปิดกว้างเพื่อรักในสิ่งที่เราไม่รัก
เพราะสิ่งนั้นมันอยู่ในตัวใครคนนั้น
ณ ช่วงเวลานาทีนั้น
คือช่วงเวลานาทีอันยิ่งใหญ่
เป็นความมหัศจรรย์ของชีวิต
ที่เราต้องให้เกียรติน้อมรับคำนับรับมันไว้
ขอบคุณใครบางคนที่ผ่านเข้ามา
เพื่อทำให้ชีวิตเราเปลี่ยนไป
ใครคนที่ทำให้เราก้าวออกจากตัวตนของตน
ไปไกลทำให้เรา “ได้เป็น” เกินกว่าที่เราเคยเป็นได้
‘ปราย พันแสง’
...............
12 ก.พ. 2550 @ 17:10
แก้ไข: พ. 08 ส.ค. 2550 @ 02:51

ทำไมถึงต้อง 'ปราย พันแสงนักเขียนคนโปรด 2550


ทำไมถึงต้อง 'ปราย พันแสง นักเขียนคนโปรด
...................
...........................
เนื่องจากเมื่อวานก่อนตื่นเช้าเมาขี้ตาลงมาหลังจาก ขี้เหล่เนะ นอนหลับสนิทแล้วก็เลยจัดแจงแช่ผ้าอ้อม รดน้ำต้นไม้ ไปซื้อน้ำเต้าหู้ จ่ายกับข้าว และเปิด laptop เพื่อตรวจข่าวสารยามเช้า
....
เข้ามาที่ blog ตัวเองตกใจเพราะ นักเขียนคนโปรด มาเยี่ยมเยียนและฝากคำทักทายไว้ด้วยพร้อมกับคำขอบคุณที่ยกให้เป็นนักเขียนคนโปรดและแอบแซวว่าเรื่องการเมืองเรื่องชื่อลูกสาวเขียนสั้นไปอ่านแล้วงง ที่เขียนสั้นอย่างนั้นอาจเป็นเพราะบ่นครับ บ่นยาวๆไม่เป็น
...
เข้าเรื่องที่ประทับใจคุณ'ปรายก็คงต้องเล่าย้อนหลังไปหลายปีตอนนั้นเป็นช่วงปิดภาคเรียนเลยกลับมาเมืองไทยเพื่อมาหาแม่และคนรักสองสัปดาห์ก่อนกลับก็เลยต้องหาหนังสือไปอ่านบนเครื่องเพราะบินนานหลายชั่วโมง ไม่มีอะไรทำก็เลยซื้อหนังสือมาสามเล่มหนึ่งในสามนั้นชื่อ “จดหมายรัก”




....





...
ทำไมต้องซื้อเล่มนี้ก็อีกนั่นแหละเนื่องจากในนี้มีจดหมายรักของ “ยาขอบ” ผู้แต่งนวนิยายเรื่องผู้ชนะสิบทิศ ที่ผมอ่านตั้งแต่เด็กๆและได้ข่าวมาจากแม่ว่าท่านเจ้าชู้ใช่เล่น ไหนๆมีคนรวมมาให้อ่านก็เอามาศึกษาหน่อยว่าจดหมายของท่านจะหวานน้ำตาลหยด เชือดเฉือนหัวใจขนาดไหน และอีกอย่างอาจเป็นเพราะสมัยผมเป็นหนุ่มๆ เขียนจดหมายคุยกับคุณภรรยาอยู่สองปีเนื่องจากเรียนคนละจังหวัดและเพราะสมัยนั้นไม่มี email โทรศัพท์ทางไกลก็แสนแพงการติดต่อทางเดียวคือจดหมายสัปดาห์ละฉบับ
...
อารมณ์การรอจดหมาย การเปิดจดหมายอ่าน การตอบจดหมายมันเป็นเรื่องโรแมนติกมากๆ กลับมาบ้านเห็นจดหมายวางบนโต๊ะโคตรมีความสุขเลย ครับบางทีผมเอาออกมาอ่านยังเขินสำนวนตัวเองซะงั้น ก็เลยหยิบมาเลยและเป็นจริงดังคาดยังไม่ทันขึ้นเครื่องก็อ่านไปครึ่งเล่มนั่งยิ้มคนเดียวในร้านกาแฟจนคนที่เดินผ่านไปมา สงสัยว่าไอ้นี่มันบ้าป่าว กำลังจะอ่านต่อให้จบก็นึกขึ้นได้ว่าต้องบินอีกยาวเลยหยุดไว้เพื่อไปอ่านต่อบนเครื่อง
...
หลังจาก landing หนังสือเล่มนี้ก็ถูกส่งต่อไปให้เพื่อนๆที่เรียนด้วยกันอ่านต่อเลยทำให้เนื้อหาในหนังสือถูกนำมาพูดถึงบ่อยๆ ในการพบปะรื่นเริงที่หนักกว่านั้นเพื่อนผมคนหนึ่งเอาไปให้พ่ออ่านระหว่างที่มาเฝ้ามันเรียน ผลก็คือคุณพ่อก็โรแมนติกเข้าเส้นสมัยหนุ่มๆ อ่านเข้าก็ชอบใจชวนผมไปกินเหล้าซะงั้น วันนั้นเลยเมาเลย
....
กลับมาเลยตามอ่านอีกหลายเล่มเช่น ผู้หญิงเลี้ยวซ้ายผู้ชายเลี้ยวขวา อันนี้ซื้อแบบแถมดีวีดี เล่มนี้ภรรยาชอบมากเพราะดูหนังก่อนแล้วมาเจอหนังสือ”เอ้าคุณ'ปรายอีกแล้ว” และอีกหลายๆเล่มถือว่าเป็นนักเขียนที่ผมมีหนังสือเยอะที่สุด
....
เรื่องมันเริ่มจาก “จดหมายรัก” เท่านั้นแหละครับ

suki blog และเรื่องรักเบอร์ห้า 2550

























www.sukiflix.com
suki blog "เรื่องรักเบอร์ห้า"

One Fine Spring Day
Christmas in August



....


หนังสือเล่มแรกที่ฉันหยิบหนังสือ เรื่องรักเบอร์ห้า ของ “ปราย พันแสง” ขึ้นมาอ่าน ช่วงเวลา 6 -7 วันที่อยู่ในเมืองกรุง เพื่อฆ่าเวลาในยามค่ำคืนในห้องพักของน้องสาว ยามค่ำคืนที่รายการทีวีไม่มีอะไรที่ดึงดูดพอให้นั่งจดจ่ออยู่หน้าจอได้
...
เป็นหนังสือเล่มแรกที่หยิบมาอ่าน (โดยไม่ตั้งใจ) จากจำนวนหนังสือทั้งหมดที่ไปเลือกซื้อในงานสัปดาห์หนังสือเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
...
แม้จะไม่ได้เป็นแฟนเหนียวแน่นของ ปราย พันแสง ถึงขนาดถึงขั้นซื้อหนังสือ แต่ก็พอรู้จักมักคุ้น ด้วยเพราะเคยอ่านงานของเธอมาบ้าง จากบทความที่เธอเขียนในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ฉันเองก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่าจิตใต้สำนึกส่วนไหน หรืออะไรดลใจให้เลือกซื้อหนังสือ “เรื่องรักเบอร์ห้า” ในครั้งนี้
...
ฉันอ่านหนังสือเล่มนี้ตั้งแต่ต้นจนจบภายในคืนเดียว อ่านไปเรื่อย ๆ ถึงมุมมองความรักต่าง ๆ นานา ที่ผู้เขียนหยิบยกขึ้นมาเขียน ผ่านเรื่องเล่า เรื่องแต่ง บทกวี ภาพยนตร์ ฯลฯ ซึ่งเนื้อหาหลักของเล่มเน้นเรื่องราวไปที่รักแบบแรกพบ อ่านแล้วก็รู้สึกเพลิดเพลินดี แต่ยังไม่ถึงขั้นซาบซึ้งตรึงใจอะไรมากมายนัก อาจเพราะด้วยความละเอียดอ่อนทางอารมณ์ค่อนข้างน้อย (ไม่รู้ด้วยอายุที่เพิ่มมากขึ้น หรือประสบการณ์ที่ขัดเกลาเหลาหลอม)
.......
เมื่ออ่านมาจนถึงบทสุดท้ายของหนังสือที่ชื่อว่า “หวานชื่นหรือปวดร้าว ก็เท่านั้น” ที่พูดถึงหนังสัญชาติเกาหลีสองเรื่องของผู้กำกับ เฮอร์ จิน โฮ คือ “One Fine Spring Day” และ “Christmas in August” ซึ่งทั้งสองเรื่อง ฉันเองเคยดูมาแล้ว ก็ไม่ได้รู้สึกประทับใจ กินใจ ไปกับหนังทั้งสองเรื่องตรงส่วนไหนเป็นพิเศษ อย่างมากก็แค่สงสารพระเอกของทั้งสองเรื่อง ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะความนิ่งสงบของหนังทั้งสองเรื่อง อีกส่วนหนึ่งต้องโทษความสามารถในการตีความหนังของตัวฉันเองยังไม่ดีพอ
....
แต่เมื่ออ่านสิ่งที่ปราย พันแสง เธอเขียนถึงหนังสองเรื่องนี้อย่างวิเคราะห์เจาะลึกลงไปถึงก้นบึ้งจิตใจของตัวละคร สภาพแวดล้อมที่หล่อหลอมให้ตัวละครแต่ละตัวคิดเห็น เป็นอยู่ เป็นมา เป็นไป อย่างไร ก็ทำให้ฉันได้คำตอบ สำหรับคำถามที่เคยคาค้าง เคยกังขา (แต่มันก็นานมาแล้ว) จากหนังทั้งสองเรื่องนี้
....



แน่นอนว่า มันเป็นคำตอบให้กับส่วนหนึ่งของชีวิตในด้านความรักของฉันได้อย่างหมดจดครบถ้วน เหมือนเสื้อผ้าสกปรกที่ถูกซักด้วยผงซักฟอก ซักด้วยน้ำอีกสองครั้ง แต่ก็ยังมีสารของผงซักฟอกตกค้างอยู่เล็กน้อย เพราะยังเห็นฟองของผงซักฟอกลอยอยู่ในน้ำอีกนิดหน่อย แต่คราวนี้เป็นการซักน้ำครั้งที่สาม เพื่อล้างคราบของผงซักฟอกนั้นออกจนหมดจดไม่เหลือฟองอีกเลยแม้แต่น้อย



....
ยิ่งอ่าน One Fine Spring Day ที่ปราย พันแสง เขียนถึง ยิ่งรู้สึกเหมือนกับเข้าใกล้กับชีวิตตัวฉันเองมากขึ้นไปทุกที ยิ่งอ่านไป ก็รู้สึกได้ในใจว่า “นี่มัน ชีวิตฉันเลยนี่หว่า” ฉันหมายถึง สิ่งแวดล้อม นิสัยใจคอ ความนึกคิด การตัดสินใจของตัวละครที่เป็นพระเอก ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไม่ตอนดูหนังจึงไม่รู้สึกแบบนี้ ดูออกจะไกลตัวฉันมากไปด้วยซ้ำ หรือนี่จะเป็นข้อดีอย่างหนึ่งของการอ่านหนังสือ


....
เมื่ออ่านจบ เชื่อไหมว่า นี่เป็นจำนวนน้อยครั้งที่ฉันปิดหนังสือลงด้วยน้ำที่เอ่อล้นอยู่ในดวงตา ภาพแห่งความหลังในบางส่วนของชีวิตต่างผุดพรายขึ้นมา แล้วพร่าเลือนจบลงด้วยแสงแห่งความกระจ่างชัดในหัวใจภายในเวลา 5 นาทีที่ปิดหนังสือเล่มนี้ลง
.....
เช้าวันต่อมาหลังจากที่ฉันอ่านหนังสือเล่มนี้ มันทำให้ฉันนึกถึงเพื่อนบล็อกเกอร์คนหนึ่ง คุณ Rockstar ที่เคยเขียนถึงหนังเรื่อง One Fine Spring Day โดยเปรียบเทียบกับชีวิตรักของเขา แล้วจบลงด้วยคำถามที่หาคำตอบไม่ได้ ว่าเหตุใดคนรักของเขาจึงจากไป ในชื่อเอ็นทรี่ว่า “เธอจากไปแล้ว และจะไม่จอดรับเราอีก” (เป็นเอนทรี่ที่ฉันคุยข้ามบล็อกกับเพื่อนบล็อกเกอร์ติดต่อกันเป็นเวลานานที่สุดแล้ว) ซึ่งนั่นก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ฉันแอบยืมชื่อเอ็นทรี่ของเขามาเป็นชื่อเรื่องที่เขียนในวันนี้
...
ฉันคิด (อย่างไม่มั่นใจนัก) ว่า หากคุณ Rockstar ได้เข้ามาอ่านเรื่องที่ฉันเขียนในวันนี้ เขาอาจจะพบคำตอบนั้นที่ติดค้างในในมานานก็เป็นได้ ฉันหวังให้เป็นเช่นนั้น
...
ฉันขออนุญาตตัดเอาเพียงบางส่วนที่ปราย พันแสง เขียนไว้ในบทสุดท้ายที่ฉันได้อ่านไว้นำมาให้ได้อ่านกันตามย่อหน้าต่อไปนี้







....
One Fine Spring Day



“ตอนที่อยู่ที่สถานีวิทยุ เมื่อ ซังวู (พระเอก) ถามว่า ต้องทำงานดึกอย่างนี้ ที่บ้านคงเป็นห่วง อึนซู (นางเอก) ตอบว่า “ฉันก็อยากมีคนเป็นห่วงอยู่เหมือนกัน” จากคำพูดและรูปแบบการใช้ชีวิตของอึนซู น่าจะบ่งบอกถึงความเป็นคนเมืองของเธอได้เป็นอย่างดีขณะซังวู เป็นตัวแทนของโลกเก่า ชีวิตอบอุ่น แต่ก็ดูรุงรังไปด้วยพันธนาการสังคมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกในครอบครัวที่มักจะเอ่ยเตือนถึงเรื่องการแต่งงานอยู่เสมอ เช่นป้าที่เคยบอกว่า “แกควรจะแต่งงานให้ย่าทันได้เห็น”
.....
ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อซังวูตกหลุมรักอึนซู เขาจึงทุ่มเทปักใจว่าผู้หญิงคนนี้แหละคือ “คนที่ใช่” โดยมิได้เผื่อใจให้กับตัวแปรอื่น ๆ เลยแม้แต่น้อยซังวูเป็นคนขี้อายและพูดน้อย เขามีความสุข ความพอใจในชีวิตเรียบง่าย เป็นได้ว่าก่อนที่จะเจออึนซู ซังวูไม่เคยมีแฟน ไม่เคยมีผู้หญิงคนใด และเมื่อมีอึนซู เขาจึงปักใจแน่นหนาจนยากจะเยียวยาไถ่ถอน
...
ซังวูมองความรักจากพื้นฐานความคิดแบบอนุรักษ์นิยมของตน และคิดว่าจะเป็นไปตามนั้น โดยไม่มีโอกาสหยั่งรู้ได้เลยว่า อึนซูผ่านโลก ผ่านชีวิตแบบใดมาบ้างจะเห็นได้ว่า อึนซู มีชีวิตแบบรัก ๆ เลิก ๆ มาตลอด ดังนั้น การจะรักหรือเลิกคบกับใคร ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร ขณะที่ซังวูไม่เคยเข้าใจพฤติกรรมของเธอได้ เช่นเดียวกับที่เขาไม่เข้าใจมาตลอดชีวิตว่า ปู่ที่รักย่าเขาสุดหัวใจนั้นสามารถปันใจไปมีหญิงอื่น จนทำให้ย่าของเขาต้องเจ็บช้ำมาจนทุกวันนี้ไดอย่างไร”



.....
Christmas in August



“ชีวิตของจุง วอน (พระเอก) ใกล้สิ้นสุดลงทุกที แต่โดยไม่คาดฝัน ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับ ดาริม (นางเอก) ลูกค้าสาว ก็มีความผูกพันลึกซึ้งมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งสองตกหลุมรักกันและกัน แต่จุง วอน พยายามจะไม่สานต่อความสัมพันธ์นี้ เพราะไม่อยากให้เธอเสียใจกับการจากไปของเขา พฤติกรรมของจุง วอน จึงสร้างความเจ็บปวดให้กับดาริมเป็นอย่างยิ่งความรักที่มีต่อดาริม ทำให้การเผชิญหน้ากับความตายของจุง วอน กลายเป็นความเจ็บปวดยิ่ง ภาพพ่อผู้แก่ชรา ผู้ตื่นมายามดึกแล้วได้ยินเสียงลูกชายคนโตนอนคลุมโปงร้องไห้สะอึกสะอื้นอยู่ในความมืด หรือภาพที่จุง วอน เมาอาละวาดบนโรงพักด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่อง จึงสื่อถึงความทุกข์ทรมานที่ซุกซ่อนลึกเร้นอยู่ในใจเขาเป็นอย่างดี
........
เพราะความรักที่มีต่อดาริม ทำให้จุง วอน ตระหนักรู้เป็นครั้งแรกว่า ชีวิตที่ต้องจบลงด้วยความตายอาจจะไม่ใช่เรื่องน่ากลัว แต่การที่ความตายทำให้เขาต้องปฏิเสธความรักที่กำลังผลิบานงดงามนี่สิ เจ็บปวดทรมานมากกว่า
....
เฮอร์ จิน โฮ (ผู้กำกับภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องนี้) กล่าวถึง Christmas in August ไว้ว่า “ความรัก แม้จะเป็นประเด็นรองในหนังเรื่องนี้ แต่ผมก็อยากทำให้เห็นว่า ความรู้สึกดี ๆ อย่างนั้น มันผ่านเข้ามาแล้วจากไปได้อย่างไร คนเราเปลี่ยนไปตามกาลเวลาได้ขนาดไหน ผมเชื่อว่าเราทุกคนล้วนเคยมีประสบการณ์รักใครสักคนอย่างมาก ๆ แล้วเรามักเชื่อกันว่า ความรู้สึกรักแบบนั้นจะไม่มีวันเปลี่ยน แต่ผมอยากบอกว่า ความสัมพันธ์ต้องสิ้นสุดลงสักวัน แน่นอน เมื่อถึงวันนั้นความรักก็จะกลายเป็นความเจ็บปวด แต่กระนั้นชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไป แล้วจะมีความสัมพันธ์ใหม่เกิดขึ้นมาแทนในที่สุด”

Positioning Magazine ตุลาคม 2548

Positioning Magazine
www.positioningmag.com
โดย อรรถสิทธิ์ เหมือนมาตย์

ตุลาคม 2548

'ปราย พันแสง เป็นนามปากกาที่ย่อมาจากนามปากกา “ทองปราย พันแสง” อีกต่อหนึ่ง เป็นชื่อที่ เสถียร จันทิมาธร บรรณาธิการนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์เป็นคนตั้งให้เมื่อครั้งเขียนคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ เธอเป็นชาวนครราชสีมา เริ่มงานเขียนตั้งแต่สมัยมัธยมปลาย การศึกษา-คณะบริหารธุรกิจ เอกโฆษณา มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปัจจุบันเขียนคอลัมน์ประจำที่มติชนสุดสัปดาห์ และทำงานประจำที่บริษัท เวิร์คพอยท์ พับลิชชิ่ง จำกัด จัดเป็นนักเขียนมือทองที่หลายสำนักพิมพ์ต่างอยากร่วมงานด้วย ผ่านผลงานมามากมาย คือทั้งพ็อกเกตบุ๊กและหนังสือแปล เช่น สวีตหยดออนไลน์, จระเข้ ผึ้ง ตั๊กแตน โจดี้ ฟอสเตอร์ ผู้ชาย ผู้หญิง, ผู้หญิงมาจากดาวศุกร์ ผู้ชายมาจากนรก, ฉันเกลียดเธอ ฉันรักเธอ ชีวิต, As Films Go By หนังในใจ'ปราย พันแสง ส่วนหนังสือแปล มี เด็กชายหอยนางรม (The Melancholy Death of Oyster Boy & Other Stories), ความรักของวงกลมกับสามเหลี่ยม (The Missing Piece), ดวงตะวันส่องฉาย (A Chance of Sunshine), ผู้ชายที่หลงรักดวงจันทร์ (Moon,Forgets), เทพนิยายประกายตา (The Man With The Dancing Eyes)

คอลัมน์คุยนอกรอบ [2] ประพันสาส์น 2549

คอลัมน์คุยนอกรอบ
สัมภาษณ์โดย มีนาภา
จากเว็บไซต์สำนักพิมพ์ประพันสาส์น


‘ปราย พันแสง :
“งานเขียนเป็นสิ่งที่พี่ทำได้และพี่ก็อยู่กับมันแล้วมีความสุข”



บทสัมภาษณ์พี่’ปราย พันแสงในแง่มุมของการทำงาน ชีวิตส่วนตัว และตัวตนของความเป็น’ปราย พันแสง ผู้หญิงเก่งมากความสามารถ ที่เป็นทั้งนักเขียน นักข่าว และนักแปล ผลงานหลายเล่มที่ผ่านมาของพี่’ปรายล้วนได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากผู้อ่าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจดหมายรัก (The Love Letters),เด็กชายหอยนางรม,ความรักของวงกลมกับสามเหลี่ยม,ดวงตะวันส่องฉาย,เรื่องรักใคร่ ,สวยสดแลงดงาม และอื่นๆอีกหลายเล่ม สิ่งเหล่านี้สามารถการันตีได้ว่าพี่’ปรายเป็นคนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จบนเส้นทางการเป็นนักเขียน และยังเป็นนักเขียนที่อยู่ในดวงใจของใครหลายคน

ตอนนี้พี่’ปรายทำอะไรอยู่บ้างคะ
ตอนนี้พี่ช่วยน้องทำนิตยสาร Free Form ค่ะ แล้วพี่ก็กำลังเปิดสำนักพิมพ์ของตัวเอง เพราะว่างานบางเล่ม อาจจะไม่มีใครอยากพิมพ์ให้เรา หรือว่าบางเล่มเราก็ไม่อยากให้คนอื่นพิมพ์ เพราะว่ามันอาจจะขายไม่ได้ อย่างมีอยู่ช่วงหนึ่ง พี่ชอบอ่านงานเขียนของฮารูกิ มูราคามิ เราก็อยากรู้อยากเห็นเรื่องราว เกร็ดและชีวิตการเป็นนักเขียนของเค้า ก็พยายามไปค้นหาข้อมูล ซึ่งก็ทำให้พี่ได้ค้นพบอะไรเยอะ เคยเอาเรื่องของเขามาเขียนลงเป็นตอนๆ ในมติชนสุดสัปดาห์ ยี่สิบกว่าตอน ช่วงนั้น คุณภาณี ลอยเกตุ บรรณาธิการสำนักพิมพ์มติชน เคยขอเอาไปรวมเล่ม แต่ตอนนั้น มูราคามิยังไม่เป็นที่รู้จักในบ้านเราเหมือนตอนนี้ พี่ก็คิดว่า แค่ประวัติคงขายยาก ก็เลยไม่ได้ให้ไปรวมเล่ม แต่ตอนนี้ พี่รู้สึกว่าคนรู้จักมูราคามิกว้างขึ้น พี่ก็เลยอยากเอามาพิมพ์อีก พิมพ์เองค่ะ เพราะถึงขายไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ถือว่าเป็นการรวบรวมงานตัวเองไว้ให้เป็นที่เป็นทาง
.....

รู้สึกว่างานของมูราคามิเป็นงานที่อ่านยาก?
ก็จะมีบางเล่มเหมือนกันที่อ่านยาก แต่ถ้าเราเริ่มต้นอ่านงานของเขาที่อ่านง่ายหน่อย อย่างเช่นเรื่อง Norwegian Wood หรือ ชื่อไทยด้วยรัก ความตาย หัวใจสลาย ก็พออ่านได้ น่าจะเป็นการเริ่มต้นที่ดี แต่ถ้าเราไปเริ่มต้นที่เล่มยากๆ เช่น A Wild Sheep Chase หรือ แกะรอย แกะดาว มันอ่านยาก ก็คงลำบากเหมือนกัน
....
ตอนนี้พี่’ปรายกำลังตั้งสำนักพิมพ์ของตัวเอง งานเขียนของพี่’ปรายก็ยังคงเรื่อยๆอยู่?
เรื่องงานเขียนคอลัมน์ตอนนี้พี่ยังไม่ได้เริ่มน่ะค่ะ ก็คงอีกซักพักนึงค่ะ พี่รู้สึกว่าตอนนี้ยังไม่อยากทำอะไรที่มันยาวๆ ซ้ำๆ เพราะว่าพี่กลับไปทำงานประจำมา 2 ปีแล้ว งานประจำทำให้พี่รู้สึกว่าตัวเองไปไหนไม่ได้เลย แล้วพอออกมาก็รู้สึกว่าอยากจะอิสระ สักพักนึง อย่างนิตยสาร Free Form เนี่ย พี่ก็จะช่วยน้องทำบางเล่ม
.....
สำหรับนิตยสาร Free Form พี่’ปราย เป็นบรรณาธิการรึเปล่าคะ
พี่ก็ถือว่าเป็นบรรณาธิการค่ะ ช่วยดูแนวทางหนังสือ เรื่องการบริหารตัวเลขอะไรต่างๆ ก็ช่วยน้องทำอยู่เบื้องหลัง เขียนคอลัมน์นิดหน่อยใน Free Form ค่ะ








อยากให้พี่’ปรายพูดถึงร้านสรรพรสหน่อย ร้านนี้น่ารักมากเลยค่ะ
ร้านนี้เปิดมาสามปีกว่าแล้ว พี่ก็จะดูแลร้านนี้ในช่วงปีแรก ช่วงที่เปิดร้านพี่ก็จะดูแลความเรียบร้อยน่ะค่ะ ว่าร้านควรที่จะมีอะไร หรือไม่มีอะไร แต่ในด้านการดำเนินการจริงๆ พี่ก็จะมีน้องสองสามคนที่ทำและดูแลอยู่ ส่วนก็จะช่วยดูในเรื่องของกิจกรรมที่ทางร้านจัดขึ้นบ้างนิดหน่อย แล้วก็ไม่ได้ดูแลเลย ในช่วงทำงานประจำ แต่ตอนนี้ว่างแล้ว ก็อยากกลับมาทำอะไรๆ ที่ร้านมากขึ้น แต่คงสักตุลาคม ปีนี้ค่ะ ถึงจะเริ่มได้ เมื่อก่อนที่ร้านก็จะมีจัดกิจกรรม book club ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มานั่งคุยกันเรื่องหนังสือทุกอาทิตย์ พอพี่ไม่ได้อยู่กิจกรรมนี้ก็เลยหายไป ไม่มีคนทำต่อ พี่อยากกลับมาเริ่มอีก เพราะเป็นกิจกรรมที่ดี
....
แล้วในส่วนของเวปไซต์ล่ะคะ bookcyber
สำหรับ bookcyber ก็จะมีพี่อีกคนที่เขาทำอยู่ คือเค้าก็จะทำอยู่ตั้งแต่แรกแล้วล่ะค่ะ แล้วพี่ก็จะเป็นคนที่ไปแจม แต่ช่วงหลังพี่ไม่ได้เข้าไป เค้าก็คุยกันเอง bookcyber เป็นเรื่องอะไรที่สบายๆ
....
แล้วในส่วนงานหนังสือของพี่’ปรายล่ะคะ
ตอนนี้พี่กำลังทำในส่วนบรรณาธิการหนังสือของ Jimmy Liao ให้กับนานมีค่ะ พอดีนานมีเค้าซื้อลิขสิทธิ์หนังสือของ Jimmy Liao มาหลายเล่ม ตอนนี้ก็อยู่ที่พี่ 6 เล่ม มีคนแปลมาจากภาษาจีน แล้วพี่ก็เป็นบรรณาธิการคอยตรวจแก้ภาษาไทยอีกที
....

ช่วงนี้พี่’ปรายไม่ได้ทำงานประจำใช่มั๊ยคะ
ไม่ได้ทำเลย ต่อไปนี้ก็คงไม่ทำแล้วล่ะค่ะ ถ้าทำก็คงเป็นสำนักพิมพ์ของตัวเองค่ะ ก็คงเรื่อยๆไม่ได้ซีเรียสอะไรมาก

พี่’ปรายคาดว่าจะเปิดตัวสำนักพิมพ์ของพี่’ปรายเมื่อไหร่คะ
งานสัปดาห์หนังสือที่ใกล้จะถึงนี้ ก็น่าจะได้ออกมาซัก2เล่มค่ะ
....
เป็นผลงานของพี่’ปรายเองรึเปล่าคะ
ค่ะ เป็นผลงานของพี่เอง อาจจะใช้ชื่อสำนักพิมพ์สับปะรด หรือชื่ออื่น แต่คงประมาณนี้ค่ะ
.....
อาชีพนักเขียนเป็นอาชีพที่พี่’ปรายรักและใฝ่ฝัน?
ก็เรียกว่าเป็นอาชีพที่พี่ใฝ่ฝันนะ แต่ถ้าถาม ณ เวลานี้ พี่ก็ว่าตัวเองมาไกลเกินที่ฝันไว้มากแล้วล่ะค่ะ อย่างตอนที่พี่กลับมาทำงานประจำ ทำงานสำนักพิมพ์อีกครั้ง มันเหมือนเป็นสิ่งที่พี่ทำได้ พี่ก็อยู่กับมันแล้วมีความสุข แต่ถ้าถามว่าตอนนี้พี่ฝันอะไรมั้ย ก็คงไม่ค่อยแล้วล่ะค่ะ เพราะพี่รู้สึกว่ามันก็มาเรื่อยๆ เราทำ เราชอบอะไร เรารักการเขียน เราก็ทำไปเรื่อยๆ ก็ไม่ได้วางเป้าว่าเราจะต้องไปถึงตรงไหน พอเราทำงานเขียนซักพักนึง เราก็มีงานเขียนของตัวเอง ก็อยากทำสำนักพิมพ์ เรามีตังค์เราจะพิมพ์เมื่อไหร่ก็ได้ ถึงขายไม่ได้เราก็โอเค ก็ยังพอมีอะไรทำอยู่ พี่ก็ไปเรื่อยๆมากกว่า แต่สำหรับในแง่ธุรกิจ มันก็อาจจะต้องมีแผนคร่าวๆว่า ปีนี้พี่จะออกหนังสือซักกี่เล่ม อะไรบ้าง เช่นช่วงนี้พี่ควรที่จะมีหนังสือของพี่ออกมากี่เล่ม แต่ช่วงนี้พี่มีงานของนานมี ก็เลยรู้สึกว่าหนังสือของเราจะออกเมื่อไหร่ก็ได้
....
แล้วเวลาที่พี่’ปรายเขียนหนังสือไม่ออกพี่’ปรายมีวิธีในการสร้างบรรยากาศในการเขียนยังไงบ้างคะ
พี่ก็ไปเที่ยวบ้าง ไปดูนิทรรศการบ้าง ก็ดีที่เราไปโน่นไปนี่ ไปดูงานแสดงศิลปะ ไปดูอะไรแบบนี้พี่ว่ามันเปิดหูเปิดตาเรามากเลยนะ อย่างที่พี่ทำFree Form พี่อยากทำให้หนังสือเล่มนี้เป็นไกด์ที่จะแนะนำนิทรรศการดีๆ และให้ความรู้เกี่ยวกับนิทรรศการ เป็นคู่มือให้เราศึกษา อยากให้คนสนใจเรื่องแบบนี้เยอะๆ เพราะมันมีประโยชน์กับชีวิต และค่าใช้จ่ายในการดูนิทรรศการเนี่ยมันก็ถูกมากเลย เสียแค่ค่ารถไฟฟ้าไปกลับ แล้วบางทีก็ใช้เงินไม่ถึง 200 แต่เราก็ได้อะไรกลับมาเยอะแยะ ได้รับแรงบันดาลใจต่างๆ อย่างตอนนี้มีนิทรรศการของ Vivienne Westwood ซึ่งเค้าเป็นดีไซเนอร์ชาวอังกฤษ เค้าเป็นคนที่อ่านหนังสือเยอะ อ่านวรรณกรรมคลาสสิคเยอะมาก แล้วบางทีเค้าก็ตั้งชื่อชุดเสื้อผ้าของตัวเองเป็นชื่อนักเขียน บางชุดก็เป็นชื่อนิยายของ อกาธา คริสตี้ Vivienne เนี่ยเค้าเป็นคนที่ทำอะไรหลายอย่างมาก สามีเค้าก็เป็นผู้จัดการวงพั้งค์ วงร็อค เค้าก็จะออกแบบเสื้อผ้าให้กับนักดนตรี ตัวเค้าก็จะมีร้าน ทำเสื้อ เป็นดีไซเนอร์อะไรแบบนี้ค่ะ ในแง่วิธีคิดของเค้า ในแง่ของวิธีการทำงานของเค้า เค้าใช้ทุกอย่างเลย เค้าชอบดูภาพเขียน ชอบมองภาพเขียน เพื่อจะเอาแรงบันดาลใจจากภาพเขียนเอามาสร้างสรรค์ในงานเสื้อผ้าหรืองานอื่นของเค้า คืองานศิลปะมันสามารถไปสร้างแนวคิด และสร้างแรงบันดาลใจให้เราได้คิดต่อ
ได้เยอะแยะ

เวลาที่พี่’ปรายไปเที่ยว พี่’ปรายชอบสถานที่ไหนเป็นพิเศษคะ
พี่จะชอบอิตาลี เพราะว่าเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ มีความหลังเยอะดี มันดูเก่าๆ อย่างเวลาไปเดิน เราจะเดินบนก้อนหินตั้งแต่เมื่อ 400-500 ปีที่แล้ว หรือว่าสะพานบางสะพานเนี่ยก็สร้างมาตั้งแต่ยุคโรมัน ทุกอย่างมันยังคงอยู่ ทั้งที่เวลาผ่านไปนานแล้ว มันเก่าๆ ดี ผู้คน หรือบรรยากาศที่อิตาลีมันเหมือนบ้านเรานะ มันดูเรียบๆ ง่ายๆ ผู้คนก็ดูยิ้มแย้ม สบายๆ บางประเทศในยุโรปคนจะดูเคร่งเครียด อย่างพี่ไปปารีสเนี่ยคนเดินชนพี่แบบว่าจะหงายเลย เค้าก็ตัวใหญ่ ชนเราแรงมาก แล้วก็ไม่สนใจเลย เราเจอก็รู้สึกไม่ดี พอไปอิตาลี่ พี่ก็เลยรู้สึกว่าประเทศเขาน่ารักดี พี่ชอบอิตาลี ชอบฟลอเรนซ์ อะไรแบบนี้
....
แล้วถ้าเป็นสถานที่ในประเทศไทยล่ะคะ
พี่ก็จะชอบประมาณย่านเก่าๆ อย่างราชดำเนิน เกาะรัตนโกสินทร์ แต่ถ้าเป็นต่างจังหวัด ก็คงเป็นเมืองเหนือล่ะค่ะ อย่างเชียงใหม่ พี่ชอบขนาดเคยไปอยู่เป็นปีๆเลย
....
ที่บ้านเลี้ยงดูพี่’ปรายมายังไงบ้างและการเลี้ยงดูเหล่านั้นมีผล หรืออิทธิพลต่อการเป็นนักเขียน นักแปล ของพี่’ปรายยังไงบ้างคะ
ถ้าเป็นที่บ้านก็คือ พ่อกับแม่พี่จะชอบอ่านหนังสือ ที่บ้านก็มีหนังสือเยอะ เราก็จะเห็นว่า เอ๊ะ!ทำไมเค้านั่งจ้องนั่งดูอะไรเนี่ย มีแต่ตัวหนังสือรูปภาพก็ไม่ เด็กๆ เราเห็นแบบนี้ตลอดเวลา พอเราเริ่มโต เราอ่านได้ ก็จะเริ่มอ่านบ้าง พี่ก็ถือว่าพ่อกับแม่พี่มีชีวิตแบบนี้ เราเห็น เราคุ้นชินตั้งแต่เด็ก พี่คิดว่าส่วนนี้ก็มีผลต่อตัวพี่เหมือนกัน
....
หนังสือที่พี่’ปรายอ่านตอนเด็กๆแล้วรู้สึกว่ารักหนังสือเล่มนี้มาก เป็นหนังสือเล่มไหนคะ
ตอนเด็กๆ พี่ไม่ค่อยได้อ่านหนังสือเด็กมาก พี่จะอ่านหนังสือผู้ใหญ่น่ะค่ะ อย่างแม่พี่ก็จะอ่าน ขวัญเรือน อ่านสกุลไทย แต่ว่าในขวัญเรือนเมื่อก่อนเค้าก็จะมี part สำหรับเด็กๆน่ะค่ะ ก็อ่านบ้าง แต่ก็แป๊บเดียว ก็หันไปอ่านเรื่องของผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่นิยายที่พี่ชอบอ่านก็จะเป็นนิยายผู้ใหญ่ ตอนเด็กพี่ชอบอ่านนิยยายของทมยันตี ก็อ่านตอนประมาณป.4,ป.5 บางทีวันหยุด เสาร์-อาทิตย์ นอนอ่านทั้งวันไม่ไปไหนเลย
....
พี่’ปรายเริ่มต้นการเป็นนักเขียน นักแปล ได้ยังไงคะ
งานเขียนเนี่ยช่วงเด็กๆพี่ก็จะส่งไปลงตามหนังสือน่ะค่ะ อย่างแมกกาซีนเค้าก็จะเปิดหน้าที่ให้คนอ่านส่งมา พี่ก็ส่งไปลง ตอนหลังเริ่มอยากได้ตังค์บ้าง ก็ลองส่งแบบที่ได้ตังค์ ก็ได้ค่าเรื่อง 300หรือ500บ้าง อะไรแบบนี้ก็ไปเรื่อยๆ
....
แล้วในส่วนของงานแปลล่ะคะ
งานแปลเนี่ยมันเป็นเรื่องบังเอิญนะ เพราะว่าพี่ไม่ใช่คนที่เก่งภาษาเลยค่ะ มันจะมีอยู่ช่วงนึงที่เวลาเราเขียน บางทีหนังสือที่เราจะค้นคว้าหรือเอาข้อมูลมาฝากผู้อ่านเนี่ยมันไม่มีเป็นภาษาไทย อย่างเวลาเราไปห้องสมุดก็หาไม่เจอ เราต้องการที่จะหาข้อมูลที่เกี่ยวกับหนังในมุมที่เราอยากรู้ แต่มันไม่มีเป็นภาษาไทย มีแต่หนังสือฝรั่ง ก็ต้องอ่าน ต้องแปล ต้องแกะ เราต้องซื้อแมกกาซีนฝรั่งมาอ่าน พอฐานข้อมูลเราเป็นแบบนี้ มันก็ทำให้เราไปเจอข้อมูลตรงนั้นตรงนี้ ไปเจอโน่นเจอนี่ใหม่ๆ เรื่อยๆ ก็หยิบมาเล่า เอามาเขียนในคอลัมน์ของมติชน
...
ยกตัวอย่างเราเขียนเรื่องหนังของทิม เบอร์ตัน แล้ววันนึงเรารู้ว่าทิม เบอร์ตันทำ pocket book ที่เป็นหนังสือของเขาเองด้วย เราก็ไปหาไปได้มาอ่านอะไรแบบนี้ อ่านแล้วรู้สึกชอบก็เลยมาแนะนำในคอลัมน์ของเรา คนอ่านก็อยากอ่าน ถามว่าหาซื้อได้ที่ไหน สำนักพิมพ์เค้าก็เลยถามว่า ทำไมคุณไม่แปลเลยล่ะ จะได้ทำออกมาขาย พี่ไม่เคยคิดว่าพี่จะมาแปลหนังสือเลยนะ แต่พอเราเริ่มทำงานพวกนี้เต็มตัว พี่ก็เริ่มเรียนภาษาเพิ่ม ก็เริ่มเข้าคอร์สอบรมอะไรต่างๆ นานา แต่ว่าช่วงหลังก็ดีขึ้นเยอะ เพราะว่าเราอ่านบ่อยขึ้น แล้วก็การเรียนเพิ่มเติม ก็ทำให้เราคล่องตัวขึ้น
....
พี่’ปรายเป็นคนที่ทำงานเยอะ ทำงานหลากหลาย เป็นนักเขียน นักข่าว นักแปล พี่’ปรายทำงานมาเยอะมากค่ะ
พี่ก็เรื่อยๆ แต่บังเอิญพี่รู้จักคนเยอะ รู้จักพี่ๆที่ทำงาน ก็เจอผู้ร่วมงานด้วยกัน พี่เป็นคนที่ตั้งใจทำงาน คือทำอะไรก็เอาจริง หรือเวลาอยู่ในออฟฟิศ ใครมอบหมายงานให้พี่ทำอะไร พี่ก็จะมีวินัยพอสมควร คนที่ทำงานด้วยก็ไว้ใจว่าเราไม่เหลวไหล เวลาเขาไปทำงานที่ไหน ก็มักจะมาชวนพี่ไปทำงานด้วย ก็จะเป็นแบบนี้ค่ะ
....
งานอดิเรกพี่’ปรายชอบทำอะไรคะ
พี่ชอบดูหนังค่ะ หนังโรง หนังแผ่น หรือหนังที่เรายังไม่ได้ดู พี่ไม่ค่อยชอบดูหนังซ้ำ
....
อยากให้พี่’ปรายพูดถึงหนังสือเรื่องจดหมายรักค่ะ เคยอ่านสัมภาษณ์พี่’ปราย พี่ปรายบอกว่ารักหนังสือเล่มนี้มาก
มันเป็นหนังสือที่รวมอะไรหลายๆอย่างในนั้น เล่มนี้มันจะเป็นงานเขียนในเชิงคอลัมน์ด้วย แต่มีเรื่องราวชีวิตส่วนตัวเราด้วย มันจะเป็นอะไรหลายอย่างรวมกันอยู่ ตั้งแต่เขียนหนังสือมา เรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องชีวิตของพี่ หรือว่าสิ่งต่างๆ ในชีวิตจริงของพี่เยอะที่สุด หรืออาจจะเป็นแง่มุมที่ดีที่สุดที่เราหยิบมาเขียน พี่รู้สึกว่า บางทีมันเป็นแง่มุมส่วนตัวในชีวิตเรา ที่คนอ่าน อ่านแล้วก็ได้ประโยชน์ด้วย ค่อนข้างโอเคนะกับเรื่องจดหมายรัก คนอ่านชอบกันเยอะ
....
อยากให้พี่’ปรายพูดถึงหนังสือเรื่องเด็กชายหอยนางรมหน่อยค่ะ พอดีเพื่อนเป็นแฟนหนังสือของพี่’ปรายและชอบหนังสือเล่มนี้มาก
เด็กชายหอยนางรมเหรอ พี่ว่าทิม เบอร์ตันเค้าหามุมมาเขียนได้น่ารักดี แล้วงานเขียนช่วงนั้นยังไม่ค่อยมีอะไรแบบนี้ เล่มนี้เป็นงานเขียนที่มองโลกในแง่ร้าย แต่ว่ามันก็ยังมีความน่ารักอยู่ในความร้ายนั้นด้วย อย่างในเล่มนี้พี่ก็จะชอบเรื่องเด็กชายสารพิษ เรื่องก็จะมีอยู่ว่า มีเด็กชายคนนึงที่ชอบแต่ของไม่ดี อย่างเช่นว่าจะชอบอากาศเสีย หรือว่าเวลาที่ใครสตาร์ทรถ ก็จะชอบวิ่งไปสูดดมควันรถ หรือจะชอบอยู่ในบ้านที่มืดๆ อุดอู้ แล้ววันนึงก็มีคนมาบอกว่า เธออยู่ในที่ที่อุดอู้เกินไปนะ ก็เอาเด็กคนนี้ไปอยู่ในสวนดอกไม้ เอาไปตากแดด เอาไปอยู่ในที่อากาศบริสุทธิ์ปรากฎว่าเด็กชายสารพิษตาย ก็จะเป็นอีกมุมมองนึง พี่ว่าเค้าหามุมมาเขียนได้น่ารักดี

แล้วนักเขียนในดวงใจพี่’ปรายป็นใครคะ
อย่างยาขอบนี่ก็ใช่นะ อย่างมูราคามินี่ก็ใช่ คุณ’รงค์ วงษ์สวรรค์ พี่ก็ชอบ พี่มีนักเขียนในดวงใจหลายคน
....
พี่’ปรายเป็นคนโรแมนติกใช่มั๊คะ เห็นหนังสือพี่’ปรายก็จะออกแนวหวานๆหลายเล่ม
พี่เหรอ จริงๆ ก็เป็นคนธรรมดา ออกจะห้าวๆ ด้วยซ้ำ ถ้าโรแมนติกก็คงลึกๆมั้ง อาจจะเป็นคนชอบรสหวานๆ ในการอ่านมากกว่า อย่างเวลาเราไปอ่าน เราไปค้นคว้า แล้วเจอข้อมูลอะไรแบบนี้แล้วเรารู้สึกว่าเราชอบจังเลย เราก็อยากที่จะถ่ายทอดหยิบมาเขียนถึง ถ้าถามว่าพี่เป็นคนโรแมนติกมั๊ย ก็ลึกๆ อาจจะมีบ้าง กับบางคนน่ะน่ะ ไม่ได้ประเจิดประเจ้อ
....
คนที่เป็นต้นแบบในการดำเนินชีวิตของพี่’ปรายคือใครคะ
ต้นแบบจริงๆเนี่ย คุณเสถียร จันทิมาธร บรรณาธิการบริหารมติชนสุดสัปดาห์ พี่ก็ชื่นชมเค้าในหลายๆเรื่อง ในด้านการวางตัว วิธีการทำงาน แนวคิดอะไรต่างๆก็ชื่นชม ก็เป็นต้นแบบเป็นแนวทางในชีวิตพี่อยู่เหมือนกัน
..
นิยามคำว่า “นักเขียน”ในความคิดของพี่’ปราย
ก็คงเป็นคนที่ถ่ายทอดมุมมอง ถ่ายทอดความเข้าใจ ชีวิต ความเข้าใจของตัวเองที่มีต่อโลก ต่อชีวิต ค้นหาแง่มุมที่ดี หรือไม่ดีของมันเอามาเสนอหรือแนะนำให้คนอ่านได้รับรู้ แต่ว่าในการถ่ายทอด มันก็เฉือนกันที่ชั้นเชิงในการถ่ายทอดนะ ว่าใครเก่ง ใครไม่เก่ง เหมือนเวลาที่เราทำอาหาร เรามีวัตถุดิบ มีข้าว มีพริก มีกระเทียม มีเหมือนกัน ในตลาดใครจะซื้อก็ได้ แต่ว่าใครจะทำอร่อยเนี่ย คงต้องใช้ฝีมือ พี่ว่างานเขียนก็เหมือนกัน
....
อยากให้พี่’ปรายแนะนำอะไร สำหรับคนที่อยากเป็นนักเขียน
ตอนแรกก็อาจจะต้องอ่านหนังสือเยอะๆหน่อย ลองอ่านดู ก็ลองอ่านว่าเราชอบแบบไหน ไม่ชอบแบบไหน แล้วเวลาที่เราอ่านเจอที่เราชอบหรือไม่ชอบ ก็ลองศึกษานิดนึงว่าที่เราชอบเนี่ย เค้าเขียนออกมายังไง เค้ามีวิธีเขียนแบบไหน ทำไมถึงทำให้เราชอบ หรือไม่ชอบ ถ้าคิดว่าจะเป็นนักเขียนนะ เวลาที่อ่านเราจะต้องวิเคราะห์ไปด้วย
....
พี่’ปรายมองวัฒนรรมการอ่านของบ้านเราว่าเป็นยังไงบ้างคะ
บ้านเราเนี่ยยังชอบอ่านสิ่งที่เป็นบันเทิงอยู่ อย่างหนังสือที่ขายดีที่เป็นวงกว้างหน่อย ก็น่าจะเป็น หนังสือที่ออกแนวสนุกสนาน ออกแนวบันเทิงค่อนข้างเยอะ แต่ว่าช่วงหลังพี่คิดว่าสังคมเราเปิด เป็นสังคมข่าวสาร สังคมความรู้มากขึ้น หนังสือที่ยากๆ ก็เริ่มขายได้เยอะขึ้น หนังสือที่เป็นสาระ คนที่พิมพ์ออกมาก็สามารถเลี้ยงตัวได้ หนังสืออย่างของสำนักพิมพ์โกมลคีมทอง ก็จะเป็นหนังสือที่ออกแนวปรัชญา เมื่อก่อนอาจจะแคบๆ แต่ตอนนี้พี่ว่าก็กว้างขึ้นนะ จำนวนคนอ่านก็เยอะขึ้น เด็กๆ เราอาจจะอ่านอะไรที่กุ๊กกิ๊ก สนุกสนาน แต่ว่าพอเราโตขึ้นเราก็เริ่มมองหาหนังสืออะไรที่มากกว่าเรื่องที่สนุกสนาน ซึ่งหนังสือกลุ่มนี้ก็จะให้คำตอบเราได้
....
อยากให้พี่’ปรายฝากอะไรถึงแฟนๆที่ติดตามผลงานของพี่’ปรายค่ะ
ถ้าเป็นแฟนๆ หนังสือก็ต้องบอกว่า ขอบคุณมากๆ คือบางเรื่องเราเขียนเพราะเราอยากเขียน บางทีเราก็ไม่รู้หรอกว่าคนอ่านจะชอบหรือเปล่า แต่ว่าเมื่อเขียนไปแล้วคนอ่านชอบด้วยเนี่ย มันก็เป็นกำลังใจที่ดีนะ ทำให้เราอยากทำโน่นทำนี่ เวลาพี่ไปยุโรป ไปเที่ยว ไปเจอโน่นไปเจอนี่ ก็อยากหามาเขียนให้คนได้อ่านกัน แล้วสิ่งนี้มันก็เป็นกำลังใจที่สำคัญของพี่
....

แล้วมันเป็นความสุขที่สุดของความเป็นนักเขียนรึเปล่าคะ
พี่ถือว่ามันเป็นรางวัลมากกว่านะ ถ้าเป็นที่สุดก็คงเป็นเวลาที่เราเขียนจบแล้ว เพราะพี่ถือว่ามันจบแล้ว บางทีเราอยากเขียนอะไรซักอย่าง นั่งอยู่นั่นแหละเขียนไม่ได้ แต่ว่าพอเขียนออกมาแล้ว เราก็ชอบมัน อย่างเรื่องสวยสดและงดงาม พี่ก็เก็บมาหลายปีเหมือนกัน อยากเขียนมานานแล้ว ลองเขียนบ้างแล้ว ก็ยังไม่ชอบ แต่วันนึง มันเขียนออกมาได้หมดจดหมดใจเลย พอเขียนจบได้อย่างใจ มันก็โล่งไปเลย เพราะฉะนั้นถ้าถามว่า ความสุขที่สุดของการเป็นนักเขียนคืออะไร ของพี่ก็คงเป็นการเขียนงานอย่างที่เราอยากเขียนให้สำเร็จออกมาได้อย่างใจ เมื่อตีพิมพ์ออกมาแล้ว คนอ่านชอบ ถือว่าเป็นรางวัลค่ะ
........

-บล็อกพี่’ปราย ค่ะ ถ้าสนใจ http://prypansang.blogspot.com/

คอลัมน์คุยนอกรอบ [1] ประพันสาส์น 2546



คอลัมน์คุยนอกรอบ 2546
จากเว็บไซต์สำนักพิมพ์ประพันสาส์น



เมื่อเอ่ยถึงนักเขียนนาม 'ปราย พันแสง ชื่อนี้ยากนักที่คนรักหนังสือจะไม่รู้จัก โดยเฉพาะกลุ่มคนรักหนังสือยุคไฮเทคที่ชื่นชอบการติดต่อสื่อสารในโลกไซเบอร์ เพราะนอกจาก 'ปราย ติดต่อกับกลุ่มผู้อ่านผ่านทางผลงานวรรณกรรม หนังสือแปล และคอลัมน์ประจำในมติชนแล้ว เธอยังมีเวบไซต์ที่ชาวหนังสือรู้จักกันดี เป็นบ้านอันอบอุ่นบนโลกไซเบอร์แห่งนี้ด้วย น่าเสียดายที่เราไม่ได้พบปะพูดคุยกับเธอแบบเห็นหน้าค่าตากัน เพราะงานของ 'ปราย เยอะมาก แต่เธอก็อุตส่าห์เบียดบังเวลายุ่งๆ ของเธอ มาตอบคำถามสัมภาษณ์ทาง e-mail ของเราอย่างเต็มใจ และนี่คือการคุยนอกรอบกันนักเขียนอัธยาศัยน่ารักอีกคนหนึ่ง..'ปราย พันแสง'
....
เล่าประวัติตัวเองให้ฟังคร่าวๆ หน่อยได้ไหมคะ
พี่เกิดที่จังหวัดนครราชสีมาค่ะ นามปากกา 'ปราย พันแสง ย่อมาจาก ทองปราย พันแสง เป็นชื่อที่คุณเสถียร จันทิมาธร บรรณาธิการนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์เป็นคนตั้งให้สมัยที่ทำงานเขียนคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ค่ะ เริ่มต้นงานเขียนสมัยเรียนมัธยมปลาย ด้วยการเขียนกลอนเปล่า เขียนเรื่องสั้น ส่งไปลงนิตยสารสาววัยรุ่นยอดฮิตสมัยนั้น อาทิ เธอกับฉัน, วัยหวาน, ทราย ฯลฯ โดยใช้นามปากกา ว่า "เพชรสี" ซึ่งเป็นชื่อหนังสือและตัวละครตัวหนึ่งในงานเขียนของสุวรรณี สุคนธา นักเขียนคนโปรดในสมัยนั้นค่ะ
....,....
เริ่มต้นทำงานหนังสือจริงจังครั้งแรกช่วงเรียนหนังสือชั้นปีที่สองคณะบริหารธุรกิจ เอกโฆษณามหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยไปสมัครที่สำนักศิษย์สะดือ ประจำกองบรรณาธิการนิตยสารไปยาลใหญ่ เคยทำงานเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ ,เป็นบรรณาธิการนิตยสาร, เป็นคนเขียนคำโฆษณาสิ่งพิมพ์,เป็นหนึ่งในทีมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ของสังกัด บริษัทพ่อดินสอแม่ จำกัด มีผลงานเขียนบทที่ผ่านมาก็อาทิ ละครเฉลิมพระเกียรติเรื่องชุด พ่อ 6 เรื่อง, ละครยาวเรื่อง " รองเท้าแก้ว" "ตาเบบูญ่า" และละครสั้น "เหมือนแม่ครึ่งหนึ่ง...ก็พึงใจ" ค่ะ ปัจจุบัน มีเขียนคอลัมน์ประจำในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, เป็นบรรณาธิการของบริษัทเวิร์คพอยท์พับลิชชิ่งจำกัด และเปิดร้านหนังสือและเครื่องดื่ม ชื่อ "สรรพรส" อยู่ที่ สุขุมวิท 23 (เยื้องโรงแรมไทปัน ใกล้สี่แยกประสานมิตรพลาซ่า) ค่ะ
....
ผลงานสร้างชื่อของ 'ปราย พันแสง คืองานชิ้นไหนคะ แล้วงานที่ประทับใจคือชิ้นไหนคะ
อืมม์ น่าจะเป็นช่วงที่เขียนเรื่องชุด "สวีตหยดออนไลน์" ลงตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในมติชนสุดสัปดาห์มังคะ เพราะช่วงนั้น จะได้รับฟีดแบคจากคนอ่านค่อนข้างเยอะ
....
ส่วนงานที่ประทับใจส่วนตัว พี่ชอบหนังสือ "จดหมายรัก" กับ "โบยบินแล้วไม่หวนคืน" ค่ะ มันเป็นงานที่แสดงตัวตนของเราค่อนข้างเยอะกว่าเล่มอื่นๆ หลายๆ เสียงพูดว่า 'ปรายชอบเขียนแต่เรื่องแนวรักๆ จริงหรือเปล่า ? ก็ชอบนะ เขียนเรื่องพวกนี้แล้วรู้สึกว่าชีวิตคนเรา มันละเมียดละไมดี
...........
ความจริงพี่มีงานเขียนหลากหลายมาก ถ้าใครอ่านคอลัมน์ในมติชนสุดสัปดาห์น่าจะรู้ เพราะอย่างตอนนี้ก็กำลังเขียนเรื่อง ฮารูกิ มูราคามิ ลงตีพิมพ์ติดต่อกันมาเกือบยี่สิบตอนแล้ว ก็มีคนอ่านถามมาเหมือนกัน ว่าเมื่อไหร่จะมีเรื่องสั้นรักๆ ออกมาให้อ่านกันอีก อาจจะเป็นคนอ่านก็ได้นะ บางคนเขาก็ชอบอ่านแต่เรื่องรักๆ ที่พี่เขียน เวลาเขียนอย่างอื่นบ้างก็อาจจะไม่อยากอ่านเท่าไหร่
.....
ทำหลายอย่างทั้งงานเขียนเรื่องสั้น คอลัมน์ บทกวี งานแปล และยังมีบทละครด้วย ความรู้สึกในการทำงานแต่ละอย่างมีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้างคะ
โดยรูปแบบการนำเสนอ ย่อมจะต่างแน่นอน แต่เนื้อหาที่เราต้องการนำเสนอ มันก็เหมือนกันหมด เพราะไม่ว่าจะเขียนอะไร พี่ก็จะเน้นเรื่องความความจริง ความถูกต้อง หรือความดีงามในตัวมนุษย์เป็นพื้น
....
ความสุขที่สุดและความทุกข์ที่สุดในการทำงานของ 'ปราย คืออะไรคะ
ความสุขของพี่ คือการที่เราทำอะไรที่เราชอบออกไปแล้วปรากฏว่ามีคนอื่นๆ เขาชอบในสิ่งที่เราทำด้วย หรือเขียนอะไรออกไปสักอย่าง แล้วมีคนอ่านเขาเห็นคุณค่าความหมาย หรืออาจจะไปมีประโยชน์กับชีวิตเขาด้วย ส่วนความทุกข์ที่สุดของพี่ตอนนี้คือ ทำอย่างไรดี จึงจะคบกับคนที่ดีกับเรามากๆ ได้ทั้งหมด เพราะบางทีเราไม่มีเวลาให้เขาเลย
.....
มีคนบอกมาว่า 'ปราย เป็นนักเขียนที่เก็บตัวมากๆ เลย จริงหรือเปล่าคะ(ก็ปกติเห็นนักเขียนที่มีเวบไซต์เป็นของตัวเอง มักจะมีหน้าหนึ่งที่เป็นประวัติ ผลงาน หรือมีการแนะนำตัวบ้าง แต่ในของ'ปรายไม่เห็นเลยอ่ะค่ะ เห็นแต่เวบบอร์ด ทำไมพี่ไม่ทำไว้ซักหน้านึงละคะ)
พี่หวงความเป็นส่วนตัวนิดนึง ไม่อยากเดินไปไหนมาไหนแล้วมีคนจำได้ เพราะคิดว่านักเขียนไม่จำเป็นต้องเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปมากขนาดนั้น แค่เขียนงานให้เขาอ่านก็พอแล้ว ก็เลือกออกงานบ้าง ตามกาลเทศะที่เหมาะสม อย่างงานการกุศลอะไรอย่างนี้ ก็ช่วยๆ กันไปเท่าที่ช่วยได้ แต่พวกงานสังคมอะไรพวกนี้ พี่ไม่ค่อยถนัดออกงานเท่าไหร่ บางทีก็ขี้เกียจเอาเฉยๆ แค่นั้นแหละ ไม่ได้มีเจตนาเก็บตัวหรืออะไรหรอก
......
ทำงานตั้งหลายอย่าง แล้วแบ่งเวลายังไงคะ
พี่ก็ทำสำนักพิมพ์ ทำนิตยสาร อยู่ที่เวิร์คพอยท์พับลิชชิ่งค่ะ ทำร้านสรรพรสด้วย ก็ไม่ต้องแบ่งเวลาอะไรเท่าไหร่หรอก เพราะเรามีพนักงาน มีคนที่เก่งๆ ดีๆ คนคอยช่วยเราทำงานอยู่ ถ้าเราแบ่งงาน หรือจัดการให้มันดีหน่อย มันก็ไปของมันได้เรื่อยๆ อีกอย่าง งานทุกอย่างที่ทำอยู่ตอนนี้ มันเป็นงานที่เรารักมัน เราชอบมัน มันเป็นชีวิตเราไปแล้ว เรารักงานหนังสือ ก็อยู่กับมันเกือบตลอดเวลา
....
สำหรับงานเขียน ตอนนี้มีเขียนประจำอยู่ที่มติชนสุดสัปดาห์ที่เดียวค่ะ เนื้อหาที่เขียน ก็วนเวียนอยู่ในแวดวงหนัง หนังสือ เป็นส่วนใหญ่ บางครั้งอาจจะมีเรื่องสั้นแทรกเข้ามาบ้าง ส่วนมติชนวันอาทิตย์ เพิ่งขอหยุดก่อนสักพักหนึ่ง เพราะกำลังเตรียมเรื่องชุดใหม่อยู่ สักกลางๆ หรือปลายๆ เดือนหน้าคงจะเริ่มลงตีพิมพ์ได้
...
สำหรับ 'ปราย การเขียนคืออะไร มีความสำคัญอย่างไรคะ (เอ ถามวนหรือเปล่าเนี่ย)
การเขียน คือการถ่ายทอดความคิด สติปัญญา ทัศนะคติ หรือรสนิยมค่ะ
....
สมมติว่ามีคนมาบังคับให้เลือกเขียนงานได้เพียงประเภทเดียวเท่านั้น จะเลือกอะไรดี
คงเขียนคอลัมน์มังคะ เพราะมันเปิดกว้าง อย่างคอลัมน์ของพี่ในมติชนสุดสัปดาห์ บางทีพี่เอาบทกวี เอาเรื่องสั้นไปลงบ้างก็ได้ สุดท้ายแล้ว มีโครงการเขียนอะไรใหม่ๆ หรือกำลังจะมีผลงานใหม่ๆ ออกมาบ้างคะ กำลังจะมีพ็อคเก็ตบุ๊ค 2 เล่มค่ะ เล่มแรกชื่อ "สวยสดและงดงาม" เป็นรวมเรื่องสั้นความรู้สึกสวยๆ ที่พี่เคยเขียนเอาไว้ อีกเล่มชื่อ "ขอบคุณที่โลกนี้มีเธอ" พี่เขียนถึงคนที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับใครต่อใครค่ะ คงจะวางแผงได้ในราวๆ กลางเดือน พฤศจิกายน 2546 นี้ค่ะ
.....
......
ผลงานพ็อคเก็ตบุ๊คของ'ปราย พันแสง
1) สวีตหยดออนไลน์
บันทึกประสบการณ์อินเตอร์เน็ต โศก ซึ้ง น้ำตาหล่น ปนขำกลิ้ง
2) จระเข้ ผึ้ง ตั๊กแตน โจดี้ ฟอสเตอร์ ผู้ชาย ผู้หญิง
เรื่องตลกเสียดสีแสบคัน ว่าด้วยสงครามวาทกรรม ผู้หญิงมาจากดาวศุกร์ ผู้ชายมาจากนรก
3) ฉันเกลียดเธอ ฉันรักเธอ ชีวิต รวมบทกวี ความเรียง บทแปล จากหนังสือพิมพ์มติชนฉบับวันอาทิตย์ 4) As Films Go By หนังในใจ'ปราย พันแสง รวมงานเขียนเกี่ยวกับภาพยนตร์
5) จดหมายรัก (The Love Letters) รวมจดหมายรักคนดังและไม่ดังของโลก รวมถึงจดหมายพิเศษในกล่องข้างใจ
6) พระจันทร์พันดวง ภาคต่อของหนังสือ "ฉันเกลียดเธอ ฉันรักเธอ ชีวิต" รวมบทกวี ความเรียง และบทแปล จากคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์มติชนวันอาทิตย์ งานเขียนบันดาลใจแห่งพระจันทร์ ว่าด้วยเรื่องราวอารมณ์ ความคิด ความรู้สึกนึกฝัน มนุษย์เราล้วนมีด้านมืดและสว่างเหมือนกัน เหมือนจันทร์
ผลงานหนังสือแปล
1) เด็กชายหอยนางรม แปลจาก The Melancholy Death of Oyster Boy & Other Stories เรื่องราว ภาพวาด และจินตนาการพิลึกพิลั่น ที่กลายเป็นหนังสือขายดีของ ทิม เบอร์ตัน
2)ความรักของวงกลมกับสามเหลี่ยม เรื่องราวของวงกลมวงหนึ่งที่เฝ้าค้นหาชิ้นส่วนชีวิตที่ขาดหาย แปลจาก The Missing Piece วรรณกรรมชิ้นเอกของ เชล ซิลเวอร์สเตน ที่เคยแตะตรึงใจนักอ่านนักแสวงหามาแล้วทั่วโลก
3) ดวงตะวันส่องฉาย เรื่องราวของหนุ่มนักดนตรี กับนักเขียนสาว เขาชอบเลี้ยวขวา เธอชอบเลี้ยวซ้าย ชะตากรรมหกคะเมนตีลังกา เมื่อเขาเธอต้องมารักกันในวันหนึ่ง ณ ที่ซึ่งดวงตะวันส่องฉาย แปลจาก A Chance of Sunshine หนังสือเบสต์เซลเลอร์ ของ Jimmy Liao
4)ผู้ชายที่หลงรักดวงจันทร์ อีกครั้งกับเรื่องราวแสนละเอียดอ่อนลึกซึ้งในภาพวาดประณีต แปลจาก Moon,Forgets ของ Jimmy Liao ที่จะนำพาเราไปสู่แก่นแท้ของชีวิตในอีกแง่มุมหนึ่ง ณ โลกซึ่งแปรเปลี่ยนได้ตลอดเวลา เพื่อเราจะได้สำนึกตระหนักอย่างถ่องแท้ว่าความสุขในชีวิตคนเรานั้นเปราะบางเพียงใด
5)เทพนิยายประกายตา มหัศจรรย์โรแมนติคแฟนตาซีของปิแอร์ สาวพราวสน่ห์กับจิตรกรหนุ่มเจ้าของประกายตาวิบไหว เทพนิยายบนบ้านเรือ ร้านหนังสือเก่า และบทเพลงของ เอลลา ฟิตซ์เจอรัลด์ เริ่มต้นขึ้นมาอย่างน่าประทับใจ แปลจาก The Man With The Dancing Eyes หนังสือขายดีของ โซฟี ดาห์ล นางแบบอื้อฉาวจากโฆษณาน้ำหอม Opium ของ Yves Saint Laurent ผลงานหนังสือชุดไตรภาค
1)เรื่องรักใคร่ รวมเรื่องจุ๊กจิ๊กว่าด้วยความรัก หวาน ขม อมหวาน อมเปรี้ยวครบรส ในรูปแบบเรียงความ ภาพยนตร์ ดนตรี เรื่องสั้น บทกวี บทแปล The Missing Piece เอสกิโม และอื่นๆ อีกมากมาย
2)เรื่องอ่านเล่น หลากรสครบเครื่องเรื่องบันเทิงเริงใจ จากคอลัมน์ Lighthearted นิตยสารอิมเมจ,มติชนสุดสัปดาห์,อินเตอร์เน็ต และ ฯลฯ อ่านแล้วก๊าก อ่านแล้วหัวทิ่มก็แล้วแต่ใจใคร ว่ากันตั้งแต่ศาสตร์และศิลป์แห่งการโกหกตอแหล,หนังสือโป๊,แวมไพร์ ฯลฯ
3)เรื่องส่วนตัว (โบยบินแล้วไม่หวนคืน) คัดสรรงานเขียนชุดพิเศษในรอบทศวรรษ เบื้องหลัง เบื้องลึก รวมบทสัมภาษณ์ บันทึกส่วนตัว จดหมาย โปสการ์ด ภาพถ่าย ภาพวาด ฯลฯ

หนังสือเก่า 13 เล่ม,นิตยสารผู้หญิงวันนี้,2545

หนังสือเก่า 13 เล่มที่เราแสนรัก
จากนิตยสารผู้หญิงวันนี้,2545


เออร์เนสต์ เฮมิ่งเวย์ เคยแนะนำเรื่องการเลือกอ่านหนังสือดีๆ เอาไว้ว่า ให้อ่านเฉพาะหนังสือที่ตัวคนเขียนตายไปแล้ว เพื่อจะได้ไม่ต้องตกเป็นเหยื่อของนักวิจารณ์วรรณกรรม ที่มักจะโน้มน้าวให้เราเชื่อหรือไม่เชื่อในความคิดของพวกเขา มากกว่าที่จะปล่อยให้หนังสือเหล่านั้นจะบอกเล่าตัวของมันเองกับนักอ่าน
.....
ขณะที่ "อิตาโล คาลวิโน" นักเขียนชาวคิวบา ที่ไปมีชื่อเสียงในวงการวรรณกรรมอิตาเลี่ยน ก็บอกว่าบรรดาหนังสือคลาสสิคทั้งหลายนั้น มักจะเป็นหนังสือที่ทุกคนชอบพูดว่าเป็นหนังสือที่เคยอ่านซ้ำหลายครั้ง แต่ไม่เคยเลย...ไม่เคยมีใครหรอกจะบอกว่าตัวเอง"กำลังอ่าน" อยู่สักคน
............

ดังนั้น หากจะมีใครสักคนบอกว่า "ฉันกำลังอ่านหนังสือเก่าๆ พวกนี้อยู่นะ" มันก็น่าจะเข้าท่าดี แม้จะไม่มีอะไรมากไปกว่า การหยิบมาอ่านก็เพราะ "อยากอ่าน" แค่นั้น



หนังสือเก่าๆ ที่หยิบมาอ่านอยู่ในช่วงหลายปีมานี้ ก็อาทิ

01

ความใฝ่ฝันแสนงาม,รวมงานกวีนิพนธ์ 2489-2509 ของ จิตร ภูมิศักดิ์

เพิ่งมีโอกาสอ่านหนังสือเล่มนี้เมื่อปีที่แล้วนี่เอง ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องดี เพราะถ้าอ่านก่อนหน้านี้ อาจจะอ่านแล้วไม่ชอบ หรือไม่เข้าใจมากเท่านี้ก็ได้ งานเขียนเหล่านี้จิตร ภูมิศักดิ์ เขียนขึ้นก่อนเราจะเกิด แต่อ่านแล้วยังไม่เชยเลย มีทั้งที่เขียนเอง และบทกวีที่แปลมาของ รัสเซีย จีน เวียดนาม อเมริกา นอกจากนี้ ยังมีการแปลบทกวีของละหุ (มูเซอร์) และบทกวีของชนชาติส่วนน้อย เขมร-สุรินทร์เอาไว้ด้วย เรื่องสำนวนภาษานั้นแทบไม่ต้องพูดถึง อ่านแล้วขนลุกทุกที ว่าคิดคำพวกนี้มาได้อย่างไร
..........
02

ศิลปะแขนงที่ 7 / บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา
เขียนบันทึกเอาไว้ที่หน้าแรกของหนังสือ ว่าซื้อหนังสือเล่มนี้เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2534 หลังจากดูหนังเรื่อง "กะโหลกบางตายช้า กะโหลกหนาตายก่อน" ที่โรงหนังสยาม ช่วงนั้นกำลังสนใจศึกษาเรื่องหนังอย่างจริงจัง รวมบทวิจารณ์ภาพยนตร์ของอาจารย์บุญรักษ์ในหนังสือเล่มนี้ ทำให้เราเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ว่าการศึกษาเรื่องหนังอย่างจริงจังนั้นมันเป็นอย่างไร และแตกต่างจากการวิจารณ์หนังตามหน้าหนังสือที่เราเคยอ่านอย่างไร ในเล่มนี้อาจารย์เขียนถึงหนังที่เราชอบไว้หลายเรื่อง โดยเฉพาะ Dead Poets Society ซึ่งเป็นหนังที่มีอิทธิพลต่อความคิดและการเลือกของเรามากๆ ในยุคนั้น ถือว่าเป็นการเติมเต็มการดูหนังของเราได้อย่างสมบูรณ์แบบ


............
03

American Verse / Edited by Oscar Williams
รวมบทกวีอเมริกันคัดสรรเฉพาะงานชิ้นเอกของกวีอเมริกันในรอบสามร้อยปี เช่นผลงานของ อีมิลี่ ดิคคินสัน, วอลท์ วิทแมน, วอลเลซ สตีเว่น ,เอซรา พาวด์ ฯลฯ หนังสือเล่มนี้ได้มาจากแผงหนังสือเก่าที่ไหนสักแห่ง มีราคาติดไว้ที่ปกหลังว่าราคา 10 บาท คัดเลือกหลายๆ บทในหนังสือเล่มนี้มาแปล คิดว่าอ่านหรือแปลไปตลอดชีวิตคงไม่หมด

............

04

หอมดอกประดวน / รวมเรื่องสั้นของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ (หนุ่ม)
หนังสือเล่มนี้บอกว่าตีพิมพ์เมื่อปี 2511 ได้มาจากแผงหนังสือเก่าหน้ารามฯ เมื่อปี 2532 ช่วงนั้นกำลังบ้าอ่านงานเขียนของ 'รงค์' เลยวิ่งไล่ตามเก็บขนานใหญ่ ในหนังสือมีบรรยายไว้ว่า เมื่อปี 2510 คึกฤทธิ์ ปราโมช กลับจากชมงานแสดงภาพเขียนงานหนึ่ง มาถึงสำนักงานมองเห็นสีดำกับภู่กันวางทิ้งไว้บนโต๊ะของประยูร จรรยาวงษ์ จึงหยิบขึ้นมา และใช้เวลาไม่นาน ภาพวินาที นู้ด หมายเลข 167 ก็ปรากฏบนผนัง และกลายเป็นภาพปกของ หนังสือเล่มนี้ ในเล่ม เป็นสุดยอดเรื่องสั้นดีที่สุดเล่มหนึ่งของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์' โดยเฉพาะ เรื่อง "ผู้หญิงในห้องเลขที่13" เขียนในปี 2499 ก่อนจะมาเขียนเรื่อง "สนิมสร้อย" ในปี 2504

..........
05

เทวนิยาย / ส. พลายน้อย

หนังสือชุดนี้มีสามเล่ม คือสัตว์นิยาย พฤกษนิยาย และ เทวนิยาย เล่มนี้สัตว์นิยายก็เป็นเรื่องสัตว์ในตำนาน ในประวัติศาสตร์ ความเชื่อ ประเพณี ภาษาทั้งหลาย พฤกษนิยายก็เป็นเรื่องพืช เรื่องต้นไม้ดอกไม้
ส่วนเทวนิยายจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับเทพเทวดาโดยตรง ชอบหนังสือเล่มนี้ เพราะให้ความรู้เกี่ยวกับเทพปกรณัมในความเชื่อของชาวตะวันออกได้ละเอียดหลากหลายดี ซึ่งเมื่อเราศึกษามันมากเข้า ก็พบว่ามันมีอะไรเชื่อมโยงกับเทพปกรณัมของกรีกอยู่เหมือนกัน

...........
06

Canto General / Pablo Neruda
ใครที่คิดว่าแคนโตคือบทกวีสามบรรทัด มาเจอแคนโต้ของเนรูด้าในเล่มนี้แล้วจะหนาว เพราะแต่ละบทนั้นยาวเหยียดหลายสิบบรรทัด รวมบทกวีแคนโต้ของพาโบล เนรูดาเล่มนี้ ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1950 ในเมืองเม็กซิโก ซึ่งถือเป็นฉบับพิเศษ ภาพประกอบเป็นฝีมือของจิตรกรดังแห่งยุคนั้นคือ ดิเอโก ริเวรา และ เดวิด อัลฟาโร ซิเควรอส ในขณะ นั้นเนรูดามีอายุได้ 46 ปี บทกวีในเล่มนี้ เป็นเหมือนบันทึกการเดินทาง ที่สะท้อนถึงชีวิตส่วนตัวและการงานในอดีตของเขาเอง เนรูด้าเป็นคนอ่อนไหวมาก โรแมนติคมาก ดังนั้นตำนานชีวิตของเขาที่บันทึกเอาไว้ในหนังสือเล่มนี้จึงสวยงามแพรวพราว รุ่มรวยจินตนาการเป็นอย่างมาก สองปีที่ผ่านมาแปลบทกวีในเล่มนี้เอาไว้หลายบทเหมือนกัน แต่ยังไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไร
อ่านไปก็แปลไปด้วยเพราะอยากจะเข้าใจงาน
อยากเข้าใจชีวิตเขามากกว่า


............
07
คึกฤทธิ์ตอบปัญหาชีวิตประจำวัน
08
โลกกับคน / ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช สองเล่มนี้
เป็นรวมเรื่องจุกจิกจิปาถะของอาจารย์คึกฤทธิ์ เป็นงานของท่านสองเล่มล่าสุดที่เราหยิบมาอ่าน พอดีเพิ่งได้หนังสือมาหนังสือชุดนี้เป็นการตอบปัญญาที่ผู้อ่านทางบ้านเขียนมาถามบ้าง บางทีก็เป็นบันทึกจากรายการวิทยุที่ท่านจัดอยู่ในสมัยนั้น อ่านแล้วได้ความรู้ ได้อารมณ์ขันดีมาก อย่างมีคนเขียนมาถามว่า ทำไมยุงชอบตอมที่หู ท่านก็ตอบว่าความจริงยุงมันก็ตอมทุกที่นั่นแหละตรงแข้งขามันก็ตอม แต่บังเอิญขามันไม่มีหู เราก็เลยไม่ได้ยิน อ่านแล้วก็ขำดี
............
09
จดหมายรักยาขอบ / ยาขอบ
เกี่ยวกับยาขอบนี้ไม่ต้องพูดถึง เพราะชอบงานเขียนของเขามาก สะสมงานเขาไว้เกือบครบแล้วมั้ง แล้วยังเคยเขียนถึง พูดถึงอยู่บ่อยๆ ใครเคยอ่านงานเขียน ของ 'ปราย พันแสง' บ้าง คงพอนึกออกว่าชอบยาขอบตรงไหน อย่างไร ส่วนใครที่ไม่เคยอ่านมาก่อน ขอแนะนำเลยเล่มนี้ "จดหมายรักของยาขอบ" รับรองว่า อ่านแล้วต้องอยากไปหางานเขียนเล่มอื่นๆ ของเขามาอ่านเหมือนกัน
...........
10
ความเข้าใจในศิลปะ / น. ณ ปากน้ำ การอ่านหนังสือเล่มนี้
ก็เหมือนกับการเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์ ผ่านมุมมองความคิดของอาจารย์ น. ณ ปากน้ำ ซึ่งถือว่าเป็นศิลปินและปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของไทยเรา หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่อ่านได้ไม่มีวันจบ เพราะการจะเข้าใจความงาม หรือสุนทรียศาสตร์อย่างแท้จริงนั้น ท่านก็บอกว่า มันไม่ใช่แค่เรื่องฝีมืออย่างเดียว แต่มันยังต้องอาศัยการฝึกฝน อาศัยประสบการณ์ ต้องรู้มากเห็นมาก ต้องอะไรอีกหลายๆ อย่าง เราจึงจะสามารถสร้างสรรค์บางสิ่งบางอย่างที่มีคุณค่าได้ เป็นหนังสือที่สอนให้เราเข้าใจว่าอะไรดี อะไรงามได้อย่างจะแจ้งมาก
สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันของเราได้ตลอดเวลาเป็นหนังสือที่ต้องเอาติดตัวไปด้วยตลอด ถ้าต้องไปอยู่ที่อื่นนานๆ

..........
11
ภาพชีวิตจากนวนิยาย / รัญจวน อินทรกำแหง
หนังสือเล่มนี้หยิบตัวละครจากนิยายมาเขียนถึงได้ละเอียดมาก และมีมุมมองที่ดีมาก เราไม่เพียงรู้จักตัวละครและเรื่องราวจากนิยายเหล่านั้นได้ดีขึ้นแล้ว แต่ยังทำให้เราเข้าใจชีวิตได้มากขึ้นด้วย
...........
12
กวีนิพนธ์ของอ้ายชิง / 'ทวีปวร' แปล "อ้ายชิง"
เป็นกวีชาวจีนที่คนจีนชื่นชอบและยกย่องเป็นอย่างมาก ขนาด พาโบล เนรูดา ยังเคยยกย่องว่าเขาเป็น Prince of the Poets สมัย คอมมิวนิสต์ อ้ายชิงถูกโจมตีว่าเป็นพวกขวาจัด มีการสั่งห้ามเผยแพร่บทกวีของอ้ายชิง คือเขียนด้วยถ้อยคำเรียบง่าย ตรงไปตรงมา แต่ว่าลุ่มลึกและสวยงามมาก และสิ่งที่มีค่ามากในหนังสือเล่มนี้ นอกจากบทกวีแล้ว คำนำที่เขียนอธิบายถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่ เกิดขึ้นกับชีวิตของเขา ซึ่งเป็นที่มาของ บทกวีหลายๆ บท ก็ทำให้ขนลุกได้ทุกครั้งที่อ่าน หรือคำอธิบายเกี่ยวกับทัศนะของกวีนิพนธ์ ของเขาก็มีความเป็นตัวของตัวเองมาก อย่างเช่นเรื่องที่ ใครๆ มักจะพูดว่า บทกวีของใครบางคนได้รับความนิยม
เพราะบทกวีนั้นเขียนถึงสิ่งที่อยู่ในหัวใจของคนเรา แต่อ้ายชิงค้านว่า บทกวีถ้าจะได้รับความนิยม นั่นเป็นเพราะบทกวีเหล่านั้นได้พูดความจริง- - ซึ่งเป็นถ้อยคำจากหัวใจของกวีคนนั้นต่างหาก
.........
13 UTOPIA / Thomas More
ยูโทเปีย เป็นชื่อเมืองในอุดมคติของ
เซอร์ โธมัส มอร์ เป็นเมืองในฝันที่ผู้คนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ไม่ต้องใช้เงิน ไม่มีความจำเป็น ต้องสะสมทรัพย์สมบัติให้มากมาย ทุกคนในสังคมที่ทุกคนทำความดี และมีความสุขในการอยู่ร่วมกัน นี่คือหนังสือที่โรแมนติกชวนฝันที่สุดในโลกแล้ว เป็นหนังสือโบราณที่หยิบมาอ่านเมื่อไหร่ ก็สงสัยอยู่ทุกทีว่า ทุกอย่างในหนังสือมันก็ดูท่าว่าจะเป็นจริงได้ไม่ยากเย็นนัก แต่ทำไมโลกเราจึงเป็นอย่างนั้นไม่ได้สักที