ห้องสมุดเนียลสัน เฮส์,นิตยสารสุดสัปดาห์ 2550




ห้องสมุดเนียลสัน เฮส์
ทัชมาฮาลเล็กๆ สำหรับคนรักหนังสือ
ที่ชอบในกรุงเทพฯ ของ’ปราย พันแสง
จากนิตยสารสุดสัปดาห์,2550
..........
ห้องสมุดเนียลสัน เฮส์ น่าจะเป็นห้องสมุดที่สวยที่สุดในกรุงเทพฯ หรืออาจจะสวยที่สุดในประเทศไทย นอกจากสวยงามด้วยสถาปัตยกรรมการสร้างอาคารเป็นแบบเดียวกับพระที่นั่งอนันตสมาคม ออกแบบโดยมาริโอ ตามานโย(Mario Tamango) สถาปนิกชาวอิตาเลียนที่เข้ามารับราชการในบ้านเราสมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว จุดเริ่มและแรงบันดาลใจในการก่อสร้างอาคารนี้ก็สวยงามมากเช่นกัน เพราะอาคารสร้างขึ้นจากความรักที่คุณหมอเฮส์ มีต่อคุณเจนนี่ ภรรยาของท่าน สถานที่แห่งนี้ถือว่าทัชมาฮาลสำหรับคนรักหนังสือในเมืองไทยนั่นเอง

ที่น่าประทับใจอีกอย่างคือ ข้างในห้องสมุดยังมีห้องแสดงงานศิลปะ “โรทันดา แกลเลอรี่” มีผลงานที่ได้รับการคัดสรรอย่างดีมาจัดแสดงอยู่ตลอดปี บางครั้งก็มีศิลปินหรือนักเขียนมานั่งพูดคุยอย่างเป็นกันเองด้วย ความประทับใจส่วนตัวเกี่ยวกับห้องสมุดนี้ เคยนำมาเขียนเป็นฉากในเรื่องสั้นเรื่องหนึ่ง ชื่อเรื่อง “ประกายตาหางนกยูง” เพิ่งรวมอยู่ในพ็อคเก็ตบุ๊คเล่มใหม่ล่าสุดของพี่ เรื่องสั้นเรื่องนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ต่างรักต่างรุ่นของผู้ชายผู้หญิงสองสามคู่ที่ลุ่มหลงอยู่ในโลกแห่งการอ่านอย่างมีความสุข เขียนขึ้นมาเพราะอยากให้คนอ่านได้รับรู้ว่า โลกการอ่านนั้นมันสวยงาม และน่ารักมาก


...........
ห้องสมุดเนียลสัน เฮส์
Neilson Hays Library
ที่อยู่ 195 ถ.สุรวงศ์ แขวงสุรวงศ์ บางรัก กรุงเทพฯ โทร 0-2233-1731
ตั้งอยู่ในพื้นที่ 1 ไร่เศษ ริมถนนสุรวงศ์ เขตบางรัก กทม.เป็นห้องสมุดที่มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจไม่น้อย ก่อตั้งในสมัยหมอบรัดเลย์ หมอสมิธ ราวปี พ.ศ.2411 โดยภรรยาของหมอทั้งสอง ทำเป็นบาร์ซ่าร์เพื่อหาเงินมาซื้อหนังสือเพิ่มเติมแล้วแลกกันอ่าน และตั้งเป็น "The Bangkok Ladies Library Association" โดยไม่หวังผลกำไรจากนั้นห้องสมุดก็ร่อนเร่ไปอาศัยสถานที่ต่างๆอยู่ระยะหนึ่งต่อมามีแหม่มชาวเดนมาร์ก ชื่อ Jennie Neilson Hays มาเป็นกรรมการอยู่ 25 ปี จนเสียชีวิต

พ.ศ.2464 สามีของเธอ คือ หมอ T.Heyward Hays จึงได้สร้างตึกหลังนี้ขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ภรรยา ตึกห้องสมุดเนลสัน เฮย์ หลังนี้ เป็นตึกชั้นเดียวมีรูปทรงสถาปัตยกรรมแบบยุโรบโบราณ ประกอบด้วยหลังคาโค้งทรงกลม(Dome) หัวเสาทุกต้นสลักลวดลายสวยงาม ใต้ตัวตึกเป็นบ่อน้ำ เพื่อให้ความเย็นภายในอาคาร ปัจจุบันห้องสมุดมีหนังสือให้บริการมากกว่า 2 หมื่นเล่ม เป็นหนังสือภาษาอังกฤษทั้งหมดทั้งเก่าและใหม่ ให้บริการสำหรับสมาชิกไม่จำกัดชาติ ภาษา อายุ [ภาพถ่ายและข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ www.thaitambon.com]