Celebrity on Web 'ปราย พันแสง จากหน้าหนังสือสู่หน้าบล็อก จากนิตยสาร E.COMMERCE ฉบับ 114 เดือน มิถุนายน 2551

'ปราย พันแสง จากหน้าหนังสือสู่หน้าบล็อก
จากคอลัมน์ Celebrity on Web
นิตยสาร E.COMMERCE
ฉบับที่ 114 เดือน มิถุนายน 2551

....................
เมื่อพูดถึงนักเขียนผู้หญิงแถวหน้าของเมืองไทย 'ปราย พันแสง จัดได้ว่าเธอเป็นหนึ่งในผู้หญิงแถวหน้านั้น สำหรับคนรักหนังสือ น้อยคนนักที่จะไม่รู้จักผู้หญิงคนนี้ โดยเฉพาะกลุ่มคนรักหนังสือยุคไฮเทคที่ชื่นชอบการติดต่อสื่อสารในโลกไซเบอร์ เพราะนอกจาก ' 'ปราย ’ ติดต่อกับกลุ่มผู้อ่านผ่านทางผลงานวรรณกรรม หนังสือแปล และคอลัมน์นิตยสารต่างๆ แล้ว เธอยังมีบล็อก http://prypansang.blogspot.com ที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารกับคนรักหนังสือด้วย

เริ่มต้นงานเขียนบนโลกออนไลน์
คุณปรายเล่าว่า ชีวิตงานเขียนของเธอกับโลกออนไลน์เริ่มมาตั้งแต่ 10 กว่าปีที่แล้ว จากการใช้อีเมลในการส่งต้นฉบับ ซึ่งช่วงนั้นเขียนคอลัมน์ประจำที่นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ หลังจากใช้อีเมลในการส่งต้นฉบับทำให้เพิ่มสะดวกแก่สำนักพิมพ์มากขึ้นด้วย เนื่องจากไม่ต้องพิมพ์ซ้ำเพื่อตีพิมพ์อีกรอบ แต่ด้วยช่วงนั้นการใช้งานอินเทอร์เน็ตในเมืองไทยยังไม่ดีเท่ากับตอนนี้ บางครั้งส่งงานไปให้สำนักพิมพ์ แต่ไม่สามารถเปิดไฟล์งานได้ ทำให้เกิดปัญหากับการส่งต้นฉบับ
..............
เมื่อเจอปัญหามากขึ้นในการส่งต้นฉบับ จึงคิดหาวิธีแก้ปัญหาเพื่อให้การทำงานสะดวกมากขึ้น ซึ่งตอนนั้นใช้อีเมลของ Yahoo และบนหน้าเว็บไซต์มีการโปรโมตเว็บไซต์ geocities ให้ใช้พื้นที่สำหรับสมาชิกของ Yahoo จึงได้ตัดสินใจสมัครเป็นสมาชิก เพื่อขอใช้พื้นที่ฟรีที่เว็บไซต์นี้ในการอัพโหลดต้นฉบับใส่ไว้บนเว็บไซต์สำรองไว้ หากมีปัญหาในการส่งต้นฉบับทางอีเมล ทางสำนักพิมพ์จะสามารถเข้ามาอัพโหลดไฟล์งานจากเว็บไซต์นี้ได้
.........
หลังจากไม่ได้นำต้นฉบับไปอัพโหลดไว้บนเว็บไซต์ geocities แล้ว ทำให้พบว่ามีคนสนใจเข้ามาอ่านต้นฉบับบนเว็บไซต์ เพราะมีอีเมลจากคนอ่านที่ต่างประเทศส่งถามว่าทำไมช่วงนี้ไม่นำงานเขียนอัพโหลดขึ้นมาให้อ่านบ้าง ทำให้เริ่มรู้สึกว่าการเขียนการอ่านในโลกออนไลน์นั้นเป็นการสื่อสารไร้พรมแดนจริงๆ
........
ต่อมาสังคมอินเทอร์เน็ตในไทยเริ่มเว็บไซต์ข่าวสารต่างๆ มากขึ้น มีเว็บไซต์มาขอต้นฉบับไปลงในเว็บไซต์ให้อ่านฟรี จึงตัดสินใจคัดเลือกต้นฉบับที่ตีพิมพ์ลงนิตยสาร และเป็นครั้งแรกที่ไม่ได้เงินค่าเรื่อง (ขำ) แต่ก็ได้เห็นผลดีของการนำงานเขียนเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต เพราะคนรู้จักเราผ่านอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ระยะไม่นานก็มีแฟนประจำเกือบเท่ากับในคอลัมน์ที่มติชนสุดสัปดาห์เลย
...........
นอกจากนี้ยังพบข้อดีของการเผยแพร่ผลงานของเราบนอีกอย่างโลกออนไลน์คือ เมื่อคนอ่านที่ชอบผลงานของเรา เขาจะทำการส่งต่อไปยังเพื่อนๆ ในสังคมออนไลน์ของเขา ซึ่งช่วยให้ผลงานของเราได้รับการเผยแพร่ไปอย่างรวดเร็ว และมีคนรู้จักเยอะขึ้นมาก ทำให้เห็นถึงอานุภาพของอินเทอร์เน็ตอย่างแท้จริง
........
จากปรากฏการณ์ของการตอบรับจากแฟนหนังสือบนเว็บไซต์ ทำให้อยากทำเว็บไซต์เป็นของตัวเองในการรวบรวมงานเขียน หรือเรื่องราวต่างๆ ของเราเองให้คนอ่านผ่านทางอินเทอร์เน็ต แต่ก็พบปัญหาหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแบบที่จ้างให้คนทำให้ จนตัดสินใจไปเรียนทำเว็บไซต์เพื่อที่จะได้มาออกแบบเว็บไซต์เอง เผื่อจะโดนใจมากกว่าให้เขาทำให้ (ยิ้ม) แต่หลังจากเรียนจบ มีงานเขียนเข้ามาค่อนข้างมาก สรุปเว็บไซต์ที่ตั้งใจไว้ก็ไม่ได้เกิด หลังจากนั้นก็ลองใช้ทั้งเว็บไดอารี่ แต่ก็รู้สึกว่ายังไม่ใช่แบบที่อยากได้ ต่อมามีบล็อกเกิดขึ้น แต่ไม่ได้ลองใช้เพราะคิดว่าน่าจะเหมือนไดอารี่
.........
แต่จุดเปลี่ยนในการได้นำงานเขียนมาสู่โลกออนไลน์เต็มตัวเนื่องจากช่วงเหตุการณ์เครื่องบินชนตึกเวิร์ลเทรด 9 กันยายน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ช็อกโลก ทำให้ต้องติดตามข่าวต่างๆ บนอินเทอร์เน็ต เพราะอัพเดตเร็วกว่าช่องทางอื่น และเจาะลึกกว่าในหน้าจอทีวีหรือหนังสือพิมพ์ที่เมืองไทย ช่วงนั้นเข้าไปอ่านบล็อกเยอะมาก ส่วนใหญ่เป็นบล็อกของคนอเมริกันที่แสดงความรู้สึกของเขาต่อเหตุการณ์นี้ บางคนอยู่ในเหตุการณ์และหนีรอดมาได้ เขาก็มาเขียนเล่าว่าเกิดอะไรบ้าง หลากหลายคนมาเล่า ทำให้เวลาอ่านรู้สึกเหมือนนิยายสืบสวนสอบสวนดีๆ เรื่องหนึ่งเลย
.........
จากเหตุการณ์นี้ทำให้เห็นถึงความแตกต่างของบล็อกกับไดอารี่ออนไลน์ หลังจากนั้นได้มาลองเปิดบล็อกเป็นของตัวเองบ้าง และทดลองใช้บล็อกต่างๆ แต่รู้สึกว่าบล็อกคนไทยจะมีโฆษณาเยอะ ช่วงหลังจึงมาใช้บริการของ Blogger (http://prypansang.blogspot.com) ซึ่งมีผู้ที่สนใจเข้ามาอ่านกันพอสมควร
.........
ตอนนี้คุณปรายมีเว็บไซต์ที่เผยแพร่ผลงานกี่เว็บไซต์คะ?
หลักๆ ในการเผยแพร่งานเขียนชิ้นใหม่ๆ จะอยู่ที่บล็อก http://prypansang.blogspot.com และที่บล็อก http://prypansangbooks.blogspot.com ที่ทำไว้เพื่อให้ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับพ็อกเก็ตบุ๊กต่างๆ ซึ่งมี 20กว่าเล่ม แล้วมีบล็อก http://prypansangclipping.blogspot.com เอาไว้เก็บข่าวเก็บเรื่องราวที่มีคนอื่นเขียนถึงหนังสือหรือผลงานของเรา เพราะก่อนหน้านี้เก็บใส่แฟ้มไว้ที่บ้าน ก็หายบ้าง ลืมไปบ้าง แต่พอมารวมไว้ในบล็อกเป็นที่เป็นทางก็ดูจะเข้าที่ดี คนอื่นที่ไม่เคยอ่านก็สามารถคลิกเข้ามาอ่านได้ด้วย ทำให้ข่าวสารต่างๆ ไม่สูญหายไปไหน ยังมีคนได้อ่านได้เห็นมันอยู่เรื่อยๆ นอกจากนี้ยังมีบล็อกสำหรับเก็บเพลง เก็บภาพถ่าย เก็บอะไรต่อมิอะไรแยกต่างหากไว้อีกเยอะแยะ
.......
การใช้ประโยชน์บนโลกออนไลน์ในบทบาทของนักเขียนเป็นอย่างไร?
ช่วงหลังมานี่เลิกเขียนประจำในนิตยสารต่างๆ เพราะงานประจำหนักมาก เนื่องจากออกมาตั้งสำนักงานของตัวเอง (หุ้นกับพี่ๆ น้องๆ และเพื่อนๆ) ที่ต้องเลิกเขียนประจำลงนิตยสารเพราะบางทีงานประจำของเราไม่สามารถควบคุมเรื่องเวลาได้ แต่ตัวเราเองก็ยังมีเรื่องที่อยากเขียนอยู่ จึงใช้บล็อกนี่แหละเอาไว้เผยแพร่งานเขียน เพราะสามารถเข้ามาเขียนเมื่อไรก็ได้ เมื่อเขียนไปสักระยะก็จะคัดเรื่องที่เขียนลงบล็อกเอามารวมเล่มได้ด้วย ซึ่งจะเห็นว่าประโยชน์หรือกระบวนการของมันก็ไม่ต่างจากการเขียนประจำลงนิตยสารแต่อย่างใด เพียงแต่จะสะดวกเรื่องเวลาทำงานมากกว่าเท่านั้น ถือว่าเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์มากค่ะ
..........
ที่นักเขียนมีบล็อกเป็นของตัวเองเป็นผลดีมากน้อยแค่ไหน?
คิดว่าน่าจะมีประโยชน์ในการเผยแพร่ความคิดหรือผลงานของนักเขียนนะคะ ส่วนตัวพี่เองมีผลดีและเป็นประโยชน์มาก เพราะบล็อกเป็นสื่อกลางให้ตัวเราได้พบปะกับคนอ่านได้ตลอดเวลาที่แต่ละคนพร้อม นอกจากนี้ยังมีคนอ่านรุ่นใหม่ๆ เข้ามารู้จักเรามากขึ้น ตอนนี้มีคนอ่านผลงานของเราทั้งนักอ่านหน้าใหม่และหน้าเก่าเลยค่ะ
.........
ปัจจุบันนักเขียนเริ่มมาสร้างพื้นที่ในโลกออนไลน์ไว้เผยแพร่ผลงาน บทวิจารณ์ และติดต่อกับผู้อ่านมากขึ้น คุณปรายมองอย่างไรคะ?
พี่ว่ามันดีมากเลยค่ะ ถือเป็นช่องทางใหม่ๆ ที่สะดวกมาก สำหรับคนที่มีความสามารถจะได้โชว์ฝีมือ พี่เข้าไปอ่านในบล็อก ในเว็บไซต์บางแห่ง เขียนดีมาก เขียนดีกว่าเรื่องที่เราได้อ่านในหนังสือแพงๆ บางฉบับด้วยซ้ำไป อย่างบทวิจารณ์ภาพยนตร์ ถ้าไม่ใช่บทวิจารณ์ในหนังสือภาพยนตร์โดยตรงแล้วพี่อ่านไม่ได้เลยนะ เพราะเป็นแค่รีวิวสั้นๆ ตามใบปลิวประชาสัมพันธ์ของบริษัทหนัง เจอบ่อยๆ แบบนี้ก็ขี้เกียจอ่าน แต่พวกบทวิจารณ์หนังในบล็อก ในเว็บไซต์ต่างๆ ยังตามอ่านอยู่ บางคนเขียนดีมากเลย มีการหาข้อมูล ความรู้แน่น ตอนหลังพอเขียนบล็อกเยอะๆ ก็มีคนขอไปทำเป็นพ็อกเก็ตบุ๊ค พี่ว่ามันดีมากเลยนะ นอกจากดีสำหรับคนเขียนแล้วก็ยังดีสำหรับคนอ่านด้วย
............
สำหรับเว็บฯ http://prypansang.blogspot.com/ เป็นเว็บฯ หลักในการติดต่อสื่อสารกับคุณปรายใช่ไหมคะ คอนเทนต์ในเว็บฯ นี้จะเป็นคอนเทนต์พิเศษที่ทำขึ้นมาเฉพาะใช่ไหม?
ใช่ค่ะ ตอนนี้เป็นสื่อหลักเลย ตั้งใจเขียนขึ้นใหม่สำหรับบล็อกนี้โดยเฉพาะเลย แต่บางครั้งงานยุ่ง ไม่ค่อยมีเวลามาอัพเดต นานๆ พี่ก็จะเอาเรื่องเก่าๆ ที่เคยเขียนไว้มาลงสลับบ้าง เพราะเกรงใจคนที่คลิกเข้ามาอ่านบ่อยๆ แล้วไม่เจออะไรใหม่ๆ บ้างเลย อย่างงานเก่าๆ บางชิ้นหลายคนก็ไม่เคยอ่านนะคะ แบบว่าเกิดไม่ทันทำนองนั้น (ขำ) แต่พอเอามาลงทีไรก็ได้รับการตอบรับดีทุกครั้ง
...........
เนื้อหาที่คุณปรายเขียนบนเว็บไซต์จะมีไปตีพิมพ์เป็นหนังสือไหมคะ?
มีค่ะ ออกมาแล้ว 1 เล่ม ชื่อ “คาเฟ่เสน่หา” เนื้อหาบางส่วนในเล่มนี้นำมาจากบล็อกค่ะ แต่ตอนตีพิมพ์เป็นหนังสือก็จะมีการเรียบเรียง ขัดเกลา เพิ่มเติม ตัดทิ้งบ้าง เพราะตอนเราเขียนบล็อกเราเขียนสดๆ พอมาตรวจแก้ทีหลังก็ต้องมีการปรับปรุงให้ลงตัวขึ้น
........
มองอย่างไรคะหากวันหนึ่งกระแสการอ่านเรื่องสั้น นวนิยาย บนเว็บไซต์ซึ่งสามารถอ่านได้ฟรี ได้รับความนิยมมากกว่าการไปซื้อหนังสือ คิดว่ามีผลกระทบกับนักเขียนที่ทำผลงานออกมาเป็นตัวเล่มขายหน้าร้านไหมคะ?
ถ้าคนเลิกซื้อหนังสือหมดคงกระทบนักเขียนแน่ๆ ค่ะ แต่ถ้าคนหันมาอ่านออนไลน์กันหมด ถ้าไม่พิมพ์หนังสือกันแล้ว ต่อไปเวลาจะอ่านอะไรออนไลน์อาจจะต้องจ่ายเงินก่อนอ่านมากขึ้นนะคะ อย่างหลายๆ เว็บไซต์ที่ให้จ่ายเงินเป็นสมาชิกก่อนถึงจะได้อ่าน สำหรับพี่ยอมรับได้นะ เพราะคิดว่าโลกมันเปลี่ยน ทุกอย่างก็ต้องเปลี่ยนอยู่แล้ว และเมื่อมันเปลี่ยนไปถึงจุดหนึ่ง ในจุดนั้นมันก็ต้องหาสมดุลของตัวเองได้เหมือนกัน
......
ในอนาคตคุณปรายคิดวางแผนขายคอนเทนต์บนเว็บไซต์ไหมคะ?
ถ้าคนเลิกซื้อหนังสือกันหมดคงต้องคิดเหมือนกันค่ะ แต่ตอนนี้หนังสือยังขายได้เรื่อยๆ คอนเทนต์บนเว็บฯ ก็เลยไม่ซีเรียสเท่าไรค่ะ เพราะโดยส่วนตัวก็ยังอยากให้การเขียนบล็อกเป็นอิสระจากธุรกิจไปเรื่อยๆ ถ้าต้องขายคงต้องเกร็งแน่ๆ เลยเวลาจะเขียนอะไรลงบล็อกแต่ละชิ้น แต่ตอนนี้คนอ่านฟรีไงคะ ก็เลยเขียนอะไรก็ได้ตามใจ สบายใจ ไม่เครียด ไม่เกร็ง แต่ขออย่างเดียวอ่านแล้วทิ้งคอมเมนต์ไว้ให้บ้างเท่านั้นก็ดีนะคะ (ยิ้ม)
....
สุดท้ายนี้อยากให้คุณปรายฝากผลงานที่ออกมาในปัจจุบัน และเว็บไซต์ที่สามารถเข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคุณปรายได้ค่ะ
ผลงานพ็อกเก็ตบุ๊กล่าสุดตอนนี้ก็มี “คาเฟ่เสน่หา” เป็นรวมบทความคัดสรรของ “ปราย พันแสง” ชุดล่าสุด กับงานบรรณาธิการเรื่องแปล “ร้านชำสำหรับคนอยากตาย” ค่ะ ถ้าสนใจจะแวะเวียนไปอ่านไปชม หรือแวะเข้าไปพูดคุยกันได้ที่บล็อก http://prypansang.blogspot.com/ นะคะ
....