คอลัมน์ "a pen" นิตยสาร a day,Jan-2551

คอลัมน์ "a pen" interview 89
นิตยสาร a day,ฉบับมกราคม 2551
ปากกาของ ‘ปราย พันแสง

-แนะนำตัวเองด้วยครับ
ปากกาหมึกเจลสีดำ ยี่ห้อ Lotus Mabio ขนาด 0.5

-คุณมาอยู่กับ ‘ปราย พันแสงได้ยังไงครับ
คุณ’ปราย พันแสง ซื้อมาจากร้านเครื่องเขียนในห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์เมื่อเดือน พฤศจิกายน 2550 ที่ผ่านมา พร้อมๆ กับปากกาประเภทเดียวกัน (หมึกเจล) สีน้ำเงิน สีฟ้า และสีแดง อีกหลายด้าม



-เรามักติดภาพผู้หญิ้งผู้หญิงของ ‘ปราย พันแสง จากหนังสือรักโรแมนติกจำนวนมากของเธอ ในความเห็นของคุณจริงๆ แล้วเธอเป็นคนยังไงกันแน่
เป็นคนสบายๆ คงไม่แตกต่างจากคนทั่วไป อยู่ง่าย กินง่าย ตั้งใจทำงาน รักศักดิ์ศรี เขียนหนังสือได้ คงไม่แตกต่างจากคนทั่วไปนัก

-‘ปรายบอกว่าปัจจุบันเธอมีฟรีฟอร์มเป็นลมหายใจ เป็นความสุขที่จับต้องได้ของเธอ คุณช่วยบอกหน่อยได้ไหมว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น
คงต้องเกริ่นถึงที่มาก่อนว่า นิตยสารฟรีฟอร์ม เป็นนิตยสารที่เกิดจากความคิดของคนหนุ่มสาวสี่ห้าคน ที่คลุกคลีทำหนังสืออยู่ในบริษัทสิ่งพิมพ์หลายแห่งของเมืองไทยเรามานานหลายปี ซึ่งแต่ละคนก็รู้เช่นเห็นชาติเบื้องหน้าเบื้องหลังการทำหนังสือมาแล้วหมดไส้หมดพุง วันหนึ่งคนกลุ่มนี้ก็เบื่องานประจำที่ตัวเองทำอยู่ขึ้นมาอย่างแรง และตั้งใจจะลาออกจากสำนักงานที่ทำอยู่ตอนนั้น

ความที่เป็นเพื่อนพ้องน้องพี่ที่รู้จักมักคุ้นกันดี ก็เลยมีโอกาสได้มาคุยกันถึงความคิดความฝันในการทำหนังสือของแต่ละคน ซึ่งทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า เบื่อ “ระบบ” ของหนังสือที่เป็นอยู่ในบ้านเราตอนนี้เต็มที เบื่อที่ทุกอย่างในหนังสือต้องขึ้นอยู่กับ “โฆษณา” ขนาดนั้น ทั้งๆ ที่โฆษณาบางอย่าง มันไม่ควรจะนำมาโฆษณาด้วยซ้ำ เพราะมันไม่ส่งเสริมหรือจรรโลงอะไรในสังคมเลย พวกเขาก็เลยมาหารือกันว่า ถ้าอยากทำหนังสือที่พวกเขาอยากอ่านอยากเห็นขึ้นมาสักเล่ม โดยที่ “โฆษณา” ไม่ใช่เรื่องแรกที่คิดถึง มันจะเป็นไปได้มั้ย พวกเขาก็เลยมานั่งสุมหัวกันถึงความเป็นไปได้ ดูตัวเลขในการลงทุน ดูอะไรต่างๆ จนได้ข้อสรุปว่า มันเป็นไปได้นะ ถ้ามีการวางแผนและลงมือทำงานอย่างฉลาด รัดกุม และประหยัด

จากกำลังทรัพย์ และความรู้ความสามารถที่มีอยู่ พวกเขาได้ข้อสรุปว่า น่าจะทดลองทำนิตยสารเล่มนี้ได้สักครึ่งปีหรือหนึ่งปี โดยที่ไม่ลำบากมาก หรือว่าถ้ามันไม่ประสบความสำเร็จจริงๆ พวกเขาก็ไม่น่าจะเสียหายหรือเจ็บตัวมาก เพราะวางแผนการทำงานกันอย่างรัดกุมมาก ที่สำคัญคือ แต่ละคนก็อายุยังไม่มาก อยู่ในวัยเลขสอง เลขสาม ถ้ามันเจ๊ง ต้องเป็นหนี้ขึ้นมา พวกเขาก็ยังมีเวลาและมีเรี่ยวแรงพอที่จะเริ่มต้นใหม่หรือพอจะมีปัญญาใช้หนี้ได้ ก็เลยเกิดเป็นหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา ด้วยเงินทุนหนึ่งล้านบาท ที่รวบรวมมาจากทีมงาน และเพื่อนพ้องน้องพี่คนใกล้ชิด

นิตยสารฟรีฟอร์มฉบับปฐมฤกษ์ ออกวางจำหน่ายครั้งแรกได้ในงานสัปดาห์หนังสือเมื่อปี 2549 ที่ผ่านมา มาถึงตอนนี้ นิตยสารฟรีฟอร์มออกวางจำหน่ายมาถึง 13 ฉบับแล้ว โดยฉบับที่ 13 เป็นฉบับพิเศษ เนื้อหารูปเล่มหนากว่าฉบับปกติประมาณสามเท่า จัดทำเพื่อเป็นเฉลิมฉลองการก้าวเข้าสู่ขวบปีที่ 2 ซึ่งจะมีการปรับเปลี่ยนขนานใหญ่กันอีกครั้ง

นอกจากนิตยสารฟรีฟอร์มจะมีอายุยืนยาวเกินหนึ่งปีแล้ว พวกเขายังก่อตั้งสำนักพิมพ์ฟรีฟอร์ม เพื่อผลิตพ็อคเก็ตบุ๊คโดยเฉพาะ ซึ่งปัจจุบันนี้ ก็มีผลงานออกวางจำหน่ายแล้วหลายเล่ม เช่นหนังสือ “ไตรภาคนิโกโปล” นิยายกราฟิคเลื่องชื่อของ เอ็นกิ บิลัล ที่แปลมาจากภาษาฝรั่งเศส,พ็อคเก็ตบุ๊ค “ศาสดาเบสต์เซลเลอร์ ฮารูกิ มูราคามิ” ที่เพิ่งออกวางจำหน่ายล่าสุดนี้ ก็ได้รับการต้อนรับจากนักอ่านเป็นอย่างดี พวกเขาจึงมีนโยบายที่จะผลิตทั้งนิตยสารและพ็อคเก็ตบุ๊คไปพร้อมกันอย่างต่อเนื่อง

ด้วยผลงานเหล่านี้ น่าจะเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นถึงความคิดและแนวทางการทำงานของพวกเขาในระดับหนึ่ง แต่อะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า “สิ่งที่พวกเขาเชื่อ” มันเป็นไปได้จริง คุณ’ปรายและทีมงานจึงมีความสุขกับฟรีฟอร์มในวันนี้เป็นอย่างมาก

-ดูจากผลงานที่ออกมาอย่างต่อเนื่องแล้วท่าทาง ‘ปราย พันแสง จะสนุกสนานกับการทำงานมาก คุณอยู่กับ ‘ปรายแล้วเหนื่อยไหม เธอทำงานเยอะขนาดไหน
ปากกาคงไม่เหนื่อยเท่าไหร่ เพราะทุกวันนี้คุณ’ปราย เธอไม่ค่อยใช้ปากกาทำงานแล้ว เธอนิยมจิ้มตัวหนังสือบนคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์มากกว่า เธอทำงานเยอะมาก แล้วก็นอนเยอะมาก

-ปัจจุบัน ‘ปรายทั้งเขียน ทั้งแปล ทั้งเป็นบรรณาธิการ ในฐานะที่ทำงานร่วมกันกับ ‘ปราย คุณว่าเธอชอบงานอะไรมากที่สุด
เธอชอบทุกอย่าง แต่ถ้าจะหาความเป็นที่สุด “ชอบที่สุด” ก็คงจะเป็น “ชอบอ่าน”

-ทำงานด้านเขียนมาจนครบทุกอย่างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเขียนคอลัมน์ บทกวี บทละคร พ็อคเก็ตบุ๊คอีกหลายเล่ม นิตยสารอีกเล่มหนึ่ง มีอะไรที่ ’ปรายอยากทำมากๆ หลงเหลืออยู่บ้างไหม
ตอนนี้คุณ’ปราย กำลังปรับปรุงชั้นล่างของออฟฟิศฟรีฟอร์ม ซึ่งเดิมทีเป็นร้านสรรพรส (อยู่ในซอยสุขุมวิท 23) ให้เป็นร้านหนังสือมากขึ้น (จากเดิมทีเป็นร้านอาหาร ที่มีหนังสือเยอะๆ ให้เลือกอ่าน) ร้านสรรพรสเปิดมาหลายปีแล้ว มาถึงปีนี้ คุณ’ปรายเธออยากทำร้านหนังสือที่ขายหนังสือเฉพาะหนังสือของเธอเอง และหนังสือที่เธอชอบเท่านั้น ตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนปรับปรุงตกแต่งอยู่ ร้านสรรพรสเปิดมาสี่ห้าปีแล้ว ไม่ได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมานานแล้ว จึงน่าจะได้ฤกษ์ปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่เสียที เธอจึงต้องใช้เวลาปรับเปลี่ยนสักตั้งใหญ่ ส่วนร้านโฉมใหม่ น่าจะเปิดได้อย่างเป็นทางการไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ที่จะถึงนี้

-มาจนถึงทุกวันนี้ความรู้สึกในการเขียนหนังสือของ ‘ปราย พันแสง ยังเหมือนเมื่อครั้งที่เขียนกลอนเปล่า เรื่องสั้นส่งไปตามนิตยสารวัยรุ่นในสมัยเรียนมัธยม หรือกระทั่งสมัยที่ได้เข้าเป็นคนทำหนังสืออาชีพที่นิตยสารไปยาลใหญ่ตอนอยู่มหาวิทยาลัย ปีสองหรือไม่
คงจะเปลี่ยนไปบ้าง เมื่อก่อนเวลาเขียนอะไรสักอย่าง คุณ’ปรายจะคิดถึงแนวทางของหนังสือ หรือตัวบรรณาธิการที่คัดเลือกเรื่องของเธอมากๆ ว่าเขาเป็นคนอย่างไร ชอบลงเรื่องสไตล์ไหน แล้วเธอก็จะเขียนในแนวทางนั้น เพื่อไม่ให้งานของเธอโดนเขาจับทิ้งลงตะกร้า ซึ่งบางทีการเขียนเพื่อชนะใจคนคัดเรื่องอย่างนั้น เธอจะอึดอัด เนื่องจากไม่ค่อยได้เขียนเรื่องตามใจตัวเองเท่าไหร่

แต่ทุกวันนี้ เธอมีอิสระเสรีเต็มที่ในการเขียนหนังสือ เธอสามารถเขียนอะไรก็ได้ บ่อยครั้งเธอมีโอกาสดีขนาดว่า บรรณาธิการหนังสือโทรศัพท์มาขอต้นฉบับ แล้วบอกมาด้วยเลยว่า “คุณ’ปรายเขียนเรื่องอะไรก็ได้ เอาหมด” ซึ่งแบบนั้นคุณ’ปรายเธอจะชอบมาก เพราะเธอสามารถเลือกเขียนเฉพาะเรื่องที่เธออยากเขียนเท่านั้น พูดได้เลยว่าผลงานทุกอย่างที่ปรากฏอยู่ทั่วไปในทุกวันนี้ คือชีวิตจิตใจ คือรสนิยมที่แท้จริง และเป็นเนื้อแท้ตัวตนของเธอล้วนๆ