ผู้หญิงเลี้ยวซ้าย ฯนิตยสารสารคดี,กุมภาพันธ์ 2547

ผู้หญิงเลี้ยวซ้าย ผู้ชายเลี้ยวขวา
โดย ปรีดา อัครจันทโชติ
จากนิตยสารสารคดี,ฉบับกุมภาพันธ์ 2547
..................
"ใครคนนั้นที่คุณเฝ้ารอคอย แท้ที่จริงแล้วเขาอยู่ข้างกายคุณมาโดยตลอด"ประโยคข้างต้นนี้เป็นข้อความโปรยโฆษณา แล้วก็ยังเป็นแก่นของภาพยนตร์เรื่อง Turn Left, Turn Right ที่สร้างขึ้นจากหนังสือประกอบภาพชื่อ Xiang zuo zou, Xiang you zou ของนักเขียนชื่อดังชาวไต้หวันอย่าง จิมมี่ (Jimmy Liao) ซึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ มากมาย รวมถึงภาษาไทย โดย ปราย พันแสง ในชื่อภาษาไทยว่า "ดวงตะวันส่องฉาย (ผู้หญิงเลี้ยวซ้าย ผู้ชายเลี้ยวขวา)"

(http://161.200.139.232/cgi-bin/main/deion.asp?barcode=9789749028117)

เป็นธรรมดาของหนังที่สร้างจากหนังสือ ซึ่งต้องดัดแปลง เพิ่มเติม หรือลดทอนรายละเอียดจาก "ภาษาวรรณกรรม" ให้กลายเป็น "ภาษาภาพยนตร์" แต่งานของผู้กำกับชาวฮ่องกงอย่าง Johnnie To และ Wai Ka Fai (ผลงานที่มีชื่อเสียงก่อนหน้านี้ได้แก่ Love On A Diet ที่จับเอาหลิวเต๋อหัวกับเจิ้งซิ่วเหวินมามาแต่งเป็นคู่ตุ้ยนุ้ย) ดูจะยากเป็นทวีคูณ ในเมื่อหนังสือเล่มดังกล่าวเป็นเรื่องราวของตัวละครเพียงสองตัวที่อยู่อพาร์ตเมนต์ติดกัน ทั้งสองมีนิสัยแปลกประหลาดคือ ผู้หญิงเวลาจะไปไหนมักเลี้ยวซ้าย ส่วนผู้ชายมักเลี้ยวขวา โดยไม่มีที่มาที่ไปชัดเจน และไม่มีบทสนทนา

แต่ที่หินที่สุดก็เห็นจะเป็นการต้อง "แปร" ภาพแนวเหนือจริงบางภาพของผู้เขียนให้กลายเป็นภาพบนแผ่นฟิล์ม การวาดภาพที่เต็มไปด้วยรายละเอียดเหนือจริงนี้ถือเป็นจุดเด่นของจิมมี่ที่ปรากฏในผลงานแทบทุกเล่ม สำหรับเรื่อง Turn Left, Turn Right นี้ ผู้เขียนใช้ภาพตัวละครบินอยู่เหนือท้องฟ้าที่เบื้องล่างเต็มไปด้วยถนนคดเคี้ยวนับสิบสายดูน่าเวียนหัว

ภาพนางเอกนั่งอยู่บนคบเพลิงของเทพีเสรีภาพ หรือภาพรถไฟใต้ดินที่ตรงกลางรถไฟกลับมีต้นไม้ในฤดูใบไม้ร่วงผุดขึ้นเป็นทิวแถว ผู้เขียนใช้ภาพต่างๆ เหล่านี้สื่อความหมายในเชิงอ้างว้าง สุขสมหวัง หรือแม้แต่ความรู้สึกแปลกแยกต่อสังคมที่แวดล้อมไปด้วยผู้คนอันหลากหลาย

จิมมี่กล่าวถึงที่มาของเรื่องนี้ว่า เกิดขึ้นจากวันหนึ่งข้างบ้านเขาทำการต่อเติมซ่อมแซมบ้านเสียงดังไม่หยุด
เขาจึงลองตั้งคำถามกับตัวเองว่าเพื่อนบ้านเป็นคนแบบไหน คนแปลกหน้าที่อยู่ใกล้ตัวเขาเองขนาดนี้แท้ที่จริงแล้วเป็นคนยังไง เมื่อนำความคิดนี้มาร้อยเรียงพัฒนาต่อไปจึงกลายเป็นเรื่อง Turn Left, Turn Right ในที่สุด

สำหรับ Turn Left, Turn Right ในฉบับภาพยนตร์ดำเนินไปโดยอาศัยกรุงไทเปเป็นฉาก มี "จอห์น" นักไวโอลินหนุ่ม (แสดงโดย ทาเคชิ คาเนชิโร่) กับ "อีฟ" สาวนักแปลหนังสือ (แสดงโดย จีจี้ เหลียง)
เป็นจุดศูนย์กลาง ทั้งคู่มีชีวิตที่อยู่ใกล้กัน และต่างก็โหยหาอีกฝ่ายมาโดยตลอด หลังจากที่เคยปิ๊งกันตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนเมื่อสิบกว่าปีก่อน โดยที่ไม่รู้เลยว่าแท้ที่จริงอีกฝ่ายนั้นก็ชอบตนและอยู่ห่างจากตนเพียงแค่ระยะกำแพงห้องกั้นขวาง

ทั้งที่อยู่ในเมืองเดียวกัน เดินบนถนนสายเดียวกัน มีชีวิตอยู่ใกล้กันขนาดนี้ แต่ทั้งคู่กลับเหมือนใช้ชีวิตอยู่กันคนละโลก ไทเปเองก็ไม่ต่างจากมหานครอื่นๆ ของโลก ที่แม้จะแออัดไปด้วยผู้คนมากมาย แต่เรากลับรู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้าง และเห็นคนรอบข้างเป็นเพียงคนแปลกหน้า

อย่างไรก็ตาม "ชีวิตคนเราก็มักมีเรื่องบังเอิญมากมาย เส้นขนานสองเส้นย่อมมีวันเข้ามาบรรจบกันสักวัน" เมื่อวันหนึ่งกามเทพเป็นใจให้ทั้งคู่ได้กลับมาพบกัน ได้รำลึกถึงความหลัง ก่อนจะจากกันโดยยังไม่ทันรู้ชื่อของอีกฝ่าย ทั้งสองจึงเรียกชื่อของกันและกันด้วยรหัสประจำตัวนักเรียนสมัยเด็ก (อันที่จริงจนกระทั่งหนังจบแล้ว ผู้ชมก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวละครทั้งสองชื่ออะไร)
กับเบอร์โทรศัพท์ที่เขียนไว้ก่อนจากกันเท่านั้น

"แต่ว่า ชีวิตคนเราก็มักมีเรื่องนอกเหนือการคาดคะเนมากมาย สายป่านว่าวที่กำอยู่ในมือก็อาจขาดผึงได้อย่างไม่รู้ตัว"
เมื่อซาตานกลับเล่นตลกโดยทำให้เบอร์โทรศัพท์ที่ต่างได้มา เปียกฝนลางเลือนจนเดาไม่ได้ว่าเป็นหมายเลขอะไร ความรักที่น่าจะดำเนินไปด้วยดีจึงต้องชะงักลงอีกครั้ง


ฟังดูแบบนี้แล้วหนังเรื่องนี้น่าจะเป็นหนังโรแมนติคที่เดินเรื่องเนิบๆ เพราะตัวละครหลักทั้งสองต่างก็จัดเป็นประเภท "อยู่ในโลกแห่งความโดดเดี่ยว" เหมือนกัน ในฉบับหนังสือของจิมมี่เน้นอารมณ์แบบที่ว่านี้ เราจึงเห็นแต่ภาพทั้งสองใช้ชีวิตอยู่กับตัวเอง หรือไม่ก็หาความสุขจากการให้อาหารนกที่สวนสาธารณะ เล่นกับแมวข้างถนน หรือเด็กทารกในรถเข็นเท่านั้น


ยามที่ทั้งคู่ต้องเผชิญกับผู้คนในเมือง ไม่ว่าจะขณะทำงานหรือเดินทาง ภาพในหนังสือก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ผู้คนที่เดินไปมาขวักไขว่เหล่านั้นต่างก็วุ่นวายกับธุระของตัวเอง ต่างเป็นเสมือนคนแปลกหน้าต่อกัน Turn Left, Turn Right ในฉบับภาพยนตร์เลี่ยงที่จะให้โทนของหนังเป็นแนวทางอ้างว้างเงียบงัน จึงเปลี่ยนให้เรื่องเป็นแนวโรแมนติคคอเมดี้แทน โดยการสร้างตัวละครสำคัญสองตัว ได้แก่ ด็อกเตอร์หู (แสดงโดย เอ็ดมันด์ เฉิน นักแสดงชาวสิงคโปร์) หมอหนุ่มน่ารังเกียจ อดีตรุ่นพี่ในมหาวิทยาลัยของอีฟ กับ จูน (แสดงโดย กวานอิ่ง นักแสดงไต้หวัน) พนักงานสาวในร้านอาหารที่หลงรักจอห์น ทั้งสองเป็นตัวละครที่ถูกเพิ่มขึ้นมาเพื่อสร้างความครื้นเครง และมีหน้าที่ง่ายๆ คือทำทุกวิถีทางไม่ให้ความรักของอีฟกับจอห์นสมหวัง (แน่นอน เราก็เดาได้ว่าท้ายที่สุดแล้ว ทั้งคู่ก็ต้องมาหลงรักกันเองตามสูตร)

ประเด็น "พรหมลิขิต" เป็นอีกจุดที่ภาพยนตร์พยายาม "ขยาย" ขึ้นจากฉบับหนังสือซึ่งไม่ได้เน้นความสำคัญนัก หนังจึงมีพล็อตอมตะนิรันดร์กาล ที่ให้พระเอกนางเอกเคยรู้จักกันมาก่อนตั้งแต่สมัยเด็ก
(เธอขอเบอร์โทรศัพท์เขาไปแต่ก็ดันลืมทิ้งไว้บนรถไฟ ทำให้ทั้งสองหมดโอกาสสร้างความสัมพันธ์ที่คืบหน้า) รวมไปถึงการสร้างความรักระหว่างจูนกับด็อกเตอร์หู และลุงกับป้าเจ้าของอพาร์ตเมนต์ของพระเอกนางเอก นอกจากนี้หนังยังกลัวคนดูจะไม่รู้ว่าหนุ่มสาวทั้งสองมีชีวิตที่ใกล้เคียงกันเพียงใด
จะว่าไปแล้วชีวิตของทั้งคู่ไม่ใช่แค่ใกล้เคียงกัน หากแต่ "สมมาตร" กันอย่างชนิดที่เรียกว่าไม่มีส่วนใดเหลื่อมซ้อนกันเลยต่างหาก

เริ่มตั้งแต่เจ้าของอพาร์ตเมนต์ที่จอห์นอาศัยเป็นป้าแก่ๆ ขณะที่เจ้าของอพาร์ตเมนต์ของอีฟก็เป็นลุงแก่ๆ ทั้งสองมาทวงเงินสองหนุ่มสาวในเวลาเดียวกัน จอห์นกับอีฟต่างป่วยในเวลาเดียวกัน โทรศัพท์ผิดไปที่ร้านอาหารเดียวกัน และสั่งอาหารเหมือนกัน เข้าไปอยู่โรงพยาบาลเดียวกัน มิหนำซ้ำยังเป็นห้องติดกันอีก ทั้งคู่ต่างไปแบกเอาม้าหมุนในสวนสนุกที่เลิกกิจการแล้วมาเป็นอนุสรณ์ความทรงจำถึงอีกฝ่ายเหมือนกัน สิ่งที่ด็อกเตอร์หูปฏิบัติต่ออีฟก็เป็นสิ่งเดียวกับที่จูนปฏิบัติต่อจอห์น ฯลฯ


ด้วยเหตุนี้ เราจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องดูเหตุการณ์ซ้ำๆ กันสองรอบโดยไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น การพยายามสร้างชีวิตที่ "สมมาตร" กันขนาดนี้ทำให้หนังดูน่าเบื่ออย่างช่วยไม่ได้ แต่ในอีกทางหนึ่ง หากจะลองคิดในแง่ดี เหตุการณ์ต่างๆ ที่จอห์นและอีฟต้องเผชิญเหล่านี้ก็เป็นเหมือนบททดสอบว่าทั้งสองมีความอดทนมากพอที่จะรอคอยเนื้อคู่และ "พรหมลิขิต" ได้หรือเปล่า (เช่นเดียวกับในฐานะคนดู
เหตุการณ์น่าเบื่อเหล่านี้ก็เป็นเสมือนบททดสอบว่า เรามีความอดทนมากพอที่จะดูความน่าเบื่อ
เพื่อรอชมฉากจบซึ่งเราคาดหวังว่าน่าจะประทับใจได้หรือเปล่า)

อย่างไรก็ตาม ในบรรดาโครงเรื่องเกี่ยวกับพรหมลิขิตที่พยายามจะยัดเยียดใส่ผู้ชมเหล่านี้ กลับมีคำพูดของจอห์นที่ดูเข้าท่า และชวนให้คิดต่อไปว่าพรหมลิขิตเป็นอย่างนั้นจริงหรือ ในฉากนี้จอห์นพูดกับจูน
สาวที่พยายามตื๊อทั้งที่รู้ว่าเขามีหญิงในดวงใจอยู่แล้วว่า

"พรหมลิขิตคือการที่สองฝ่ายรักกัน หากทั้งสองฝ่ายไม่ได้รักกันก็ไม่ใช่พรหมลิขิต ถ้าฝ่ายหนึ่งได้แต่ไล่ตาม ส่วนอีกฝ่ายได้แต่วิ่งหนีก็ยิ่งไม่ใช่พรหมลิขิต มิหนำซ้ำรังแต่จะทำให้เจ็บปวด"

แม้การดัดแปลง Turn Left, Turn Right ในฉบับหนังจะมีหลายจุดที่ขาดๆ เกินๆ และเปลี่ยนอารมณ์ของหนังสืออย่างไม่น่าให้อภัย แต่ก็มีบางสิ่งที่สมควรชมเชยนอกเหนือจากเสียงไวโอลิน ซึ่งใช้เป็นดนตรีประกอบภาพยนตร์ที่บาดลึกและสะเทือนอารมณ์แล้ว
ในด้านบท ผู้เขียนจับเอาประเด็นเล็กประเด็นน้อยในหนังสือ ที่ดูเหมือนจะกระจัดกระจายไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องมาเชื่อมโยงกัน อาทิเช่น การผูกเรื่องให้อีฟเป็นนักแปลที่แสนจะประทับใจบทกวี "Love at First Sight" ของกวีชาวโปแลนด์ Wislawa Symborska ทั้งที่ในหนังสือฉบับของจิมมี่กล่าวถึงชื่อของกวีและตัวอย่างบทกวีเพียงสั้นๆ ในหน้าแรกก่อนเข้าสู่เนื้อหาเท่านั้นเองการ "แปร" ภาพจากหนังสืออีกจุดหนึ่งที่หนังทำได้น่ารักก็คือ การกล่าวถึงกามเทพที่ผลักหนุ่มสาวคู่นี้เข้าหากัน แต่แล้วซาตานก็กระชากพวกเขาออกจากกันในเวลาไม่นาน

หนังเล่าเรื่องโดยใช้สถานีรถไฟฟ้าเป็นฉาก ก่อนที่กล้องจะแพนไปเห็นป้ายโฆษณาที่ชานชาลาเป็นรูปและข้อความเดียวกับในหนังสือในด้านนักแสดง Turn Left, Turn Right เป็นการกลับมาพบกันอีกครั้งของ ทาเคชิ คาเนชิโร่ กับ จีจี้ เหลียง หลังจากที่ทั้งคู่เคยนำแสดงร่วมกันมาแล้วในภาพยนตร์เรื่อง Tempting Heart บุคลิกของทั้งคู่ดูเหมาะสมดีกับบทบาทที่ได้รับ

ทาเคชิ คาเนชิโร่ ในฉากสีไวโอลิน แววตาของเขา กับเสียงไวโอลินที่ใช้เป็นดนตรีประกอบ ชวนให้รู้สึกถึงความอ้างว้างที่ชีวิตแวดล้อมแต่คนแปลกหน้า และเมื่อนำมาตัดสลับกับฉากที่ จีจี้ ท่องบทกวีสมัยโบราณที่ว่าด้วยหนุ่มสาวสองคนผูกพันกันผ่านสายน้ำ โดยที่ไม่ได้เห็นหน้ากัน ก็ยิ่งทำให้เชื่อได้ว่าบทกวีที่อีฟกล่าวออกมา กับบทเพลงที่จอห์นเล่น แท้ที่จริงแล้วก็คือสารัตถะเดียวกัน


สำหรับปฏิกิริยาของผู้ชมที่เคยอ่านฉบับหนังสือของจิมมี่มาก่อน น่าจะแบ่งได้เป็นสองกระแส คือ หนึ่ง ชอบ เพราะชอบหนังสือของจิมมี่เป็นทุนเดิม ดังนั้นไม่ว่าหนังจะทำออกมาอย่างไรก็ชอบ ส่วนอีกกระแสอาจจะไม่ชอบ
เพราะเห็นว่าสู้ฉบับหนังสือไม่ได้ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีฉากน่าเบื่ออยู่ไม่น้อย หนังเรื่องนี้ก็ถือว่าไม่เลว
ความน่าเบื่อจะลดลงและความประทับใจจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเมื่อผ่านพ้นครึ่งเรื่องไปแล้ว

ส่วนใครที่เป็นแฟนหนังสือของจิมมี่ อย่างน้อยการดูหนังพลางถือหนังสือของจิมมี่ แล้วก็พลิกเปรียบเทียบภาพจากในหนังที่หลายๆ ฉากถ่ายได้สวย และเก็บรายละเอียดได้เหมือนกับในหนังสือมาก ก็ทำให้เพลินไปอีกอย่าง เมื่อดูจบแล้วก็ลองตั้งคำถามกับตัวเองว่า ใครคนนั้นที่คุณเฝ้ารอคอย แท้ที่จริงแล้วเขาอยู่ข้างกายคุณมาโดยตลอดเหมือนอย่างที่หนังต้องการจะบอกจริงหรือเปล่า?

(ข้อมูลที่ใช้บนเว็บ)
- หน้าปก ดีวีดี
http://www.dvdasian.com/cgi-bin/dvdasian/16803.html
- ปราย พันแสง
http://www.praphansarn.com/talk/ttalk89.asp
- หนังสือ ดวงตะวันส่องฉาย ISBN 974-90281-1-2
http://161.200.139.232/cgi-bin/main/deion.asp?barcode=9789749028117
- หนังสือ A Chance of Sunshine by Fu-Bin Liao, Jimmy Liao
http://www.amazon.com/exec/obidos/tg/detail/-/156846133X/qid=1079425645/sr=1-1/ref=sr_1_1/103-5580331-8976613?v=glance&s=books