จากเอสไควร์ ฉบับ ธันวาคม 2551


จากนิตยสารลิปส์,ธันวาคม 2551

ฟรีฟอร์ม-สำนักพิมพ์ดาวรุ่ง 2551,กรุงเทพฯธุรกิจ



สำนักพิมพ์ดาวรุ่งแห่งปี 2551
จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับ 29 ธันวาคม 2551

ต่อไปนี้เป็นการรวบรวม สำนักพิมพ์ดาวรุ่งแห่งปี 2551 ที่สร้างเนื้อสร้างตัวมาจากการพิมพ์หนังสือวัยรุ่นเป็นหลัก จนกระทั่งมีอัตราการเติบโตแต่ละปีชนิดก้าวกระโดดและทำให้เกิดกระแสการอ่านอย่างกว้างขวางในกลุ่มวัยรุ่น
..
หากนับตั้งแต่ปรากฏการณ์กระแสเกาหลีฟีเวอร์เมื่อประมาณ 4-5 ปีก่อน สำนักพิมพ์แจ่มใส ถือว่าแจ้งเกิดได้อย่างน่าอัศจรรย์ เพราะไม่ว่าจะเป็นงานสัปดาห์หนังสือครั้งใดก็ทำเอาบูธแทบแตก หรือแม้กระทั่งตามร้านหนังสือต่างๆ ก็ยังติดอันดับขายดีอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ทำเอาหลายคนสงสัยมาตลอดว่าสำนักพิมพ์แจ่มใสมีอัตราการเติบโตแต่ละปีมากแค่ไหน ถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีตัวเลขออกมาชัดเจนและยังเป็นความลับต่อไป
..........
ศศกร วัฒนาสุทธิวงศ์ ผู้อำนวยการสายงานธุรกิจสิ่งพิมพ์ และบรรณาธิการสำนักพิมพ์แจ่มใส พูดถึงหนังสือขายดีกลุ่มวัยรุ่นว่า "จริงๆ หนังสือกลุ่มวัยรุ่นไม่ได้ระบุประเภทชัดเจนว่าจะต้องเป็นนิยายรักหรือว่าเป็นอะไร คือไม่ว่าจะเป็นกลุ่มวัยรุ่นหรือกลุ่มผู้ใหญ่จะมีรสนิยมในการอ่านแตกต่างกันไปอยู่แล้ว กลุ่มวัยรุ่นเองเขาสามารถมี category ของเขาต่างออกไปได้ คืออาจจะมีกลุ่มวัยรุ่นชอบอ่านนิยายรัก ชอบอ่านนิยายแฟนตาซี ชอบอ่านวรรณกรรมเยาวชนแปล มันมีหลากหลาย เพียงแต่ว่าต้องมองว่าเราถนัดในการทำด้านไหน ลงไปจับให้ถูกกลุ่ม เหมือนกับว่าพยายามตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มนั้นๆ ให้ได้มากที่สุด
............
แต่อย่างสำนักพิมพ์แจ่มใสเองโฟกัสกลุ่มนิยายรักมาตลอด แต่ในความเป็นนิยายรักมันก็มีความหลากหลายในตัวคอนเทนท์หรืออารมณ์ความรู้สึกที่ได้จากการอ่านมากมาย อย่างปีนี้ก็ออกนิยายชุด 'มากกว่ารัก' ซึ่งเป็นนิยายแปลจากไต้หวัน เป็นนิยายรักย้อนยุคจีนโบราณ เพราะที่ผ่านมาพอพูดถึงนิยายจีนคนก็จะนึกถึงเฉพาะนิยายจีนกำลังภายในอย่างเดียว จริงๆ มันมีเรื่องรักด้วยนะ และพอหนังสือออกมาก็ได้รับฟีดแบ็คกลับมาดีมาก คือเราจะแพลนทุกๆ ปีว่าจะมีโปรดักท์ใหม่ๆ และเหมือนกับเป็นการสร้างสีสันให้กลุ่มนักอ่าน นอกจากแนวเดิมๆ ที่เขาเคยอ่านมาแล้วซึ่งก็ยังมีออกมาอย่างต่อเนื่อง ยังจะมีแนวใหม่ๆ มาให้เซอร์ไพรส์ทุกปีด้วย"
.............
การเติบโตของหนังสือกลุ่มวัยรุ่นในปี 2551 เธอมองว่า "นิยายแนว Jamsai Love Series เป็นการเจาะกลุ่มวัยรุ่นและกลุ่มนักอ่านที่อายุน้อยลงเรื่อยๆ พอเริ่มอ่านหนังสือได้สักประถมต้นๆ กำลังจะขึ้นประถมปลาย แต่ก่อนอาจจะอ่านแต่การ์ตูนที่มีแต่รูปภาพก็จะหันมาอ่านที่มีตัวหนังสือมากขึ้น แต่ในปี 2552 ถามว่าเทรนด์เปลี่ยนไหม โดยส่วนตัวมองว่าเทรนด์ของกลุ่มวัยรุ่นบางทีไม่ได้เกิดจากตัวคนอ่านเอง แต่ว่าเกิดจากผู้ผลิตมากกว่าว่าจะสร้างหนังสือในแนวรูปแบบไหนถึงจะโดนใจวัยรุ่น มองว่าคนอ่านจริงๆ ไม่รู้ว่าอยากอ่านอะไร แต่ว่าเราทำออกไปแล้วให้เขาลองอ่านดู มันโดนใจขนาดไหน ถ้าโดนใจปุ๊บก็กลายเป็นเทรนด์ขึ้นมาได้เหมือนกัน
...........
ตอนนี้มองว่าเทรนด์ที่กำลังมาแรงน่าจะเป็นงานของนักเขียนไทยมากกว่า สำนักพิมพ์แจ่มใสนอกจากผลิตงานแล้วยังมีการสนับสนุนงานนักเขียนซึ่งเป็นเวทีเปิดให้กับน้องๆ รุ่นใหม่ แต่ก่อนอาจจะเปิดให้กับคนเขียนนิยายค่อนข้างโต แต่ว่ามาเปิดเวทีสำหรับน้องๆ ซึ่งกำหนดไว้เลยว่าอายุไม่เกิน 20 ปี ทำให้ได้นักเขียนรุ่นใหม่ๆ อายุน้อยมากๆ แต่พิสูจน์ให้เห็นว่ามีคุณภาพได้เหมือนกัน และเป็นการเขียนของคนรุ่นเดียวกันกับคนอ่านเรื่องนี้ด้วย จะโดนใจได้มากกว่าคนเขียนผู้ใหญ่แต่ว่าเขียนให้เด็กอ่าน เพราะน้องๆ ส่วนใหญ่ที่เขียนหนังสือเขาก็เป็นนักอ่านด้วย ฉะนั้นเขาจะรู้ว่าเขาอยากอ่านเรื่องแบบไหน เพื่อนวัยเดียวกับเขาอยากอ่านเรื่องแบบไหน เขาก็จะเขียนเรื่องแบบนั้น"
...........
นอกจากนี้สำนักพิมพ์แจ่มใสยังประกาศตัวอีกว่าเป็น 'สำนักพิมพ์สีขาว' โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อเยาวชน และทำการตลาดรุกเข้าถึงกลุ่มนักอ่านวัยกระเตาะด้วยกลยุทธ์ใหม่ๆ จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมหนังสือถึงขายดิบขายดีและเติบโตชนิดก้าวกระโดด
.........
ส่วนสำนักพิมพ์ที่ระบุชัด ว่ามีคนอ่านเป็นกลุ่มผู้หญิงวัยทำงานหรือวัยผู้ใหญ่ แต่ก็มีแฟนๆ เป็นกลุ่มวัยรุ่นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะหนังสือแปลจากญี่ปุ่น นั่นคือ สำนักพิมพ์บลิส ถือว่ายังคงแรงไม่เคยหยุด โดย ลัดดาวัลย์ รัตนดิลกชัย กรรมการผู้จัดการและบรรณาธิการอำนวยการบริษัท บลิส พับลิชชิ่ง จำกัด กล่าวถึงการเติบโตในปี 2551 ว่า..
.........
"บลิสมองจากความเป็นจริงของสภาพเศรษฐกิจ ว่าอารมณ์และความรู้สึกของผู้บริโภคจะระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น จึงตั้งเป้าแบบคอนเซอร์เวทีฟคือการรักษาระดับของรายได้และกำไรให้ได้เท่ากับ 1-2 ปีที่ผ่านมาก็พอใจแล้ว ซึ่งมองว่าจะมาจากฐานแฟนคลับที่เหนียวแน่นของแบรนด์ ซึ่งในส่วนของแบรนด์ Bliss ที่เน้นสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะในปีที่ผ่านมาก็อยู่ในส่วนที่น่าพอใจ ทั้งการยังรักษาความเป็นที่หนึ่งสำหรับนิยายแปลสำหรับสาวทำงานและรายได้ที่มั่นคงอันเกิดจากการมีแฟนคลับที่เหนียวแน่น ซึ่งเป็นแฟนคลับที่มีกำลังซื้อ และแบรนด์ JBook ในกลุ่มหนังสือสืบสวน ลึกลับ และสยองขวัญจากญี่ปุ่น เรายังเป็นที่หนึ่งและมีรายได้เติบโตขึ้น เพราะมีความหลากหลายของรสชาติมากขึ้น
...........
ช่วงปี 2551 หนังสือแปลสืบสวนจากญี่ปุ่นเติบโตขึ้นถึง 30% เพราะ 2 ปัจจัย คือ หนึ่งซีรีส์เดิมมีการขยายฐานการอ่าน ผู้อ่านใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมาก จากคุณภาพของหนังสือที่บอกต่อกัน และสองมีซีรีส์ใหม่ออก 3 ซีรีส์จากนักเขียนเดิม 1 ซีรีส์ และจากนักเขียนใหม่อีก 2 ซีรีส์ ซึ่งเป็นแนวที่สรรหามาเพื่อกลุ่มวัยรุ่นโดยเฉพาะคือ 'ชุดยะคุโมะ นักสืบวิญญาณ' และชุด 'กระซิบสีเลือด' ซึ่งได้รับการตอบรับดีมาก พอๆ กับ 'คินดะอิจิ' ซึ่งเป็นซีรีส์เด่นๆ ของสำนักพิมพ์ทีเดียว และในปี 2552 เชื่อว่าจากซีรีส์ทั้งของเดิมและใหม่จะทำให้กลุ่มของคนอ่านขยายฐานขึ้นทั้ง new comer ผู้ใหญ่ และnew comer วัยรุ่น เฉพาะกลุ่มนี้น่าจะโตขึ้น 20% เป็นอย่างน้อย"
............
วิกฤติเศรษฐกิจปี 2552 ที่คาดการณ์ว่าจะส่งผลกระทบรุนแรงนั้น เธอมองว่า "ทำให้ผู้อ่านระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ไม่กล้าทดลองซื้อหนังสือที่มีแนวหรือนักเขียน นักแปลใหม่ๆ รวมถึงชะลอหรือลดจำนวนลง ตัดสินใจช้าลง เพราะคิดว่าอย่าเพิ่งใช้จ่ายตอนนี้ดีกว่า เนื่องจากหนังสือไม่ใช่ของเน่าเสียได้ สามารถรอเวลาได้ ฉะนั้นต้องมีโปรโมชั่นเพราะเชื่อว่าใครๆ ก็ต้องทำสำหรับภาวะเช่นนี้
.............
สำนักพิมพ์บลิสมองว่าจะไม่กระทบจากปัจจัยนี้รุนแรงนักเพราะแบรนด์ของเรามีความแข็งแรงด้วยคุณภาพและรสนิยม ซึ่งได้รับการพิสูจน์จากระยะเวลาแล้ว ว่าเราไม่ออกหนังสือมาก แต่เป็นหนังสือที่คัดสรรมาแล้ว ดังนั้นผู้อ่านของบลิสจึงไม่ต้องหนักใจกับการต้องมาคัดสรรอีก และหนังสือของบลิสไม่มีสำนักพิมพ์อื่นทดแทนได้ จากทั้งเรื่องคุณภาพและที่สำคัญคือรสนิยม ที่มีสไตล์ของตัวเองชัดเจน เรียกได้ว่าถ้าผู้อ่านอยากอ่านแนวนี้ต้องคิดถึงเราก่อนเป็นที่แรกอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าเศรษฐกิจไม่ดี ต้องซื้อหนังสือน้อยลง แต่ก็ซื้อของบลิสก่อนอยู่ดี หากคุณชอบแนวสืบสวนลึกลับของญี่ปุ่นหรือนิยายโรแมนติกคอมาดี้จากฝรั่ง" เธอกล่าวปิดท้าย
...........
ส่วนสำนักพิมพ์ที่มีคนอ่านเป็นกลุ่มวัยรุ่น ที่ค่อนข้างมีความคิดเป็นตัวของตัวเองอย่าง สำนักพิมพ์ a book ในเครือของ a day นั้น วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ บรรณาธิการที่ปรึกษาและผู้ก่อตั้งบริษัท เดย์ โพเอทส์ จำกัด เล่าภาพรวมของสำนักพิมพ์ a book ว่า..
...........
"ถ้านับตั้งแต่หนังสือเล่มแรก 'อะเดย์ สตอรี่' ออกมาก็เป็นปีที่ 5 แล้ว แต่เราเพิ่งจะมาทำพอคเก็ตบุ๊คจริงจังมากขึ้นเมื่อ 2-3 ปีนี้เอง เนื่องจากเห็นว่าบิลลิ่งของ a book ดีมากเลย แม้ว่าช่วงเริ่มต้นยังขรุขระหน่อย อาจจะเป็นเพราะว่างานหลักเป็นนิตยสาร แต่ตอนหลังเห็นแนวโน้มดีของพอคเก็ตบุ๊คมากขึ้น โดยเฉพาะถ้าเป็นแฟนของ a book เขาซื้อหมดทุกเล่มเลย
...........
อีกอย่างเราเป็นสำนักพิมพ์เล็กๆ ที่สามารถจัดบุ๊คแฟร์ของตัวเองได้ ยอดขายไม่เลวทีเดียว ด้านธุรกิจถือว่าดีมากๆ คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 25% ของบริษัททั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก 5% อาจจะเป็นเพราะเราสะสมแฟนๆ ไว้ค่อนข้างเยอะทั้งแฟนของ a day, Hamburger และKnock Knock แรกๆ จะเป็นการเอาคอลัมน์มารวมเล่ม แต่หลังๆ เปิดกว้างมากขึ้น อยากทำ edutainment คือให้ความคิดความอ่าน ให้แรงบันดาลใจสร้างสรรค์ แต่อ่านสนุก หลักๆ คนอ่านเป็นกลุ่มของ a day กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัย กลุ่มมัธยม วัยทำงานต้นๆ ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกันกับ a day หลังจากนั้นลองแตกแบรนด์เป็น Knockknock book เน้นกลุ่มมัธยมมากขึ้น"
...........
เขากล่าวอีกว่า "วัยรุ่นเป็นกลุ่มหลักอยู่แล้วล่ะ แต่หนังสือเรามีคนอ่านอยู่ช่วงอายุหนึ่ง พอเขาโตขึ้นเขาก็อยากอ่านอะไรที่มันโตกว่า a day ฉะนั้นสำนักพิมพ์ a book ก็เช่นเดียวกัน กลุ่มคนอ่านจะโตขึ้นเรื่อยๆ สำหรับปี 2552 จะมีสำนักพิมพ์ a day bulletin book พิมพ์หนังสือแนวเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม เนื้อหาจริงจังมากขึ้น รวมถึงอาจจะมีบทวิพากษ์ วิจารณ์ วิเคราะห์ออกมาด้วย พยายามโฟกัสกรุ๊ปมากขึ้น โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ สำนักพิมพ์ knockknock book เน้นกลุ่มมัธยม และสำนักพิมพ์ a book เน้นกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัย ส่วนสำนักพิมพ์ a day bulletin book เน้นกลุ่มวัยเริ่มต้นทำงานที่จริงจังมากขึ้น
...........
อีกงานหนึ่งที่ประสบความสำเร็จมากคือ graphic fiction หรือ graphic novel ยกตัวอย่างงานของ 'ทรงศีล ทิวสมบุญ' เป็นเรื่องเล่าด้วยภาพวาด มันตอบสนองผู้อ่านอายุน้อยได้ดี ปีหน้าจะเน้นแนวนี้มากขึ้น คิดว่างานด้านนี้จะไปได้ดี ยังมีตลาดอีกเยอะมาก ต่างประเทศก็สนใจ ตอนนี้สำนักพิมพ์จากประเทศเบลเยียมสนใจ กำลังอยู่ในขั้นตอนคุยกันอยู่ รวมทั้งทำเอกสารขายไปทางยุโรป ช่วงนี้กำลังติดต่อกับอังกฤษ เบลเยียม และตลาดจีนกับญี่ปุ่นด้วย ผมคิดว่าถ้าหนังสือไทยจะไปต่างประเทศ หนังสือแนว graphic novel น่าจะไปได้ เพราะถ้าเป็นวรรณกรรมเพรียวๆ จะยากมาก"
.............
ด้านการตลาดยังมีการจัดงาน a book fair ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด "ถือว่าได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากไปขายหนังสือแล้วยังมีดนตรีด้วย หนึ่งปีจะมี 8 ครั้ง ออนทัวร์ไปจังหวัดนั้นจังหวัดนี้ นับเป็นช่องทางขายหนังสือที่ดีมากและกิจกรรมต่างๆ ช่วยให้สำนักพิมพ์ขายหนังสือได้ ช่วยให้หายใจหายคอคล่องขึ้น บอกได้ว่าสำนักพิมพ์ a book โตที่สุดในบริษัท มันอาจจะถึงเวลาเพราะสะสมอะไรมานานพอสมควร โดยปี 2551 มีจำนวน 50-60 ปก จริงๆ ธุรกิจนี้มันลงทุนสูงกว่าที่คนคิดและมันรีเทิร์นช้า ฉะนั้นเวลาจะพิมพ์ต้องคิดให้ละเอียด ต้องพิมพ์หนังสือดีๆ และขายได้ดีด้วย
............
นอกจากนี้ปี 2552 จะมี a day TV ออกอากาศทางช่องไทยพีบีเอส ถือเป็นชาแนลใหม่และเป็นมีเดียใหม่สำหรับเรา เพราะเราไม่เคยละเลย new media รวมทั้งอินเทอร์เน็ต มือถือ เทคโนโลยีที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ถึงปีหน้าเศรษฐกิจจะเผาจริงหนักกว่าที่คิด แต่เราเหมือนสะสมเสบียงอาหารไว้มากพอสมควร ยิ่งเศรษฐกิจตก คนเครียดขึ้น ว่างขึ้น ยิ่งทำให้คนอยากเสพอะไรที่สบายใจมากขึ้น สื่อที่ให้การผ่อนคลายจะขายได้ดีทั้งเพลง ภาพยนตร์ และหนังสือ มั่นใจในแฟนประจำของเราพอสมควร และนับเป็นเรื่องโชคดีอย่างยิ่งที่ a day มาถึงปีที่ 8 มันเหมือนสะสมต้นทุนพอสมควร เมื่อมันผลิดอกออกผลมันก็เก็บเกี่ยวได้สบาย เหมือนกับต้นไม้มันโตพอดี คิดว่าปีหน้าไม่กระทบ"
..............
อีกสำนักพิมพ์หนึ่งที่ถือว่ามีความโดดเด่น ในแง่ของการเป็นสำนักพิมพ์ใหม่และเน้นกลุ่มคนอ่านเป็นนักศึกษาคือ สำนักพิมพ์ฟรีฟอร์ม โดยเริ่มต้นจากการตีพิมพ์บทความของ 'ปราย พันแสง ผู้ก่อตั้งนิตยสารและสำนักพิมพ์ฟรีฟอร์ม จากนั้นมีวรรณกรรมแปลตามออกมาอีกหลายเล่ม
.............
'ปราย พันแสง กล่าวถึงภาพรวมของสำนักพิมพ์ว่า "ตลอดปี 2551 สำนักพิมพ์ฟรีฟอร์มมีพอคเก็ตบุ๊คตีพิมพ์ออกวางจำหน่ายทั้งหมดประมาณ 20 ปก ยอดขายถือว่าใช้ได้ ทราบผลว่าไม่ขาดทุนแน่ๆ 14 ปก และมีบางเล่มตีพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง อย่างเล่ม 'ร้านชำสำหรับคนอยากตาย' หรือ 'ความลับในความรัก' ของคุณจิระนันท์ พิตรปรีชา แต่บางเล่มก็ต้องลุ้นนิดหน่อย อย่างรวมเรื่องสั้นของนักเขียนไทยที่เราพิมพ์ออกมาสองเล่ม ยอดขายค่อนข้างช้านิดนึง แต่เราก็ทำใจตั้งแต่ก่อนพิมพ์แล้ว เพราะไม่อยากพิมพ์แต่เรื่องแปลอย่างเดียว อยากพิมพ์วรรณกรรมไทยควบคู่กันไปด้วย ตรงนี้เป็นนโยบายของฟรีฟอร์มเลย ส่วนบางเล่มที่เหลือยังไม่ทราบผลแน่นอน เพราะบางเล่มเพิ่งพิมพ์เสร็จ เพิ่งวางในร้านหนังสือ แต่โดยรวมคิดว่าปี 2551 เอาตัวรอดได้
..............
ส่วนกลุ่มคนอ่านของฟรีฟอร์มช่วงแรกๆ จะเป็นกลุ่มคนอ่านหนังสือของ 'ปราย พันแสง อยู่แล้วซึ่งจากงานสัปดาห์หนังสือหลายๆ ครั้งพบว่า 60-70% เป็นนักเรียน นักศึกษา เป็นวัยรุ่น หรือคนหนุ่มสาวที่เพิ่งเริ่มทำงานไม่นานนัก แต่ช่วงหลังฟรีฟอร์มได้พิมพ์งานของคุณจิระนันท์ พิตรปรีชา พิมพ์งานแปลของคุณมนันยา ซึ่งนักเขียนนักแปลทั้งสองท่านนี้ก็มีแฟนประจำเหนียวแน่นมาก แล้วก็เป็นคนอ่านหลายรุ่นหลายวัยมาก มีทั้งวัยรุ่น มีทั้งผู้ใหญ่ กลุ่มคนอ่านกว้างมาก ตอนนี้เลยกลายเป็นว่ากลุ่มคนอ่านฟรีฟอร์มกว้างขึ้นกว่าเดิมเยอะ ผู้ใหญ่บางคนอ่านงานแปลของคุณจิระนันท์แล้วก็อยากลองอ่านนิตยสารฟรีฟอร์มด้วย
...........
อย่างผู้อ่านวัยรุ่นหน้าใหม่ๆ ที่อ่านนิตยสารฟรีฟอร์มหรือเคยอ่านหนังสือของสำนักพิมพ์เรามาตลอดอยู่แล้ว เมื่อได้มาอ่านงานของนักเขียนนักแปลรุ่นใหญ่มืออาชีพอย่างนี้ เขาก็ชอบกัน แต่แนวทางหลักในการทำงานของสำนักพิมพ์ในการพิจารณาว่าจะพิมพ์อะไรออกมา ยังจะยึดผู้อ่านหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่เป็นหลัก"
............
เธอบอกต่อว่า "คิดว่าฟรีฟอร์มคงไม่ได้สถาปนาตัวเองเป็นพวกนักคิดนักเขียน คือไม่ใช่ Intellectual ไม่ใช่กลุ่มคนที่คิดนอกกรอบ ไม่ใช่ positive thinker ไม่ได้เป็นคนสีเขียว ไม่ได้บ้าแฟชั่น ไม่ได้บ้าช็อปปิ้ง ไม่ได้มีความโดดเด่นอย่างนั้น ถ้าเป็นคนคนหนึ่งฟรีฟอร์มก็คงเป็นคนธรรมดาที่พอจะรู้ดีรู้ชั่วอยู่บ้าง เป็นคนชอบลองของใหม่ ใช้เงินเป็น บางครั้งอาจจะลองผิดลองถูกบ้าง แต่เราก็เปิดตาเปิดใจ เวลานำเสนอในหนังสือที่พิมพ์ออกไป นัยระหว่างบรรทัดที่เราพยายามแฝงไปด้วยเสมอก็คืออยากให้คนอ่านของเราใช้ชีวิตบนโลกใบนี้ให้เป็น ใช้ให้คุ้มค่า และใช้อย่างรื่นรมย์ตามอัตภาพ
.............
อย่างที่ผ่านมาเราพิมพ์เรื่องแปลก็เฉพาะเรื่องแปลที่เราอ่านแล้วชอบ เลยซื้อลิขสิทธิ์มาแปล ซึ่งที่ซื้อลิขสิทธิ์ไว้แล้วก็หลายเล่ม เท่าที่มีตอนนี้คงพิมพ์ออกมาได้เรื่อยๆ จนถึงกลางปี 2552 ส่วนอีกครึ่งปีที่เหลือกำลังอ่านๆ อยู่ ว่าเล่มไหนสนุกบ้าง จะได้ซื้อมาแปลอีก ส่วนงานที่ไม่ใช่งานแปลก็ตั้งใจไว้เหมือนเดิม คือคัดเลือกผลงานของนักเขียนไทยที่เราชอบๆ มาพิมพ์สักสองสามเล่มด้วย"
.............
วิกฤติเศรษฐกิจปี 2552 ซึ่งหลายสำนักคาดการณ์ว่าจะหนักหนาสาหัสนั้น จะส่งผลกระทบกับตลาดหนังสือวัยรุ่นหรือไม่ เธอตอบว่า "ตรงนี้ไม่ทราบเลยค่ะ" พร้อมกับให้ทรรศนะว่า "แต่ถ้าคนมีเงินในกระเป๋าน้อยลง ถ้าจะซื้อหนังสืออะไร เขาก็คงคิดหน้าคิดหลังมากขึ้น แต่ถ้าเป็นเรื่องที่เราอยากอ่านจริงๆ หรือหนังสือมันน่าสนใจจริงๆ ถึงใครจะปิดสนามบินหรือใครจะมาเป็นนายกฯ คนต่อไป หรือตลาดหุ้นจะตกไปกี่จุด ดิฉันคงไม่นำเรื่องเหล่านี้มาเป็นเหตุผลในการตัดสินใจเลือกซื้อหนังสืออ่านของตัวเองหรอก"
..........
เชื่อเหลือเกินว่าแม้เศรษฐกิจปี 2552 จะย่ำแย่หนักหนาสาหัสปางตาย แต่หนังสือกลุ่มวัยรุ่นจะยังคงเป็นตลาดที่หวานหอมของหลายๆ สำนักพิมพ์แน่นอน 0
.........
: ปีกนกสีขาว