คอลัมน์คุยนอกรอบ [2] ประพันสาส์น 2549

คอลัมน์คุยนอกรอบ
สัมภาษณ์โดย มีนาภา
จากเว็บไซต์สำนักพิมพ์ประพันสาส์น


‘ปราย พันแสง :
“งานเขียนเป็นสิ่งที่พี่ทำได้และพี่ก็อยู่กับมันแล้วมีความสุข”



บทสัมภาษณ์พี่’ปราย พันแสงในแง่มุมของการทำงาน ชีวิตส่วนตัว และตัวตนของความเป็น’ปราย พันแสง ผู้หญิงเก่งมากความสามารถ ที่เป็นทั้งนักเขียน นักข่าว และนักแปล ผลงานหลายเล่มที่ผ่านมาของพี่’ปรายล้วนได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากผู้อ่าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจดหมายรัก (The Love Letters),เด็กชายหอยนางรม,ความรักของวงกลมกับสามเหลี่ยม,ดวงตะวันส่องฉาย,เรื่องรักใคร่ ,สวยสดแลงดงาม และอื่นๆอีกหลายเล่ม สิ่งเหล่านี้สามารถการันตีได้ว่าพี่’ปรายเป็นคนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จบนเส้นทางการเป็นนักเขียน และยังเป็นนักเขียนที่อยู่ในดวงใจของใครหลายคน

ตอนนี้พี่’ปรายทำอะไรอยู่บ้างคะ
ตอนนี้พี่ช่วยน้องทำนิตยสาร Free Form ค่ะ แล้วพี่ก็กำลังเปิดสำนักพิมพ์ของตัวเอง เพราะว่างานบางเล่ม อาจจะไม่มีใครอยากพิมพ์ให้เรา หรือว่าบางเล่มเราก็ไม่อยากให้คนอื่นพิมพ์ เพราะว่ามันอาจจะขายไม่ได้ อย่างมีอยู่ช่วงหนึ่ง พี่ชอบอ่านงานเขียนของฮารูกิ มูราคามิ เราก็อยากรู้อยากเห็นเรื่องราว เกร็ดและชีวิตการเป็นนักเขียนของเค้า ก็พยายามไปค้นหาข้อมูล ซึ่งก็ทำให้พี่ได้ค้นพบอะไรเยอะ เคยเอาเรื่องของเขามาเขียนลงเป็นตอนๆ ในมติชนสุดสัปดาห์ ยี่สิบกว่าตอน ช่วงนั้น คุณภาณี ลอยเกตุ บรรณาธิการสำนักพิมพ์มติชน เคยขอเอาไปรวมเล่ม แต่ตอนนั้น มูราคามิยังไม่เป็นที่รู้จักในบ้านเราเหมือนตอนนี้ พี่ก็คิดว่า แค่ประวัติคงขายยาก ก็เลยไม่ได้ให้ไปรวมเล่ม แต่ตอนนี้ พี่รู้สึกว่าคนรู้จักมูราคามิกว้างขึ้น พี่ก็เลยอยากเอามาพิมพ์อีก พิมพ์เองค่ะ เพราะถึงขายไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ถือว่าเป็นการรวบรวมงานตัวเองไว้ให้เป็นที่เป็นทาง
.....

รู้สึกว่างานของมูราคามิเป็นงานที่อ่านยาก?
ก็จะมีบางเล่มเหมือนกันที่อ่านยาก แต่ถ้าเราเริ่มต้นอ่านงานของเขาที่อ่านง่ายหน่อย อย่างเช่นเรื่อง Norwegian Wood หรือ ชื่อไทยด้วยรัก ความตาย หัวใจสลาย ก็พออ่านได้ น่าจะเป็นการเริ่มต้นที่ดี แต่ถ้าเราไปเริ่มต้นที่เล่มยากๆ เช่น A Wild Sheep Chase หรือ แกะรอย แกะดาว มันอ่านยาก ก็คงลำบากเหมือนกัน
....
ตอนนี้พี่’ปรายกำลังตั้งสำนักพิมพ์ของตัวเอง งานเขียนของพี่’ปรายก็ยังคงเรื่อยๆอยู่?
เรื่องงานเขียนคอลัมน์ตอนนี้พี่ยังไม่ได้เริ่มน่ะค่ะ ก็คงอีกซักพักนึงค่ะ พี่รู้สึกว่าตอนนี้ยังไม่อยากทำอะไรที่มันยาวๆ ซ้ำๆ เพราะว่าพี่กลับไปทำงานประจำมา 2 ปีแล้ว งานประจำทำให้พี่รู้สึกว่าตัวเองไปไหนไม่ได้เลย แล้วพอออกมาก็รู้สึกว่าอยากจะอิสระ สักพักนึง อย่างนิตยสาร Free Form เนี่ย พี่ก็จะช่วยน้องทำบางเล่ม
.....
สำหรับนิตยสาร Free Form พี่’ปราย เป็นบรรณาธิการรึเปล่าคะ
พี่ก็ถือว่าเป็นบรรณาธิการค่ะ ช่วยดูแนวทางหนังสือ เรื่องการบริหารตัวเลขอะไรต่างๆ ก็ช่วยน้องทำอยู่เบื้องหลัง เขียนคอลัมน์นิดหน่อยใน Free Form ค่ะ








อยากให้พี่’ปรายพูดถึงร้านสรรพรสหน่อย ร้านนี้น่ารักมากเลยค่ะ
ร้านนี้เปิดมาสามปีกว่าแล้ว พี่ก็จะดูแลร้านนี้ในช่วงปีแรก ช่วงที่เปิดร้านพี่ก็จะดูแลความเรียบร้อยน่ะค่ะ ว่าร้านควรที่จะมีอะไร หรือไม่มีอะไร แต่ในด้านการดำเนินการจริงๆ พี่ก็จะมีน้องสองสามคนที่ทำและดูแลอยู่ ส่วนก็จะช่วยดูในเรื่องของกิจกรรมที่ทางร้านจัดขึ้นบ้างนิดหน่อย แล้วก็ไม่ได้ดูแลเลย ในช่วงทำงานประจำ แต่ตอนนี้ว่างแล้ว ก็อยากกลับมาทำอะไรๆ ที่ร้านมากขึ้น แต่คงสักตุลาคม ปีนี้ค่ะ ถึงจะเริ่มได้ เมื่อก่อนที่ร้านก็จะมีจัดกิจกรรม book club ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มานั่งคุยกันเรื่องหนังสือทุกอาทิตย์ พอพี่ไม่ได้อยู่กิจกรรมนี้ก็เลยหายไป ไม่มีคนทำต่อ พี่อยากกลับมาเริ่มอีก เพราะเป็นกิจกรรมที่ดี
....
แล้วในส่วนของเวปไซต์ล่ะคะ bookcyber
สำหรับ bookcyber ก็จะมีพี่อีกคนที่เขาทำอยู่ คือเค้าก็จะทำอยู่ตั้งแต่แรกแล้วล่ะค่ะ แล้วพี่ก็จะเป็นคนที่ไปแจม แต่ช่วงหลังพี่ไม่ได้เข้าไป เค้าก็คุยกันเอง bookcyber เป็นเรื่องอะไรที่สบายๆ
....
แล้วในส่วนงานหนังสือของพี่’ปรายล่ะคะ
ตอนนี้พี่กำลังทำในส่วนบรรณาธิการหนังสือของ Jimmy Liao ให้กับนานมีค่ะ พอดีนานมีเค้าซื้อลิขสิทธิ์หนังสือของ Jimmy Liao มาหลายเล่ม ตอนนี้ก็อยู่ที่พี่ 6 เล่ม มีคนแปลมาจากภาษาจีน แล้วพี่ก็เป็นบรรณาธิการคอยตรวจแก้ภาษาไทยอีกที
....

ช่วงนี้พี่’ปรายไม่ได้ทำงานประจำใช่มั๊ยคะ
ไม่ได้ทำเลย ต่อไปนี้ก็คงไม่ทำแล้วล่ะค่ะ ถ้าทำก็คงเป็นสำนักพิมพ์ของตัวเองค่ะ ก็คงเรื่อยๆไม่ได้ซีเรียสอะไรมาก

พี่’ปรายคาดว่าจะเปิดตัวสำนักพิมพ์ของพี่’ปรายเมื่อไหร่คะ
งานสัปดาห์หนังสือที่ใกล้จะถึงนี้ ก็น่าจะได้ออกมาซัก2เล่มค่ะ
....
เป็นผลงานของพี่’ปรายเองรึเปล่าคะ
ค่ะ เป็นผลงานของพี่เอง อาจจะใช้ชื่อสำนักพิมพ์สับปะรด หรือชื่ออื่น แต่คงประมาณนี้ค่ะ
.....
อาชีพนักเขียนเป็นอาชีพที่พี่’ปรายรักและใฝ่ฝัน?
ก็เรียกว่าเป็นอาชีพที่พี่ใฝ่ฝันนะ แต่ถ้าถาม ณ เวลานี้ พี่ก็ว่าตัวเองมาไกลเกินที่ฝันไว้มากแล้วล่ะค่ะ อย่างตอนที่พี่กลับมาทำงานประจำ ทำงานสำนักพิมพ์อีกครั้ง มันเหมือนเป็นสิ่งที่พี่ทำได้ พี่ก็อยู่กับมันแล้วมีความสุข แต่ถ้าถามว่าตอนนี้พี่ฝันอะไรมั้ย ก็คงไม่ค่อยแล้วล่ะค่ะ เพราะพี่รู้สึกว่ามันก็มาเรื่อยๆ เราทำ เราชอบอะไร เรารักการเขียน เราก็ทำไปเรื่อยๆ ก็ไม่ได้วางเป้าว่าเราจะต้องไปถึงตรงไหน พอเราทำงานเขียนซักพักนึง เราก็มีงานเขียนของตัวเอง ก็อยากทำสำนักพิมพ์ เรามีตังค์เราจะพิมพ์เมื่อไหร่ก็ได้ ถึงขายไม่ได้เราก็โอเค ก็ยังพอมีอะไรทำอยู่ พี่ก็ไปเรื่อยๆมากกว่า แต่สำหรับในแง่ธุรกิจ มันก็อาจจะต้องมีแผนคร่าวๆว่า ปีนี้พี่จะออกหนังสือซักกี่เล่ม อะไรบ้าง เช่นช่วงนี้พี่ควรที่จะมีหนังสือของพี่ออกมากี่เล่ม แต่ช่วงนี้พี่มีงานของนานมี ก็เลยรู้สึกว่าหนังสือของเราจะออกเมื่อไหร่ก็ได้
....
แล้วเวลาที่พี่’ปรายเขียนหนังสือไม่ออกพี่’ปรายมีวิธีในการสร้างบรรยากาศในการเขียนยังไงบ้างคะ
พี่ก็ไปเที่ยวบ้าง ไปดูนิทรรศการบ้าง ก็ดีที่เราไปโน่นไปนี่ ไปดูงานแสดงศิลปะ ไปดูอะไรแบบนี้พี่ว่ามันเปิดหูเปิดตาเรามากเลยนะ อย่างที่พี่ทำFree Form พี่อยากทำให้หนังสือเล่มนี้เป็นไกด์ที่จะแนะนำนิทรรศการดีๆ และให้ความรู้เกี่ยวกับนิทรรศการ เป็นคู่มือให้เราศึกษา อยากให้คนสนใจเรื่องแบบนี้เยอะๆ เพราะมันมีประโยชน์กับชีวิต และค่าใช้จ่ายในการดูนิทรรศการเนี่ยมันก็ถูกมากเลย เสียแค่ค่ารถไฟฟ้าไปกลับ แล้วบางทีก็ใช้เงินไม่ถึง 200 แต่เราก็ได้อะไรกลับมาเยอะแยะ ได้รับแรงบันดาลใจต่างๆ อย่างตอนนี้มีนิทรรศการของ Vivienne Westwood ซึ่งเค้าเป็นดีไซเนอร์ชาวอังกฤษ เค้าเป็นคนที่อ่านหนังสือเยอะ อ่านวรรณกรรมคลาสสิคเยอะมาก แล้วบางทีเค้าก็ตั้งชื่อชุดเสื้อผ้าของตัวเองเป็นชื่อนักเขียน บางชุดก็เป็นชื่อนิยายของ อกาธา คริสตี้ Vivienne เนี่ยเค้าเป็นคนที่ทำอะไรหลายอย่างมาก สามีเค้าก็เป็นผู้จัดการวงพั้งค์ วงร็อค เค้าก็จะออกแบบเสื้อผ้าให้กับนักดนตรี ตัวเค้าก็จะมีร้าน ทำเสื้อ เป็นดีไซเนอร์อะไรแบบนี้ค่ะ ในแง่วิธีคิดของเค้า ในแง่ของวิธีการทำงานของเค้า เค้าใช้ทุกอย่างเลย เค้าชอบดูภาพเขียน ชอบมองภาพเขียน เพื่อจะเอาแรงบันดาลใจจากภาพเขียนเอามาสร้างสรรค์ในงานเสื้อผ้าหรืองานอื่นของเค้า คืองานศิลปะมันสามารถไปสร้างแนวคิด และสร้างแรงบันดาลใจให้เราได้คิดต่อ
ได้เยอะแยะ

เวลาที่พี่’ปรายไปเที่ยว พี่’ปรายชอบสถานที่ไหนเป็นพิเศษคะ
พี่จะชอบอิตาลี เพราะว่าเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ มีความหลังเยอะดี มันดูเก่าๆ อย่างเวลาไปเดิน เราจะเดินบนก้อนหินตั้งแต่เมื่อ 400-500 ปีที่แล้ว หรือว่าสะพานบางสะพานเนี่ยก็สร้างมาตั้งแต่ยุคโรมัน ทุกอย่างมันยังคงอยู่ ทั้งที่เวลาผ่านไปนานแล้ว มันเก่าๆ ดี ผู้คน หรือบรรยากาศที่อิตาลีมันเหมือนบ้านเรานะ มันดูเรียบๆ ง่ายๆ ผู้คนก็ดูยิ้มแย้ม สบายๆ บางประเทศในยุโรปคนจะดูเคร่งเครียด อย่างพี่ไปปารีสเนี่ยคนเดินชนพี่แบบว่าจะหงายเลย เค้าก็ตัวใหญ่ ชนเราแรงมาก แล้วก็ไม่สนใจเลย เราเจอก็รู้สึกไม่ดี พอไปอิตาลี่ พี่ก็เลยรู้สึกว่าประเทศเขาน่ารักดี พี่ชอบอิตาลี ชอบฟลอเรนซ์ อะไรแบบนี้
....
แล้วถ้าเป็นสถานที่ในประเทศไทยล่ะคะ
พี่ก็จะชอบประมาณย่านเก่าๆ อย่างราชดำเนิน เกาะรัตนโกสินทร์ แต่ถ้าเป็นต่างจังหวัด ก็คงเป็นเมืองเหนือล่ะค่ะ อย่างเชียงใหม่ พี่ชอบขนาดเคยไปอยู่เป็นปีๆเลย
....
ที่บ้านเลี้ยงดูพี่’ปรายมายังไงบ้างและการเลี้ยงดูเหล่านั้นมีผล หรืออิทธิพลต่อการเป็นนักเขียน นักแปล ของพี่’ปรายยังไงบ้างคะ
ถ้าเป็นที่บ้านก็คือ พ่อกับแม่พี่จะชอบอ่านหนังสือ ที่บ้านก็มีหนังสือเยอะ เราก็จะเห็นว่า เอ๊ะ!ทำไมเค้านั่งจ้องนั่งดูอะไรเนี่ย มีแต่ตัวหนังสือรูปภาพก็ไม่ เด็กๆ เราเห็นแบบนี้ตลอดเวลา พอเราเริ่มโต เราอ่านได้ ก็จะเริ่มอ่านบ้าง พี่ก็ถือว่าพ่อกับแม่พี่มีชีวิตแบบนี้ เราเห็น เราคุ้นชินตั้งแต่เด็ก พี่คิดว่าส่วนนี้ก็มีผลต่อตัวพี่เหมือนกัน
....
หนังสือที่พี่’ปรายอ่านตอนเด็กๆแล้วรู้สึกว่ารักหนังสือเล่มนี้มาก เป็นหนังสือเล่มไหนคะ
ตอนเด็กๆ พี่ไม่ค่อยได้อ่านหนังสือเด็กมาก พี่จะอ่านหนังสือผู้ใหญ่น่ะค่ะ อย่างแม่พี่ก็จะอ่าน ขวัญเรือน อ่านสกุลไทย แต่ว่าในขวัญเรือนเมื่อก่อนเค้าก็จะมี part สำหรับเด็กๆน่ะค่ะ ก็อ่านบ้าง แต่ก็แป๊บเดียว ก็หันไปอ่านเรื่องของผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่นิยายที่พี่ชอบอ่านก็จะเป็นนิยายผู้ใหญ่ ตอนเด็กพี่ชอบอ่านนิยยายของทมยันตี ก็อ่านตอนประมาณป.4,ป.5 บางทีวันหยุด เสาร์-อาทิตย์ นอนอ่านทั้งวันไม่ไปไหนเลย
....
พี่’ปรายเริ่มต้นการเป็นนักเขียน นักแปล ได้ยังไงคะ
งานเขียนเนี่ยช่วงเด็กๆพี่ก็จะส่งไปลงตามหนังสือน่ะค่ะ อย่างแมกกาซีนเค้าก็จะเปิดหน้าที่ให้คนอ่านส่งมา พี่ก็ส่งไปลง ตอนหลังเริ่มอยากได้ตังค์บ้าง ก็ลองส่งแบบที่ได้ตังค์ ก็ได้ค่าเรื่อง 300หรือ500บ้าง อะไรแบบนี้ก็ไปเรื่อยๆ
....
แล้วในส่วนของงานแปลล่ะคะ
งานแปลเนี่ยมันเป็นเรื่องบังเอิญนะ เพราะว่าพี่ไม่ใช่คนที่เก่งภาษาเลยค่ะ มันจะมีอยู่ช่วงนึงที่เวลาเราเขียน บางทีหนังสือที่เราจะค้นคว้าหรือเอาข้อมูลมาฝากผู้อ่านเนี่ยมันไม่มีเป็นภาษาไทย อย่างเวลาเราไปห้องสมุดก็หาไม่เจอ เราต้องการที่จะหาข้อมูลที่เกี่ยวกับหนังในมุมที่เราอยากรู้ แต่มันไม่มีเป็นภาษาไทย มีแต่หนังสือฝรั่ง ก็ต้องอ่าน ต้องแปล ต้องแกะ เราต้องซื้อแมกกาซีนฝรั่งมาอ่าน พอฐานข้อมูลเราเป็นแบบนี้ มันก็ทำให้เราไปเจอข้อมูลตรงนั้นตรงนี้ ไปเจอโน่นเจอนี่ใหม่ๆ เรื่อยๆ ก็หยิบมาเล่า เอามาเขียนในคอลัมน์ของมติชน
...
ยกตัวอย่างเราเขียนเรื่องหนังของทิม เบอร์ตัน แล้ววันนึงเรารู้ว่าทิม เบอร์ตันทำ pocket book ที่เป็นหนังสือของเขาเองด้วย เราก็ไปหาไปได้มาอ่านอะไรแบบนี้ อ่านแล้วรู้สึกชอบก็เลยมาแนะนำในคอลัมน์ของเรา คนอ่านก็อยากอ่าน ถามว่าหาซื้อได้ที่ไหน สำนักพิมพ์เค้าก็เลยถามว่า ทำไมคุณไม่แปลเลยล่ะ จะได้ทำออกมาขาย พี่ไม่เคยคิดว่าพี่จะมาแปลหนังสือเลยนะ แต่พอเราเริ่มทำงานพวกนี้เต็มตัว พี่ก็เริ่มเรียนภาษาเพิ่ม ก็เริ่มเข้าคอร์สอบรมอะไรต่างๆ นานา แต่ว่าช่วงหลังก็ดีขึ้นเยอะ เพราะว่าเราอ่านบ่อยขึ้น แล้วก็การเรียนเพิ่มเติม ก็ทำให้เราคล่องตัวขึ้น
....
พี่’ปรายเป็นคนที่ทำงานเยอะ ทำงานหลากหลาย เป็นนักเขียน นักข่าว นักแปล พี่’ปรายทำงานมาเยอะมากค่ะ
พี่ก็เรื่อยๆ แต่บังเอิญพี่รู้จักคนเยอะ รู้จักพี่ๆที่ทำงาน ก็เจอผู้ร่วมงานด้วยกัน พี่เป็นคนที่ตั้งใจทำงาน คือทำอะไรก็เอาจริง หรือเวลาอยู่ในออฟฟิศ ใครมอบหมายงานให้พี่ทำอะไร พี่ก็จะมีวินัยพอสมควร คนที่ทำงานด้วยก็ไว้ใจว่าเราไม่เหลวไหล เวลาเขาไปทำงานที่ไหน ก็มักจะมาชวนพี่ไปทำงานด้วย ก็จะเป็นแบบนี้ค่ะ
....
งานอดิเรกพี่’ปรายชอบทำอะไรคะ
พี่ชอบดูหนังค่ะ หนังโรง หนังแผ่น หรือหนังที่เรายังไม่ได้ดู พี่ไม่ค่อยชอบดูหนังซ้ำ
....
อยากให้พี่’ปรายพูดถึงหนังสือเรื่องจดหมายรักค่ะ เคยอ่านสัมภาษณ์พี่’ปราย พี่ปรายบอกว่ารักหนังสือเล่มนี้มาก
มันเป็นหนังสือที่รวมอะไรหลายๆอย่างในนั้น เล่มนี้มันจะเป็นงานเขียนในเชิงคอลัมน์ด้วย แต่มีเรื่องราวชีวิตส่วนตัวเราด้วย มันจะเป็นอะไรหลายอย่างรวมกันอยู่ ตั้งแต่เขียนหนังสือมา เรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องชีวิตของพี่ หรือว่าสิ่งต่างๆ ในชีวิตจริงของพี่เยอะที่สุด หรืออาจจะเป็นแง่มุมที่ดีที่สุดที่เราหยิบมาเขียน พี่รู้สึกว่า บางทีมันเป็นแง่มุมส่วนตัวในชีวิตเรา ที่คนอ่าน อ่านแล้วก็ได้ประโยชน์ด้วย ค่อนข้างโอเคนะกับเรื่องจดหมายรัก คนอ่านชอบกันเยอะ
....
อยากให้พี่’ปรายพูดถึงหนังสือเรื่องเด็กชายหอยนางรมหน่อยค่ะ พอดีเพื่อนเป็นแฟนหนังสือของพี่’ปรายและชอบหนังสือเล่มนี้มาก
เด็กชายหอยนางรมเหรอ พี่ว่าทิม เบอร์ตันเค้าหามุมมาเขียนได้น่ารักดี แล้วงานเขียนช่วงนั้นยังไม่ค่อยมีอะไรแบบนี้ เล่มนี้เป็นงานเขียนที่มองโลกในแง่ร้าย แต่ว่ามันก็ยังมีความน่ารักอยู่ในความร้ายนั้นด้วย อย่างในเล่มนี้พี่ก็จะชอบเรื่องเด็กชายสารพิษ เรื่องก็จะมีอยู่ว่า มีเด็กชายคนนึงที่ชอบแต่ของไม่ดี อย่างเช่นว่าจะชอบอากาศเสีย หรือว่าเวลาที่ใครสตาร์ทรถ ก็จะชอบวิ่งไปสูดดมควันรถ หรือจะชอบอยู่ในบ้านที่มืดๆ อุดอู้ แล้ววันนึงก็มีคนมาบอกว่า เธออยู่ในที่ที่อุดอู้เกินไปนะ ก็เอาเด็กคนนี้ไปอยู่ในสวนดอกไม้ เอาไปตากแดด เอาไปอยู่ในที่อากาศบริสุทธิ์ปรากฎว่าเด็กชายสารพิษตาย ก็จะเป็นอีกมุมมองนึง พี่ว่าเค้าหามุมมาเขียนได้น่ารักดี

แล้วนักเขียนในดวงใจพี่’ปรายป็นใครคะ
อย่างยาขอบนี่ก็ใช่นะ อย่างมูราคามินี่ก็ใช่ คุณ’รงค์ วงษ์สวรรค์ พี่ก็ชอบ พี่มีนักเขียนในดวงใจหลายคน
....
พี่’ปรายเป็นคนโรแมนติกใช่มั๊คะ เห็นหนังสือพี่’ปรายก็จะออกแนวหวานๆหลายเล่ม
พี่เหรอ จริงๆ ก็เป็นคนธรรมดา ออกจะห้าวๆ ด้วยซ้ำ ถ้าโรแมนติกก็คงลึกๆมั้ง อาจจะเป็นคนชอบรสหวานๆ ในการอ่านมากกว่า อย่างเวลาเราไปอ่าน เราไปค้นคว้า แล้วเจอข้อมูลอะไรแบบนี้แล้วเรารู้สึกว่าเราชอบจังเลย เราก็อยากที่จะถ่ายทอดหยิบมาเขียนถึง ถ้าถามว่าพี่เป็นคนโรแมนติกมั๊ย ก็ลึกๆ อาจจะมีบ้าง กับบางคนน่ะน่ะ ไม่ได้ประเจิดประเจ้อ
....
คนที่เป็นต้นแบบในการดำเนินชีวิตของพี่’ปรายคือใครคะ
ต้นแบบจริงๆเนี่ย คุณเสถียร จันทิมาธร บรรณาธิการบริหารมติชนสุดสัปดาห์ พี่ก็ชื่นชมเค้าในหลายๆเรื่อง ในด้านการวางตัว วิธีการทำงาน แนวคิดอะไรต่างๆก็ชื่นชม ก็เป็นต้นแบบเป็นแนวทางในชีวิตพี่อยู่เหมือนกัน
..
นิยามคำว่า “นักเขียน”ในความคิดของพี่’ปราย
ก็คงเป็นคนที่ถ่ายทอดมุมมอง ถ่ายทอดความเข้าใจ ชีวิต ความเข้าใจของตัวเองที่มีต่อโลก ต่อชีวิต ค้นหาแง่มุมที่ดี หรือไม่ดีของมันเอามาเสนอหรือแนะนำให้คนอ่านได้รับรู้ แต่ว่าในการถ่ายทอด มันก็เฉือนกันที่ชั้นเชิงในการถ่ายทอดนะ ว่าใครเก่ง ใครไม่เก่ง เหมือนเวลาที่เราทำอาหาร เรามีวัตถุดิบ มีข้าว มีพริก มีกระเทียม มีเหมือนกัน ในตลาดใครจะซื้อก็ได้ แต่ว่าใครจะทำอร่อยเนี่ย คงต้องใช้ฝีมือ พี่ว่างานเขียนก็เหมือนกัน
....
อยากให้พี่’ปรายแนะนำอะไร สำหรับคนที่อยากเป็นนักเขียน
ตอนแรกก็อาจจะต้องอ่านหนังสือเยอะๆหน่อย ลองอ่านดู ก็ลองอ่านว่าเราชอบแบบไหน ไม่ชอบแบบไหน แล้วเวลาที่เราอ่านเจอที่เราชอบหรือไม่ชอบ ก็ลองศึกษานิดนึงว่าที่เราชอบเนี่ย เค้าเขียนออกมายังไง เค้ามีวิธีเขียนแบบไหน ทำไมถึงทำให้เราชอบ หรือไม่ชอบ ถ้าคิดว่าจะเป็นนักเขียนนะ เวลาที่อ่านเราจะต้องวิเคราะห์ไปด้วย
....
พี่’ปรายมองวัฒนรรมการอ่านของบ้านเราว่าเป็นยังไงบ้างคะ
บ้านเราเนี่ยยังชอบอ่านสิ่งที่เป็นบันเทิงอยู่ อย่างหนังสือที่ขายดีที่เป็นวงกว้างหน่อย ก็น่าจะเป็น หนังสือที่ออกแนวสนุกสนาน ออกแนวบันเทิงค่อนข้างเยอะ แต่ว่าช่วงหลังพี่คิดว่าสังคมเราเปิด เป็นสังคมข่าวสาร สังคมความรู้มากขึ้น หนังสือที่ยากๆ ก็เริ่มขายได้เยอะขึ้น หนังสือที่เป็นสาระ คนที่พิมพ์ออกมาก็สามารถเลี้ยงตัวได้ หนังสืออย่างของสำนักพิมพ์โกมลคีมทอง ก็จะเป็นหนังสือที่ออกแนวปรัชญา เมื่อก่อนอาจจะแคบๆ แต่ตอนนี้พี่ว่าก็กว้างขึ้นนะ จำนวนคนอ่านก็เยอะขึ้น เด็กๆ เราอาจจะอ่านอะไรที่กุ๊กกิ๊ก สนุกสนาน แต่ว่าพอเราโตขึ้นเราก็เริ่มมองหาหนังสืออะไรที่มากกว่าเรื่องที่สนุกสนาน ซึ่งหนังสือกลุ่มนี้ก็จะให้คำตอบเราได้
....
อยากให้พี่’ปรายฝากอะไรถึงแฟนๆที่ติดตามผลงานของพี่’ปรายค่ะ
ถ้าเป็นแฟนๆ หนังสือก็ต้องบอกว่า ขอบคุณมากๆ คือบางเรื่องเราเขียนเพราะเราอยากเขียน บางทีเราก็ไม่รู้หรอกว่าคนอ่านจะชอบหรือเปล่า แต่ว่าเมื่อเขียนไปแล้วคนอ่านชอบด้วยเนี่ย มันก็เป็นกำลังใจที่ดีนะ ทำให้เราอยากทำโน่นทำนี่ เวลาพี่ไปยุโรป ไปเที่ยว ไปเจอโน่นไปเจอนี่ ก็อยากหามาเขียนให้คนได้อ่านกัน แล้วสิ่งนี้มันก็เป็นกำลังใจที่สำคัญของพี่
....

แล้วมันเป็นความสุขที่สุดของความเป็นนักเขียนรึเปล่าคะ
พี่ถือว่ามันเป็นรางวัลมากกว่านะ ถ้าเป็นที่สุดก็คงเป็นเวลาที่เราเขียนจบแล้ว เพราะพี่ถือว่ามันจบแล้ว บางทีเราอยากเขียนอะไรซักอย่าง นั่งอยู่นั่นแหละเขียนไม่ได้ แต่ว่าพอเขียนออกมาแล้ว เราก็ชอบมัน อย่างเรื่องสวยสดและงดงาม พี่ก็เก็บมาหลายปีเหมือนกัน อยากเขียนมานานแล้ว ลองเขียนบ้างแล้ว ก็ยังไม่ชอบ แต่วันนึง มันเขียนออกมาได้หมดจดหมดใจเลย พอเขียนจบได้อย่างใจ มันก็โล่งไปเลย เพราะฉะนั้นถ้าถามว่า ความสุขที่สุดของการเป็นนักเขียนคืออะไร ของพี่ก็คงเป็นการเขียนงานอย่างที่เราอยากเขียนให้สำเร็จออกมาได้อย่างใจ เมื่อตีพิมพ์ออกมาแล้ว คนอ่านชอบ ถือว่าเป็นรางวัลค่ะ
........

-บล็อกพี่’ปราย ค่ะ ถ้าสนใจ http://prypansang.blogspot.com/