Volume Magazine,Jan 2009





Volume Magazine,Jan 2009

จากเอสไควร์ ฉบับ ธันวาคม 2551


จากนิตยสารลิปส์,ธันวาคม 2551

ฟรีฟอร์ม-สำนักพิมพ์ดาวรุ่ง 2551,กรุงเทพฯธุรกิจ



สำนักพิมพ์ดาวรุ่งแห่งปี 2551
จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับ 29 ธันวาคม 2551

ต่อไปนี้เป็นการรวบรวม สำนักพิมพ์ดาวรุ่งแห่งปี 2551 ที่สร้างเนื้อสร้างตัวมาจากการพิมพ์หนังสือวัยรุ่นเป็นหลัก จนกระทั่งมีอัตราการเติบโตแต่ละปีชนิดก้าวกระโดดและทำให้เกิดกระแสการอ่านอย่างกว้างขวางในกลุ่มวัยรุ่น
..
หากนับตั้งแต่ปรากฏการณ์กระแสเกาหลีฟีเวอร์เมื่อประมาณ 4-5 ปีก่อน สำนักพิมพ์แจ่มใส ถือว่าแจ้งเกิดได้อย่างน่าอัศจรรย์ เพราะไม่ว่าจะเป็นงานสัปดาห์หนังสือครั้งใดก็ทำเอาบูธแทบแตก หรือแม้กระทั่งตามร้านหนังสือต่างๆ ก็ยังติดอันดับขายดีอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ทำเอาหลายคนสงสัยมาตลอดว่าสำนักพิมพ์แจ่มใสมีอัตราการเติบโตแต่ละปีมากแค่ไหน ถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีตัวเลขออกมาชัดเจนและยังเป็นความลับต่อไป
..........
ศศกร วัฒนาสุทธิวงศ์ ผู้อำนวยการสายงานธุรกิจสิ่งพิมพ์ และบรรณาธิการสำนักพิมพ์แจ่มใส พูดถึงหนังสือขายดีกลุ่มวัยรุ่นว่า "จริงๆ หนังสือกลุ่มวัยรุ่นไม่ได้ระบุประเภทชัดเจนว่าจะต้องเป็นนิยายรักหรือว่าเป็นอะไร คือไม่ว่าจะเป็นกลุ่มวัยรุ่นหรือกลุ่มผู้ใหญ่จะมีรสนิยมในการอ่านแตกต่างกันไปอยู่แล้ว กลุ่มวัยรุ่นเองเขาสามารถมี category ของเขาต่างออกไปได้ คืออาจจะมีกลุ่มวัยรุ่นชอบอ่านนิยายรัก ชอบอ่านนิยายแฟนตาซี ชอบอ่านวรรณกรรมเยาวชนแปล มันมีหลากหลาย เพียงแต่ว่าต้องมองว่าเราถนัดในการทำด้านไหน ลงไปจับให้ถูกกลุ่ม เหมือนกับว่าพยายามตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มนั้นๆ ให้ได้มากที่สุด
............
แต่อย่างสำนักพิมพ์แจ่มใสเองโฟกัสกลุ่มนิยายรักมาตลอด แต่ในความเป็นนิยายรักมันก็มีความหลากหลายในตัวคอนเทนท์หรืออารมณ์ความรู้สึกที่ได้จากการอ่านมากมาย อย่างปีนี้ก็ออกนิยายชุด 'มากกว่ารัก' ซึ่งเป็นนิยายแปลจากไต้หวัน เป็นนิยายรักย้อนยุคจีนโบราณ เพราะที่ผ่านมาพอพูดถึงนิยายจีนคนก็จะนึกถึงเฉพาะนิยายจีนกำลังภายในอย่างเดียว จริงๆ มันมีเรื่องรักด้วยนะ และพอหนังสือออกมาก็ได้รับฟีดแบ็คกลับมาดีมาก คือเราจะแพลนทุกๆ ปีว่าจะมีโปรดักท์ใหม่ๆ และเหมือนกับเป็นการสร้างสีสันให้กลุ่มนักอ่าน นอกจากแนวเดิมๆ ที่เขาเคยอ่านมาแล้วซึ่งก็ยังมีออกมาอย่างต่อเนื่อง ยังจะมีแนวใหม่ๆ มาให้เซอร์ไพรส์ทุกปีด้วย"
.............
การเติบโตของหนังสือกลุ่มวัยรุ่นในปี 2551 เธอมองว่า "นิยายแนว Jamsai Love Series เป็นการเจาะกลุ่มวัยรุ่นและกลุ่มนักอ่านที่อายุน้อยลงเรื่อยๆ พอเริ่มอ่านหนังสือได้สักประถมต้นๆ กำลังจะขึ้นประถมปลาย แต่ก่อนอาจจะอ่านแต่การ์ตูนที่มีแต่รูปภาพก็จะหันมาอ่านที่มีตัวหนังสือมากขึ้น แต่ในปี 2552 ถามว่าเทรนด์เปลี่ยนไหม โดยส่วนตัวมองว่าเทรนด์ของกลุ่มวัยรุ่นบางทีไม่ได้เกิดจากตัวคนอ่านเอง แต่ว่าเกิดจากผู้ผลิตมากกว่าว่าจะสร้างหนังสือในแนวรูปแบบไหนถึงจะโดนใจวัยรุ่น มองว่าคนอ่านจริงๆ ไม่รู้ว่าอยากอ่านอะไร แต่ว่าเราทำออกไปแล้วให้เขาลองอ่านดู มันโดนใจขนาดไหน ถ้าโดนใจปุ๊บก็กลายเป็นเทรนด์ขึ้นมาได้เหมือนกัน
...........
ตอนนี้มองว่าเทรนด์ที่กำลังมาแรงน่าจะเป็นงานของนักเขียนไทยมากกว่า สำนักพิมพ์แจ่มใสนอกจากผลิตงานแล้วยังมีการสนับสนุนงานนักเขียนซึ่งเป็นเวทีเปิดให้กับน้องๆ รุ่นใหม่ แต่ก่อนอาจจะเปิดให้กับคนเขียนนิยายค่อนข้างโต แต่ว่ามาเปิดเวทีสำหรับน้องๆ ซึ่งกำหนดไว้เลยว่าอายุไม่เกิน 20 ปี ทำให้ได้นักเขียนรุ่นใหม่ๆ อายุน้อยมากๆ แต่พิสูจน์ให้เห็นว่ามีคุณภาพได้เหมือนกัน และเป็นการเขียนของคนรุ่นเดียวกันกับคนอ่านเรื่องนี้ด้วย จะโดนใจได้มากกว่าคนเขียนผู้ใหญ่แต่ว่าเขียนให้เด็กอ่าน เพราะน้องๆ ส่วนใหญ่ที่เขียนหนังสือเขาก็เป็นนักอ่านด้วย ฉะนั้นเขาจะรู้ว่าเขาอยากอ่านเรื่องแบบไหน เพื่อนวัยเดียวกับเขาอยากอ่านเรื่องแบบไหน เขาก็จะเขียนเรื่องแบบนั้น"
...........
นอกจากนี้สำนักพิมพ์แจ่มใสยังประกาศตัวอีกว่าเป็น 'สำนักพิมพ์สีขาว' โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อเยาวชน และทำการตลาดรุกเข้าถึงกลุ่มนักอ่านวัยกระเตาะด้วยกลยุทธ์ใหม่ๆ จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมหนังสือถึงขายดิบขายดีและเติบโตชนิดก้าวกระโดด
.........
ส่วนสำนักพิมพ์ที่ระบุชัด ว่ามีคนอ่านเป็นกลุ่มผู้หญิงวัยทำงานหรือวัยผู้ใหญ่ แต่ก็มีแฟนๆ เป็นกลุ่มวัยรุ่นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะหนังสือแปลจากญี่ปุ่น นั่นคือ สำนักพิมพ์บลิส ถือว่ายังคงแรงไม่เคยหยุด โดย ลัดดาวัลย์ รัตนดิลกชัย กรรมการผู้จัดการและบรรณาธิการอำนวยการบริษัท บลิส พับลิชชิ่ง จำกัด กล่าวถึงการเติบโตในปี 2551 ว่า..
.........
"บลิสมองจากความเป็นจริงของสภาพเศรษฐกิจ ว่าอารมณ์และความรู้สึกของผู้บริโภคจะระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น จึงตั้งเป้าแบบคอนเซอร์เวทีฟคือการรักษาระดับของรายได้และกำไรให้ได้เท่ากับ 1-2 ปีที่ผ่านมาก็พอใจแล้ว ซึ่งมองว่าจะมาจากฐานแฟนคลับที่เหนียวแน่นของแบรนด์ ซึ่งในส่วนของแบรนด์ Bliss ที่เน้นสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะในปีที่ผ่านมาก็อยู่ในส่วนที่น่าพอใจ ทั้งการยังรักษาความเป็นที่หนึ่งสำหรับนิยายแปลสำหรับสาวทำงานและรายได้ที่มั่นคงอันเกิดจากการมีแฟนคลับที่เหนียวแน่น ซึ่งเป็นแฟนคลับที่มีกำลังซื้อ และแบรนด์ JBook ในกลุ่มหนังสือสืบสวน ลึกลับ และสยองขวัญจากญี่ปุ่น เรายังเป็นที่หนึ่งและมีรายได้เติบโตขึ้น เพราะมีความหลากหลายของรสชาติมากขึ้น
...........
ช่วงปี 2551 หนังสือแปลสืบสวนจากญี่ปุ่นเติบโตขึ้นถึง 30% เพราะ 2 ปัจจัย คือ หนึ่งซีรีส์เดิมมีการขยายฐานการอ่าน ผู้อ่านใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมาก จากคุณภาพของหนังสือที่บอกต่อกัน และสองมีซีรีส์ใหม่ออก 3 ซีรีส์จากนักเขียนเดิม 1 ซีรีส์ และจากนักเขียนใหม่อีก 2 ซีรีส์ ซึ่งเป็นแนวที่สรรหามาเพื่อกลุ่มวัยรุ่นโดยเฉพาะคือ 'ชุดยะคุโมะ นักสืบวิญญาณ' และชุด 'กระซิบสีเลือด' ซึ่งได้รับการตอบรับดีมาก พอๆ กับ 'คินดะอิจิ' ซึ่งเป็นซีรีส์เด่นๆ ของสำนักพิมพ์ทีเดียว และในปี 2552 เชื่อว่าจากซีรีส์ทั้งของเดิมและใหม่จะทำให้กลุ่มของคนอ่านขยายฐานขึ้นทั้ง new comer ผู้ใหญ่ และnew comer วัยรุ่น เฉพาะกลุ่มนี้น่าจะโตขึ้น 20% เป็นอย่างน้อย"
............
วิกฤติเศรษฐกิจปี 2552 ที่คาดการณ์ว่าจะส่งผลกระทบรุนแรงนั้น เธอมองว่า "ทำให้ผู้อ่านระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ไม่กล้าทดลองซื้อหนังสือที่มีแนวหรือนักเขียน นักแปลใหม่ๆ รวมถึงชะลอหรือลดจำนวนลง ตัดสินใจช้าลง เพราะคิดว่าอย่าเพิ่งใช้จ่ายตอนนี้ดีกว่า เนื่องจากหนังสือไม่ใช่ของเน่าเสียได้ สามารถรอเวลาได้ ฉะนั้นต้องมีโปรโมชั่นเพราะเชื่อว่าใครๆ ก็ต้องทำสำหรับภาวะเช่นนี้
.............
สำนักพิมพ์บลิสมองว่าจะไม่กระทบจากปัจจัยนี้รุนแรงนักเพราะแบรนด์ของเรามีความแข็งแรงด้วยคุณภาพและรสนิยม ซึ่งได้รับการพิสูจน์จากระยะเวลาแล้ว ว่าเราไม่ออกหนังสือมาก แต่เป็นหนังสือที่คัดสรรมาแล้ว ดังนั้นผู้อ่านของบลิสจึงไม่ต้องหนักใจกับการต้องมาคัดสรรอีก และหนังสือของบลิสไม่มีสำนักพิมพ์อื่นทดแทนได้ จากทั้งเรื่องคุณภาพและที่สำคัญคือรสนิยม ที่มีสไตล์ของตัวเองชัดเจน เรียกได้ว่าถ้าผู้อ่านอยากอ่านแนวนี้ต้องคิดถึงเราก่อนเป็นที่แรกอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าเศรษฐกิจไม่ดี ต้องซื้อหนังสือน้อยลง แต่ก็ซื้อของบลิสก่อนอยู่ดี หากคุณชอบแนวสืบสวนลึกลับของญี่ปุ่นหรือนิยายโรแมนติกคอมาดี้จากฝรั่ง" เธอกล่าวปิดท้าย
...........
ส่วนสำนักพิมพ์ที่มีคนอ่านเป็นกลุ่มวัยรุ่น ที่ค่อนข้างมีความคิดเป็นตัวของตัวเองอย่าง สำนักพิมพ์ a book ในเครือของ a day นั้น วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ บรรณาธิการที่ปรึกษาและผู้ก่อตั้งบริษัท เดย์ โพเอทส์ จำกัด เล่าภาพรวมของสำนักพิมพ์ a book ว่า..
...........
"ถ้านับตั้งแต่หนังสือเล่มแรก 'อะเดย์ สตอรี่' ออกมาก็เป็นปีที่ 5 แล้ว แต่เราเพิ่งจะมาทำพอคเก็ตบุ๊คจริงจังมากขึ้นเมื่อ 2-3 ปีนี้เอง เนื่องจากเห็นว่าบิลลิ่งของ a book ดีมากเลย แม้ว่าช่วงเริ่มต้นยังขรุขระหน่อย อาจจะเป็นเพราะว่างานหลักเป็นนิตยสาร แต่ตอนหลังเห็นแนวโน้มดีของพอคเก็ตบุ๊คมากขึ้น โดยเฉพาะถ้าเป็นแฟนของ a book เขาซื้อหมดทุกเล่มเลย
...........
อีกอย่างเราเป็นสำนักพิมพ์เล็กๆ ที่สามารถจัดบุ๊คแฟร์ของตัวเองได้ ยอดขายไม่เลวทีเดียว ด้านธุรกิจถือว่าดีมากๆ คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 25% ของบริษัททั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก 5% อาจจะเป็นเพราะเราสะสมแฟนๆ ไว้ค่อนข้างเยอะทั้งแฟนของ a day, Hamburger และKnock Knock แรกๆ จะเป็นการเอาคอลัมน์มารวมเล่ม แต่หลังๆ เปิดกว้างมากขึ้น อยากทำ edutainment คือให้ความคิดความอ่าน ให้แรงบันดาลใจสร้างสรรค์ แต่อ่านสนุก หลักๆ คนอ่านเป็นกลุ่มของ a day กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัย กลุ่มมัธยม วัยทำงานต้นๆ ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกันกับ a day หลังจากนั้นลองแตกแบรนด์เป็น Knockknock book เน้นกลุ่มมัธยมมากขึ้น"
...........
เขากล่าวอีกว่า "วัยรุ่นเป็นกลุ่มหลักอยู่แล้วล่ะ แต่หนังสือเรามีคนอ่านอยู่ช่วงอายุหนึ่ง พอเขาโตขึ้นเขาก็อยากอ่านอะไรที่มันโตกว่า a day ฉะนั้นสำนักพิมพ์ a book ก็เช่นเดียวกัน กลุ่มคนอ่านจะโตขึ้นเรื่อยๆ สำหรับปี 2552 จะมีสำนักพิมพ์ a day bulletin book พิมพ์หนังสือแนวเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม เนื้อหาจริงจังมากขึ้น รวมถึงอาจจะมีบทวิพากษ์ วิจารณ์ วิเคราะห์ออกมาด้วย พยายามโฟกัสกรุ๊ปมากขึ้น โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ สำนักพิมพ์ knockknock book เน้นกลุ่มมัธยม และสำนักพิมพ์ a book เน้นกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัย ส่วนสำนักพิมพ์ a day bulletin book เน้นกลุ่มวัยเริ่มต้นทำงานที่จริงจังมากขึ้น
...........
อีกงานหนึ่งที่ประสบความสำเร็จมากคือ graphic fiction หรือ graphic novel ยกตัวอย่างงานของ 'ทรงศีล ทิวสมบุญ' เป็นเรื่องเล่าด้วยภาพวาด มันตอบสนองผู้อ่านอายุน้อยได้ดี ปีหน้าจะเน้นแนวนี้มากขึ้น คิดว่างานด้านนี้จะไปได้ดี ยังมีตลาดอีกเยอะมาก ต่างประเทศก็สนใจ ตอนนี้สำนักพิมพ์จากประเทศเบลเยียมสนใจ กำลังอยู่ในขั้นตอนคุยกันอยู่ รวมทั้งทำเอกสารขายไปทางยุโรป ช่วงนี้กำลังติดต่อกับอังกฤษ เบลเยียม และตลาดจีนกับญี่ปุ่นด้วย ผมคิดว่าถ้าหนังสือไทยจะไปต่างประเทศ หนังสือแนว graphic novel น่าจะไปได้ เพราะถ้าเป็นวรรณกรรมเพรียวๆ จะยากมาก"
.............
ด้านการตลาดยังมีการจัดงาน a book fair ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด "ถือว่าได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากไปขายหนังสือแล้วยังมีดนตรีด้วย หนึ่งปีจะมี 8 ครั้ง ออนทัวร์ไปจังหวัดนั้นจังหวัดนี้ นับเป็นช่องทางขายหนังสือที่ดีมากและกิจกรรมต่างๆ ช่วยให้สำนักพิมพ์ขายหนังสือได้ ช่วยให้หายใจหายคอคล่องขึ้น บอกได้ว่าสำนักพิมพ์ a book โตที่สุดในบริษัท มันอาจจะถึงเวลาเพราะสะสมอะไรมานานพอสมควร โดยปี 2551 มีจำนวน 50-60 ปก จริงๆ ธุรกิจนี้มันลงทุนสูงกว่าที่คนคิดและมันรีเทิร์นช้า ฉะนั้นเวลาจะพิมพ์ต้องคิดให้ละเอียด ต้องพิมพ์หนังสือดีๆ และขายได้ดีด้วย
............
นอกจากนี้ปี 2552 จะมี a day TV ออกอากาศทางช่องไทยพีบีเอส ถือเป็นชาแนลใหม่และเป็นมีเดียใหม่สำหรับเรา เพราะเราไม่เคยละเลย new media รวมทั้งอินเทอร์เน็ต มือถือ เทคโนโลยีที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ถึงปีหน้าเศรษฐกิจจะเผาจริงหนักกว่าที่คิด แต่เราเหมือนสะสมเสบียงอาหารไว้มากพอสมควร ยิ่งเศรษฐกิจตก คนเครียดขึ้น ว่างขึ้น ยิ่งทำให้คนอยากเสพอะไรที่สบายใจมากขึ้น สื่อที่ให้การผ่อนคลายจะขายได้ดีทั้งเพลง ภาพยนตร์ และหนังสือ มั่นใจในแฟนประจำของเราพอสมควร และนับเป็นเรื่องโชคดีอย่างยิ่งที่ a day มาถึงปีที่ 8 มันเหมือนสะสมต้นทุนพอสมควร เมื่อมันผลิดอกออกผลมันก็เก็บเกี่ยวได้สบาย เหมือนกับต้นไม้มันโตพอดี คิดว่าปีหน้าไม่กระทบ"
..............
อีกสำนักพิมพ์หนึ่งที่ถือว่ามีความโดดเด่น ในแง่ของการเป็นสำนักพิมพ์ใหม่และเน้นกลุ่มคนอ่านเป็นนักศึกษาคือ สำนักพิมพ์ฟรีฟอร์ม โดยเริ่มต้นจากการตีพิมพ์บทความของ 'ปราย พันแสง ผู้ก่อตั้งนิตยสารและสำนักพิมพ์ฟรีฟอร์ม จากนั้นมีวรรณกรรมแปลตามออกมาอีกหลายเล่ม
.............
'ปราย พันแสง กล่าวถึงภาพรวมของสำนักพิมพ์ว่า "ตลอดปี 2551 สำนักพิมพ์ฟรีฟอร์มมีพอคเก็ตบุ๊คตีพิมพ์ออกวางจำหน่ายทั้งหมดประมาณ 20 ปก ยอดขายถือว่าใช้ได้ ทราบผลว่าไม่ขาดทุนแน่ๆ 14 ปก และมีบางเล่มตีพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง อย่างเล่ม 'ร้านชำสำหรับคนอยากตาย' หรือ 'ความลับในความรัก' ของคุณจิระนันท์ พิตรปรีชา แต่บางเล่มก็ต้องลุ้นนิดหน่อย อย่างรวมเรื่องสั้นของนักเขียนไทยที่เราพิมพ์ออกมาสองเล่ม ยอดขายค่อนข้างช้านิดนึง แต่เราก็ทำใจตั้งแต่ก่อนพิมพ์แล้ว เพราะไม่อยากพิมพ์แต่เรื่องแปลอย่างเดียว อยากพิมพ์วรรณกรรมไทยควบคู่กันไปด้วย ตรงนี้เป็นนโยบายของฟรีฟอร์มเลย ส่วนบางเล่มที่เหลือยังไม่ทราบผลแน่นอน เพราะบางเล่มเพิ่งพิมพ์เสร็จ เพิ่งวางในร้านหนังสือ แต่โดยรวมคิดว่าปี 2551 เอาตัวรอดได้
..............
ส่วนกลุ่มคนอ่านของฟรีฟอร์มช่วงแรกๆ จะเป็นกลุ่มคนอ่านหนังสือของ 'ปราย พันแสง อยู่แล้วซึ่งจากงานสัปดาห์หนังสือหลายๆ ครั้งพบว่า 60-70% เป็นนักเรียน นักศึกษา เป็นวัยรุ่น หรือคนหนุ่มสาวที่เพิ่งเริ่มทำงานไม่นานนัก แต่ช่วงหลังฟรีฟอร์มได้พิมพ์งานของคุณจิระนันท์ พิตรปรีชา พิมพ์งานแปลของคุณมนันยา ซึ่งนักเขียนนักแปลทั้งสองท่านนี้ก็มีแฟนประจำเหนียวแน่นมาก แล้วก็เป็นคนอ่านหลายรุ่นหลายวัยมาก มีทั้งวัยรุ่น มีทั้งผู้ใหญ่ กลุ่มคนอ่านกว้างมาก ตอนนี้เลยกลายเป็นว่ากลุ่มคนอ่านฟรีฟอร์มกว้างขึ้นกว่าเดิมเยอะ ผู้ใหญ่บางคนอ่านงานแปลของคุณจิระนันท์แล้วก็อยากลองอ่านนิตยสารฟรีฟอร์มด้วย
...........
อย่างผู้อ่านวัยรุ่นหน้าใหม่ๆ ที่อ่านนิตยสารฟรีฟอร์มหรือเคยอ่านหนังสือของสำนักพิมพ์เรามาตลอดอยู่แล้ว เมื่อได้มาอ่านงานของนักเขียนนักแปลรุ่นใหญ่มืออาชีพอย่างนี้ เขาก็ชอบกัน แต่แนวทางหลักในการทำงานของสำนักพิมพ์ในการพิจารณาว่าจะพิมพ์อะไรออกมา ยังจะยึดผู้อ่านหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่เป็นหลัก"
............
เธอบอกต่อว่า "คิดว่าฟรีฟอร์มคงไม่ได้สถาปนาตัวเองเป็นพวกนักคิดนักเขียน คือไม่ใช่ Intellectual ไม่ใช่กลุ่มคนที่คิดนอกกรอบ ไม่ใช่ positive thinker ไม่ได้เป็นคนสีเขียว ไม่ได้บ้าแฟชั่น ไม่ได้บ้าช็อปปิ้ง ไม่ได้มีความโดดเด่นอย่างนั้น ถ้าเป็นคนคนหนึ่งฟรีฟอร์มก็คงเป็นคนธรรมดาที่พอจะรู้ดีรู้ชั่วอยู่บ้าง เป็นคนชอบลองของใหม่ ใช้เงินเป็น บางครั้งอาจจะลองผิดลองถูกบ้าง แต่เราก็เปิดตาเปิดใจ เวลานำเสนอในหนังสือที่พิมพ์ออกไป นัยระหว่างบรรทัดที่เราพยายามแฝงไปด้วยเสมอก็คืออยากให้คนอ่านของเราใช้ชีวิตบนโลกใบนี้ให้เป็น ใช้ให้คุ้มค่า และใช้อย่างรื่นรมย์ตามอัตภาพ
.............
อย่างที่ผ่านมาเราพิมพ์เรื่องแปลก็เฉพาะเรื่องแปลที่เราอ่านแล้วชอบ เลยซื้อลิขสิทธิ์มาแปล ซึ่งที่ซื้อลิขสิทธิ์ไว้แล้วก็หลายเล่ม เท่าที่มีตอนนี้คงพิมพ์ออกมาได้เรื่อยๆ จนถึงกลางปี 2552 ส่วนอีกครึ่งปีที่เหลือกำลังอ่านๆ อยู่ ว่าเล่มไหนสนุกบ้าง จะได้ซื้อมาแปลอีก ส่วนงานที่ไม่ใช่งานแปลก็ตั้งใจไว้เหมือนเดิม คือคัดเลือกผลงานของนักเขียนไทยที่เราชอบๆ มาพิมพ์สักสองสามเล่มด้วย"
.............
วิกฤติเศรษฐกิจปี 2552 ซึ่งหลายสำนักคาดการณ์ว่าจะหนักหนาสาหัสนั้น จะส่งผลกระทบกับตลาดหนังสือวัยรุ่นหรือไม่ เธอตอบว่า "ตรงนี้ไม่ทราบเลยค่ะ" พร้อมกับให้ทรรศนะว่า "แต่ถ้าคนมีเงินในกระเป๋าน้อยลง ถ้าจะซื้อหนังสืออะไร เขาก็คงคิดหน้าคิดหลังมากขึ้น แต่ถ้าเป็นเรื่องที่เราอยากอ่านจริงๆ หรือหนังสือมันน่าสนใจจริงๆ ถึงใครจะปิดสนามบินหรือใครจะมาเป็นนายกฯ คนต่อไป หรือตลาดหุ้นจะตกไปกี่จุด ดิฉันคงไม่นำเรื่องเหล่านี้มาเป็นเหตุผลในการตัดสินใจเลือกซื้อหนังสืออ่านของตัวเองหรอก"
..........
เชื่อเหลือเกินว่าแม้เศรษฐกิจปี 2552 จะย่ำแย่หนักหนาสาหัสปางตาย แต่หนังสือกลุ่มวัยรุ่นจะยังคงเป็นตลาดที่หวานหอมของหลายๆ สำนักพิมพ์แน่นอน 0
.........
: ปีกนกสีขาว

หลงรัก 'ปราย พันแสง (อีกแล้ว)

สูงต่ำล้วนผ่านตา
หลงรัก 'ปราย พันแสง (อีกแล้ว)
ข้อความจากบล็อกของคุณ
bonwhan
..............
เพิ่งจะมีเสาร์อาทิตย์นี้แหละ ที่เรียกได้ว่าเป็นวันหยุดที่แท้จริงนอนตื่นสายซะเก้าโมงกว่าๆ..แดดส่องจนรู้สึกห้องอุ่น ถึงได้งัวเงียลืมตาตื่นก็เมื่อคืนนอนดึก ถึงดึกมาก...พักนี้บ้าดูหนังเป็นว่าเล่น ดูแล้วมันสบายใจ..ก็เลยดูไปเรื่อยๆ ประมาณนั้นรู้สึกดี๊ดี..เหมือนโลกนี้เป็นของเรา ที่ตื่นมาก็ชงกาแฟกางหนังสือไว้ตรงหน้า แล้วก็นั่งดื่มกาแฟ ดูหมาตรงระเบียงบ้านนี่ถ้ามีคุ้กกี้ยี่ห้อโฮมเมด รสบัตเตอร์ ก็จะดีใช่น้อยพูดถึงคุ้กกี้นี้แล้วก็ให้เจ็บใจ คุ้กกี้อะไรอร่อยอิ๊บ อ๋าย...เมื่อก่อนหาซื้อได้ทั่วไปตามท็อปส์ ซูปเปอร์มาร์เก็ต แต่ว่าตอนนี้นะเหรอ...หึ...ไปกี่ครั้ง กี่ครั้ง ก็หามีไม่..อุตส่าห์โฆษณาไปซะทั่วว่าอร่อยโคตรๆ..จนเพื่อนพ้องน้องพี่ชอบกินไปตามๆกัน..แต่ตอนนี้....(ฮึ่ม)..หาซื้อไม่ได้มานานหลายเดือนแล้วนะเนี่ย ก็เลยต้องหันมาพึ่งอาร์เซนอลไปพลางๆ (55555)..
...
เพิ่งซื้อหนังสือมาใหม่อีกเล่ม ของ'ปราย พันแสง นักเขียนคนโปรด (จุ๊ๆ...อย่าเอ็ดไป)หน้าปกเป็นภาพขาวดำ จักรยานจอดพิงอยู่ข้างตึกที่ไหนสักแห่งบนโลกใบนี้ถูกใจเหลือหลาย ...แถมยังโปรยที่หน้าปกด้วยตัวอักษรสีเหลืองว่า HIGH WAY BLUE แ้ล้วก็ตามด้วยประโยคออกแนวฝันๆ ผสมปลงอนิจจังที่ว่า.."สูงต่ำล้วนผ่านตา"
...
'ปราย พันแสงนามปากกาเธอนี่งาม..เท่ เรียบง่าย ได้ใจจริงๆ ฉันมีหนังสือของคุณ'ปราย เธอหลายเล่ม แต่ไม่ได้มีทุกเล่มที่เธอเขียนชอบวิธีการเขียนของเธอที่ใส่หัวใจ ใส่ความรู้สึกลงไปในตัวหนังสือ แล้วรู้สึกว่าเธอทำการบ้านเยอะมาก กว่าจะเขียนได้แต่ละเรื่อง ชนิดที่ว่าอ่านแล้ว นอกจากจะอิ่มเอมหัวใจกับแง่มุมงามๆแล้ว ในสมองยังก็ได้มีรอยหยักเพิ่มขึ้นอีกด้วย (มากไปหรือเปล่าไม่รู้นะ แต่ฉันรู้สึกแบบนี้จริงๆ)
.......
ยังมีหนังสืออีกเล่มหนึ่ง ที่เล็งไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่ยังไม่ได้ซื้อมา เป็นหนังสือของมูราคามิ ยังไม่เคยอ่านผลงานของนักเขียนคนนี้เลย ได้แต่มองผ่าน..แล้วก็มองผ่าน..แต่ว่าวันนั้นที่เห็นบนชั้นหนังสือที่ B2S...หน้าปกของเขานี่ได้ใจฉันไปเต็มๆ เปิดดูข้างในผ่านๆ ก็ว่าน่าจะเข้าท่าดีถ้ายังไม่เปลี่ยนใจไปเสียก่อน ครั้งหน้าฉันจะยอมควักกระเป๋าเป็นเจ้าของจริงๆนะ..คราวนี้ยกให้คุณ'ปราย เธอไปก่อนละกัน เพราะฉันตั้งใจซื้อของเธอจริงๆ ไม่อยากให้มูราคามิ ต้องอยู่ในตำแหน่งที่เรียกว่า.."มาแบบไม่ได้ตั้งใจ" (55555)"
...เพียงอยากมองโลก
จากมุมที่สูงที่สุด
ณ จุดที่ฉันเหยียบถึง
สักครั้งหนึ่งในชีวิต
แล้วไต่ลง
ก็แค่นั้น
ฉันรักเธอ..ในวิถีเดียวกัน
ทนลำบากปีนป่ายฝัน
มิต้องการสิ่งใด
นอกจาก
แค่อยากรักใครสักคน
อย่างลึกซึ้ง
อย่างน้อยสักครั้งหนึ่ง
ก็-แค่นั้น "

หน้าปกด้านในเธอเขียนไว้อย่างนี้
ดูสิ แล้วจะไม่ให้ฉันหลงรักหนังสือของเธอได้ยังไง

Create Date : 05 ตุลาคม 2551
Last Update : 5 ตุลาคม 2551 23:59:31 น.
http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=bonwhan

ชื่นชอบผลงานตั้งแต่ได้อ่านเรื่อง "จดหมายรัก"

...........................................................................................
"ชื่นใชื่นชอบผลงาน ตั้งแต่ได้อ่านเรื่อง "จดหมายรัก"
ข้อความจากบล็อก playalong.multiply
Posted by YU on Jun 3, '08 12:52 PM
Link: http://prypansang.blogspot.com/
...
'ปราย พันแสง ชื่นชอบผลงานตั้งแต่ได้อ่านเรื่อง "จดหมายรัก" ซึ่งอ่านจบแล้วทำให้อยากเขียนจดหมายหาคนรักทันที แต่ก็ทำไม่ได้เนื่องจากตอนนั้นอยู่ในช่วงที่กำลังอกหัก.... แต่ก็ได้ข้อคิดอะไรหลาย ๆ อย่างจากหนังสือเล่มนั้น และเริ่มติดตามงานเขียนของคุณ 'ปราย พันแสง มาตลอด อาจจะไม่ทุกเล่ม แต่ก็พยายามหามาอ่านให้ได้ และเล่มล่าสุดที่กำลังอ่านอยู่นี้ คือPassion Cafe คาเฟ่ เสน่หา.. ได้มุมมองอะไรอีกแล้ว... (^_^) playalong.multiply.com

นิตยสารไฮคลาส Vol.26 No.271 August 2008



'ปราย พันแสง
"เขาบอกว่าวรรณกรรมไทยขายยาก"
จากคอลัมน์ Thai Writer,นิตยสารไฮคลาส
ฉบับที่ 271 สิงหาคม 2008 โดย : กิติคุณ คัมภิรานนท์

'ปราย พันแสง นักเขียนหญิงที่มีผลงานได้รับการยอมรับในวงการวรรณกรรมไทยคนหนึ่ง 'ปราย เริ่มต้นเขียนงานตั้งแต่อยู่ชั้นมัธยมปลาย ด้วยแรงกระตุ้นจากการอ่านผลงานของนักเขียนท่านอื่นๆ จนเกิดแรงบันดาลใจอยากเขียนงานของตัวเอง 'ปราย คร่ำหวอดในแวดวงหนังสือมายาวนาน ทั้งในฐานะกองบรรณาธิการ นักข่าวหนังสือพิมพ์ บรรณาธิการนิตยสาร นักเขียนบทละครโทรทัศน์ ฯลฯ ปัจจุบัน นอกจากเขียนหนังสืออย่างสม่ำเสมอ เธอยังเป็นหัวเรือใหญ่ นำพานิตยสารและสำนักพิมพ์ freeform โต้คลื่นมรสุมแห่งมหาสมุทรวรรณกรรมไทยที่ไม่เคยได้ดั่งใจ ให้สามารถไปสู่ฝั่งฝันที่ต้องการให้จงได้


อะไรที่ทำให้เริ่มเป็นนักเขียน และอะไรที่ทำให้ยังเป็นนักเขียน
คงเริ่มต้นเหมือนคนเขียนหนังสือทั่วๆ ไป ที่เริ่มจากการเป็นคนอ่านมาก่อน ที่บ้านชอบอ่านหนังสือค่ะ แม่ป้าน้าอาชอบอ่านนิยายกันมากๆ อย่างหนังสือสกุลไทย ขวัญเรือน หรือบางกอก ที่บ้านก็อ่านประจำ เด็กๆ เราเติบโตมาก็เห็นหนังสือพวกนี้ เห็นทุกคนในบ้านอ่านกัน เราก็อ่านบ้าง แรกๆ อาจจะเริ่มจากเซ็คชั่นสำหรับเด็กที่แทรกอยู่ในหนังสือ อ่านนิทานอะไรอย่างนั้น แต่จำได้ว่าตอนเด็กๆ ก็ชอบอ่านเซ็คชั่นเด็กอยู่แป๊บเดียวก็เลิกอ่านแล้ว จะชอบอ่านนิยายหรือเรื่องอื่นๆ ในหนังสือแบบที่ผู้ใหญ่อ่านกันมากกว่า

...
พออ่านเยอะขึ้นก็เริ่มอยากเขียน เพราะจากที่ได้อ่าน เราก็รู้สึกว่าเรื่องแบบนี้เราน่าจะเขียนได้ ก็คิดไปประสาเด็กค่ะ เพราะพอเราเริ่มมาลงมือเขียนหนังสือเองจริงๆ ก็พบว่าการเขียนหนังสือมันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด บางเรื่องเวลาเราอ่านของคนอื่น มันเหมือนจะเขียนออกมาง่ายๆ แต่ลงมือทำมันก็ยาก หรือเรื่องง่ายๆ บางเรื่องที่ประสบความสำเร็จ เราก็จะไปทำตามอย่างนั้นก็ไม่ได้ เราก็ต้องคิดเรื่องใหม่ เขียนเรื่องใหม่อยู่ดี ทุกวันนี้เขียนหนังสือเป็นอาชีพมาหลายปีแล้ว แต่ทุกครั้งที่นั่งลงเพื่อเขียนเรื่องใหม่ ก็ยังรู้สึกว่างานเขียนเป็นสิ่งที่ยากอยู่เสมอล่ะค่ะ

....
ส่วนที่ยังทำให้เขียนหนังสือมาจนถึงวันนี้ ก็เพราะว่าสิ่งที่เราเขียนออกไปมันมีคนอ่านอยู่บ้าง ยังมีคนชวนให้เขียนโน่นเขียนนี่อยู่เรื่อยๆ เมื่อเขียน เมื่อพิมพ์หนังสือเป็นเล่มออกมาก็พอมีคนติดตามบ้าง มันก็เลยทำให้เราสามารถทำงานออกมาได้เรื่อยๆ ที่ยังเขียนอยู่ก็เพราะยังมีคนอ่านงานของเราอยู่ค่ะ แต่ก็คิดว่าต่อไป ถึงไม่มีใครอ่านสิ่งที่เราเขียนเลย แต่ถ้าเราอยากเขียน มีสิ่งที่อยากจะเขียน ก็เขียนเองอ่านเองคนเดียวก็ได้นะ


วรรณกรรมที่ดีในทัศนะของคุณต้องมีคุณสมบัติอย่างไร

และใครคือต้นแบบในการเขียนหนังสือของคุณ

คุณสมบัติของวรรณกรรมที่ดี ถ้าในแง่ศิลปะวรรณกรรม ดิฉันคิดว่ามันก็ต้องมีหลักเกณฑ์ของมันอย่างที่ใช้กันทั่วไป ว่างานวรรณกรรมที่ดีต้องเป็นอย่างไร ต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง อย่างรางวัลซีไรต์ เขาก็จะมีกรอบเกณฑ์ของเขาในการประเมินที่ค่อนข้างชัดเจน มีมาตรฐานของมันอยู่ และดิฉันก็ยังเชื่อว่าเกณฑ์พิจารณาคุณค่างานศิลปะวรรณกรรมก็ยังต้องอาศัยมาตรฐานที่ว่านี้ไปอีกนาน เพราะมันปลอดภัยที่สุดแล้วในการคัดเลือกหรือตัดสินอะไรสักอย่าง

....
ส่วนต้นแบบในการเขียนหนังสือ ดิฉันชอบนักเขียนไทยยุคสุภาพบุรุษนักประพันธ์ค่ะ นักเขียนยุคนั้นทำให้ดิฉันรู้สึกว่าอาชีพเขียนหนังสือหรือทำหนังสือเป็นอาชีพที่มีเกียรติและสง่างามมาก

ปณิธานสูงสุดในฐานะนักเขียนของคุณและวันนี้ทำได้สมปณิธานนั้นหรือยัง
มาไกลเกินฝันมากแล้วค่ะ วันนี้คือกำไรชีวิตล้วนๆ

คนทั่วไปรู้จัก 'ปราย พันแสง ทั้งในฐานะของนักเขียน กวี นักแปล ฯลฯ แต่ถ้าให้คุณนิยามถึงตัวเอง 'ปราย พันแสง คือ?
กวีกับนักแปลนี่คงไม่ใช่หรอกนะคะ ถ้าในฐานะคนเขียนหนังสือคนหนึ่ง น่าจะเป็นคนเขียนคอลัมน์หรือคอลัมนิสต์มากกว่าอย่างอื่น


วิธีการทำงานเขียนชิ้นหนึ่งของคุณเริ่มที่ไหนและจบลงที่ไหน (ในแง่ของวิธีการทำงาน ไม่ใช่สถานที่)
ถ้าเป็นงานเขียนคอลัมน์ ส่วนมากจะเริ่มที่การคิดประเด็นหรือข้อมูลค่ะ เพราะตั้งกฎให้ตัวเองว่าจะเขียนอะไรสักอย่าง ต้องมีความรู้ใหม่ๆ หรือมุมใหม่ๆ อะไรสักอย่าง ถ้าไม่มีอย่าเขียน จากนั้นตามมาด้วยชื่อเรื่อง เพราะส่วนมากชื่อเรื่องก็คือคอนเซ็ปต์ที่จะเขียน เป็นตัวคุมงานทั้งชิ้นของเรา ดิฉันเคยทำงานหนังสือพิมพ์มาก่อนค่ะ เลยติดว่าเนื้อหาข้างในจะต้องอธิบายพาดหัวข่าวได้ทั้งหมด จากนั้นก็จะให้ความสำคัญกับการเปิดเรื่องและจบเรื่อง เปิดเรื่องต้องสะดุด ทำให้อยากอ่านต่อ จบเรื่องต้องคม มีอะไรติดปากติดใจให้คิดนึดนึง ส่วนมากก่อนจะลงมือเขียนอะไรสักชิ้น ต้องมีชิ้นส่วนพวกนี้ให้ครบก่อนค่ะ ถ้าไม่ครบมันจะเขียนไม่ลื่น อย่างถ้าเขียนๆ ไปแล้วเบื่อ เขียนไม่จบ หรือจบแล้วไม่พอใจเนี่ย เราจะรู้เลยว่าเรามีของไม่ครบ เหมือนแม่ครัวจะทำกับข้าว แต่เครื่องปรุงไม่ครบ มันก็เซ็งค่ะ บางทีต้องเปลี่ยนประเด็นเขียนไปเลย


วิถีชีวิตของคุณทุกวันนี้เป็นเช่นไรใช้เวลาช่วงไหนเขียนหนังสือเป็นหลัก
ช่วงนี้เขียนบล็อกบ้างประปราย (prypansang.blogspot.com) แล้วก็กำลังเขียนนิยายอยู่เรื่องหนึ่ง แต่เขียนๆ หยุดๆ เพราะต้องมาดูแลงานผลิตหนังสือที่ฟรีฟอร์มเป็นหลัก อยากให้มันอยู่ได้ในแง่ธุรกิจ ให้เลี้ยงตัวเองได้ เราจะได้พิมพ์หนังสือที่เราอยากอ่านออกมาได้เรื่อยๆ ดิฉันทำฟรีฟอร์มมาสองสามปีแล้ว ที่ผ่านมาก็ต้องก็ทำงานหนักพอสมควร เลยต้องหยุดงานเขียนคอลัมน์ประจำทั้งหมด แต่ตอนนี้ก็ดีขึ้นมากแล้ว อีกไม่นานคงปล่อยให้คนอื่นทำแทนได้เต็มตัวแล้ว สำหรับงานเขียนส่วนตัว ตอนนี้ก็หวังแค่ว่าปีนี้ถ้าจบนิยายลงได้ ก็จะสบายใจที่สุด เรื่องอื่นค่อยว่ากัน

ทัศนะของคุณ ต่อวงการวรรณกรรมไทย (ความเป็นอยู่และความเป็นไป)
ตอบ กลุ้มค่ะ ถ้าใครเริ่มเขียนหนังสือตอนนี้ก็ยิ่งกลุ้มแทน ดิฉันเคยพิมพ์หนังสือของนักเขียนไทยท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นการช่วยๆ กันของเพื่อนพ้องน้องพี่ที่รู้จักกันเท่านั้น เพราะพิมพ์น้อย ถึงขายหมดก็ยังไม่มีกำไร แต่ปรากฏว่าบริษัทจัดจำหน่ายไม่ยอมรับไปขายให้ เขาบอกว่าวรรณกรรมไทยขายยาก ขายไม่ได้ นักเขียนต้องใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวไปติดต่อบริษัทจัดจำหน่ายเอาเอง ซึ่งดิฉันมองแล้วก็รู้สึกว่าทำไมนักเขียนไทยเรามันลำบากกันจังนะ การจะเขียนหนังสือให้ดีก็ยากพอแล้ว ยังหาที่พิมพ์ยาก หาที่ขายยากอีกหรือ กลุ้มจริงๆ
มีน้องคนหนึ่งรู้จักกัน เพิ่งลาออกจากบริษัทเพื่อมาเขียนหนังสืออย่างเดียว เพิ่งเขียนนิยายเสร็จไปเรื่องหนึ่ง ก็ส่งมาให้ดิฉันช่วยอ่าน ดิฉันอ่านไปก็กลุ้มไป ถ้ายิ่งเขียนดีเนี่ยคงยิ่งกลุ้มใจกว่านี้ พอดีน้องเขาเพิ่งเริ่ม ยังเขียนได้ไม่ค่อยลงตัวนัก ถ้าเอาจริงก็คงต้องใช้เวลาฝึกฝนอีกนานพอสมควร ก็ได้แต่หวังว่าเมื่อน้องเขาเขียนเก่งดีแล้ว วงการวรรณกรรมไทยเราจะเปิดกว้างกว่านี้ แต่คิดว่าคงยากค่ะ ใครเขียนหนังสือตอนนี้ก็คงลำบากหน่อย ถึงคุณมีเงินพิมพ์หนังสือของตัวเองออกมาได้ ..ก็ไม่แน่ว่าจะมีที่ขายนะคะ จะเป็นนักเขียนตอนนี้ให้เวลาคิดใหม่ได้อีกที หรือต้องหาทางหนีทีไล่ให้ตัวเองดีๆ ไม่งั้นอยู่ยากค่ะ



"
รางวัล"จำเป็นไหมต่อวงการวรรณกรรมและสภาพการณ์ที่มีการประกวดรางวัลผุดขึ้นมากมายในปัจจุบันคุณคิดเห็นว่ามันสื่อถึงอะไร
จำเป็นนะคะ ยิ่งมีมากๆ ยิ่งดีค่ะ มันน่าจะสื่อถึงการดิ้นรนหาทางรอดตายของวรรณกรรมนะคะ แนวโน้มคงเป็นทั่วโลก ไม่เฉพาะในบ้านเรา ขนาดสำนักพิมพ์ใหญ่ในต่างประเทศบางแห่ง ยังคิดถึงขนาดว่าจะหานายแบบหนุ่มหล่อมาเป็นพรีเซ็นเตอร์อ่านหนังสือ เพื่อส่งเสริมการอ่านขนาดนั้น อย่างวรรณกรรมไทยตอนนี้ มันก็แทบจะไม่มีชั้นวางในร้านหนังสือแล้ว การมีรางวัลขึ้นมา มันก็เหมือนส่องไฟสป็อตไลท์ไปตรงหนังสือเล่มนั้น ให้มันเด่นสะดุดตาขึ้นมา คือในแง่หนึ่ง มันก็เป็นการให้กำลังใจคนทำงาน ถึงหนังสือขายไม่ออก แต่มันได้รางวัล คนทำงานก็คงมีกำลังใจทำต่อไปใช่ไหม หรือมองอีกแง่ การให้รางวัล มันเป็นการตลาดที่ดูดีที่สุดแล้วค่ะ ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อทำให้หนังสือเป็นที่รู้จักสำหรับคนทั่วไป


ณ วันนี้สำหรับคุณแล้วการเขียนหนังสือเปรียบได้กับอะไร (ยาเสพติด-ขาดไม่ได้,ลมหายใจ-ขาดไม่ได้ ฯลฯ) แล้วเคยคิดที่จะเลิกเขียนไหม
คงไม่ถึงขนาดหรอกนั้นนะคะ เคยคิดว่าถ้าไม่อยากเขียน หรือไม่มีอะไรจะเขียน ก็คงไม่จำเป็นต้องเขียนหรอกค่ะ ไปเป็นคนอ่านอย่างเดียวคงสนุกกว่า ส่วนเรื่องเลิกเขียน เคยคิดว่าถ้าแก่มากๆ หรือป่วยหนัก จนใช้มือเขียนเองไม่ได้ แล้วต้องพูดให้คนอื่นเขียนให้อะไรอย่างนั้น ดิฉันอาจจะไม่ทำ คงเลิกเขียนไปเลย เพราะคงจะเขินๆ คนที่จดให้เราน่าดู คงไม่ชินแน่เลยกับการทำงานอย่างนั้น แต่ก็ไม่แน่ใจหรอกว่าถ้าถึงเวลานั้นจริงๆ เราจะต้องทำหรือเปล่า คือถ้าแรงขับภายในมันเยอะมาก ก็คงต้องทำนะคะ แต่ก็หวังว่าตัวเองคงไม่ต้องจนมุมถึงขนาดนั้น แต่ชีวิตคนเรามันก็ไม่แน่นอน ใครจะรู้ใช่ไหม


คำแนะนำถึงนักอยากเขียนกวีว่าเขาต้องเริ่มต้นที่จุดไหน และพัฒนาตัวเองอย่างไร
ดิฉันไม่คิดว่าตัวเองจะให้คำแนะนำใครในเรื่องนี้ได้นะคะ เพราะถ้าเกี่ยวกับกวี ดิฉันก็เป็นแค่คนอ่านธรรมดาๆ คนหนึ่งเท่านั้นเองค่ะ และถ้าจะแนะนำ ก็คงแนะนำได้แต่เพียงว่า ถ้าอยากเขียนอะไร ก็พยายามศึกษาและอ่านงานประเภทนั้นให้เยอะที่สุด และให้หลากหลายที่สุดค่ะ



สุดท้าย ขอรายชื่อนักเขียนคนโปรด 5 คนและรายชื่อหนังสือเล่มโปรด 5 เล่ม
หลายปีมานี้ เคยตอบเรื่องนักเขียนคนโปรดกับหนังสือเล่มโปรดมาหลายครั้ง แต่ละครั้งก็ไม่ค่อยซ้ำกันเลย คงขึ้นกับว่าช่วงนั้นสนใจอะไรอยู่ เอาเป็นว่า “โปรด” ในช่วงเวลาหนึ่งเวลานั้นก็แล้วกันนะคะ

...
“5 โปรด” สำหรับหนังสือและนักเขียนช่วงนี้ ก็มีดังนี้ค่ะ



1.Sixty Million Frenchmen Can’t Be Wrong :
Jean Benoit Nadeau, Julie Barlow

....
หลายปีมานี้ต้องอ่านหนังสือเล่มนี้หลายรอบ เพราะหน้าที่การงาน ทำให้ดิฉันมีโอกาสพบปะเกี่ยวข้องกับคนฝรั่งเศสค่อนข้างมากกว่าชาติอื่น โดยเฉพาะคนฝรั่งเศสที่อยู่ในเมืองไทย จากที่เคยทำงานร่วมกันหลายครั้ง ก็รู้สึกถึงความแตกต่างด้านวัฒนธรรมค่อนข้างมาก เช่นว่าทำไมสรุปกันแล้วยังเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา หรือเวลานัดกันทำไมเขาชอบมาสาย เอ๊ะ มันเรื่องปกติสำหรับเขาหรือเปล่านะ บางทีเขามาเลทเป็นชั่วโมง คนก็รอกันเต็มเลย พอมาถึงเขาก็ร่าเริง สดชื่น ไม่มีการขอโทษ ทุกอย่างปกติ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นเราก็ เอ๊ะ มันยังไงนะ พออ่านหนังสือเล่มนี้ก็เข้าใจมากขึ้น อย่างชื่อหนังสือก็ฮาแล้ว “คนฝรั่งเศสหกสิบล้านคนไม่เคยผิด” มันเป็นไปได้ไง นักเขียนสองคนนี้เขาเป็นนักข่าวแคนาดาที่ไปใช้ชีวิตอยู่ในฝรั่งเศสหลายปี แล้วเขียนหนังสือเล่มนี้ คาดว่าคงเขียนขึ้นมาด้วยข้อสังเกตเบื้องต้นคล้ายๆ เรา หนังสือจึงมีรายละเอียดเกี่ยวกับวัฒนธรรมย่อยค่อนข้างเยอะ อ่านแล้วค่อนข้างทึ่งกับหลายๆ อย่างที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นฝรั่งเศส





2.วันใบไม้ร่วงของคนไกลบ้าน
อารยา ราษฎร์จำเริญสุข

....
หลายปีก่อน ดิฉันมีโอกาสสัมภาษณ์อาจารย์อารยา ลงตีพิมพ์ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ตอนนั้นเธอจัดแสดงผลงานศิลปะของเธอที่หอศิลป์เจ้าฟ้า น่าจะเป็นการแสดงงานคอนเซ็ปต์ชวลอาร์ตยุคแรกๆ ของเมืองไทย

...

จำได้ว่าเดินเข้าไปในหอศิลป์แล้วเหวอมาก เจอเตียงคนไข้ เจอเลือด เจออะไรดำๆ มืดๆ เราเดินดูอยู่คนเดียวตอนเย็นๆ ก็ใจหายใจคว่ำ บอกตรงๆ ว่ากลัวมาก แต่พอได้คุยกับเธอก็ประทับใจ

....

ดิฉันถามเธอว่าทำไมจึงคิดจัดแสดงนิทรรศการนี้ขึ้นมา ทั้งๆ ที่รู้ว่ามันไม่ใช่นิทรรศการขายรูปที่จะทำให้ศิลปินมีรายได้อะไรเลย แล้วเธอก็ใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัวในการทำงานทั้งหมด เธอตอบว่ามันน่าจะมีประโยชน์กว่าเอาเงินไปซื้ออายครีมแพงๆ ฟังแล้วก็ทึ่ง

...
สองสามปีมานี้ พอได้มาทำนิตยสารฟรีฟอร์ม ดิฉันก็มีโอกาสได้เจอ มีโอกาสได้สัมภาษณ์อาจารย์อีก ก็พบว่าอาจารย์ยังมีจุดยืนเหมือนเดิม แต่ชัดเจน แล้วก็มีพลังยิ่งกว่าเดิม ก็เลยกลับมาอ่านงานเขียนเก่าๆ ของอาจารย์อีก เราก็เจอตัวตนหลายๆ อย่างของอาจารย์มากขึ้น ก็ทำให้ยิ่งชอบมากขึ้น

...

ปีนี้เราทำสำนักพิมพ์ฟรีฟอร์ม พิมพ์พ็อคเก็ตบุ๊คของเราเองด้วย ก็เลยอยากพิมพ์ผลงานของอาจารย์ให้คนรุ่นใหม่ๆ ที่อยากทำงานแบบนี้ให้ได้อ่านกัน ในแง่การตลาด การพิมพ์หนังสือเล่มนี้ต้องใช้พลังเยอะมากค่ะ เพราะร้านหนังสือบ้านเราตอนนี้ แค่พาดปกว่า “เรื่องสั้นไทย” คนขายหนังสือเค้าก็กลัวมาก ไม่มีใครอยากเอาไปวางขายในร้านหนังสือแล้วค่ะ เค้าบอกว่าเรื่องไทยขายไม่ได้ แต่ดิฉันกับทีมงานก็อาศัยลูกบ้าหลายอย่าง ในการผลักดันให้หนังสือเล่มนี้ขึ้นไปอยู่บนแผงให้ได้ ซึ่งตอนที่ตอบไฮคลาสอยู่นี้ก็ยังไม่รู้ว่าจะออกหัวออกก้อย แต่ดิฉันก็ภาคภูมิใจมากค่ะที่ได้พิมพ์ ได้นำเสนอผลงานของศิลปินท่านนี้





3.เกียวโตไดอารี่
ปาลิดา พิมพะกร

....
เล่มนี้มีความประทับใจส่วนตัวเป็นพิเศษหลายอย่าง เริ่มจากตัวคนเขียนซึ่งรู้จักกันเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ดูเหมือนตอนนั้นเธอยังเรียนหนังสืออยู่ แล้วก็มาเจอกันในฐานะเป็นแฟนหนังสือรุ่นแรกๆ ของ’ปราย พันแสง

....

หลังจากนั้นก็คบหากันในฐานะคนอ่านกับคนเขียนมาเรื่อยๆ ก็สนิทสนมกันประมาณพี่ๆ น้องๆ ที่ปรารถนาดีต่อกันเสมอมา ทุกครั้งที่น้องเขาไปไหนมาไหน ก็จะเขียนโปสการ์ดส่งมาให้ตลอด เป็นคนที่สม่ำเสมอมาก น้องเขาเคยรวมเรื่องของตัวเอง เป็นหนังสือทำมือ ให้เราเขียนคำนิยมให้

...

ตอนหลังน้องเข้ามาทำหนังสือ เป็นกองบรรณาธิการนิตยสาร ต่อมาก็ทำสำนักพิมพ์ของตัวเอง เราก็ยังติดต่อคบหากันมาเรื่อยๆ เจอกันบ้างตามวาระ น้องเขาเป็นคนชอบวัฒนธรรมญี่ปุ่นมาก เรียนภาษาญี่ปุ่น ไปเที่ยวไปอยู่ญี่ปุ่นบ่อยมาก จนเราล้อว่าชาติก่อนต้องเป็นคนญี่ปุ่นแน่เลย จนวันหนึ่ง น้องเขาก็มีหนังสือเล่มนี้ออกมา เราอ่านดูแล้วก็รู้สึกประทับใจ ตื้นตันใจหลายอย่าง

....

จากตัวหนังสือของน้องที่เราได้อ่าน นอกจากได้ความรู้ต่างๆ มากมาย ยังเหมือนเราได้เฝ้ามองใครสักคน เห็นการเติบโต เห็นพัฒนาการของเขา ได้เห็นเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่ง จากเด็กซื่อใสไร้เดียงสา เติบโตขึ้นมาเป็นหญิงสาวน่ารัก ที่มีเสน่ห์ มีความรู้หลากหลาย มีวุฒิภาวะเต็มตัว เลยเป็นการอ่านไกด์บุ๊คที่ประทับใจมากเป็นพิเศษ ทั้งที่ดิฉันยังไม่เคยไปเกียวโต แต่คิดว่าถ้าได้ไปเมื่อไหร่ ก็อยากจะไปเรียนจัดดอกไม้ในคอร์สที่น้องเขาแนะนำไว้ในเล่มนี้สักครั้งค่ะ



4.ผู้หญิงสีฟ้าครึ้มฝน
แคลร์ วัลเนียวิคซ์,วลัยภรณ์ นาคพันธ์ : แปล

...
ดิฉันเป็นบรรณาธิการหนังสือเล่มนี้ เลยมีโอกาสอ่านหลายรอบ ทุกครั้งที่อ่านก็จะได้ความรู้สึกแปลกๆ ความคิดใหม่ๆ หลายอย่าง อย่างแรกคือจำได้ว่าเมื่ออ่านรอบแรกนั้นอึ้งไปเลย ดิฉันไม่คิดว่าเรื่องสั้นฝรั่งเศสยุคใหม่จะมีหน้าตาแบบนี้ เพราะที่ผ่านมา ดิฉันจะได้อ่านเรื่องฝรั่งเศสเฉพาะที่มีคนแปลออกมาเป็นภาษาไทยเท่านั้น และหลายเล่มที่ได้อ่าน ก็จะเป็นวรรณกรรมคลาสิค หรือวรรณกรรมตามแบบแผนการเรียนการสอนวรรณคดีในมหาวิทยาลัยบ้านเรา เราจะรู้จักโกแลต บัลซัค ชาร์ต กามูส์ ซึ่งจะว่าเก่าก็เก่ามาก เหมือนเราจะไม่ค่อยได้รู้เลยว่า วรรณกรรมฝรั่งเศสร่วมสมัย ที่คนฝรั่งเศสเขาอ่านเขาเขียนกันอยู่ตอนนี้มันเป็นอย่างไร พอได้อ่านจากเล่มนี้ก็อึ้งไปอย่างที่บอก

....
ดิฉันคิดว่างานเขียนที่เป็นยุคทองของวรรณคดีฝรั่งเศส คนไทยเราคงได้อ่านกันไปหมดแล้ว เมื่อยี่สิบสามสิบปีที่แล้ว ฝรั่งเศสคงไม่ได้ผลิตนักคิดนักเขียนอย่างนั้นให้กับวงการวรรณกรรมโลกมาหลายปีแล้ว เมื่อก่อนนักเขียนฝรั่งเศสอาจจะเป็นผู้นำทางความคิด แต่นักเขียนฝรั่งเศสยุคใหม่อาจจะไม่ใช่อย่างนั้น อย่างงานของแคลร์ วัลเนียวิคซ์เล่มนี้ ดิฉันคิดว่าเธอได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอเมริกันค่อนข้างเยอะ อย่างเรื่องแรกที่เป็นชื่อเล่ม ก็น่าจะได้อิทธิพลจาก Chic Lit มาเต็มๆ เลย แต่คงเป็นเพราะเขาอยู่ฝั่งยุโรป การนำเสนอก็เลยค่อนข้างสงวนท่าที ไม่โฉ่งฉ่าง เรื่องของเขาที่ออกมาก็เลยน่าอ่านกว่า ลึกกว่า มีมิติทางวรรณศิลป์มากกว่า ก็ถือว่าเปิดมุมมองเกี่ยวกับวรรณกรรมฝรั่งเศสร่วมสมัยให้ดิฉันได้มากเลย







5. Conditions of Love
John Armstrong
....
ถ้าเจอหนังสือเล่มนี้ในร้านหนังสือ ดิฉันคงไม่มีทางชายตาแลหรือหยิบขึ้นอ่านมาแน่นอน แต่บังเอิญมีคนเอาหนังสือมานำเสนอที่สำนักพิมพ์ ให้ดิฉันซื้อลิขสิทธิ์มาแปลเป็นภาษาไทย แล้วคนที่อยากแปลงานเล่มนี้เป็นภาษาไทยนั้น ก็เป็นนักเขียนนักแปลชื่อดัง ดิฉันก็เลยแปลกใจมาก เพราะพี่เค้าไม่น่าจะสนใจอะไรแบบนี้แล้วนะ จึงสนใจว่าหนังสือมันมีดีตรงไหน

....

เมื่อได้อ่านแล้วก็ทึ่ง (อีกแล้ว) ว่ามันยังมีเรื่องที่เรายังไม่รู้ หรือคิดไม่ถึงเกี่ยวกับความรักและความสัมพันธ์ของมนุษย์เราเยอะแยะมากมายขนาดนี้เชียวหรือ อย่างที่เค้าบอกว่า ความสามารถในการ “รัก” ใครสักคนนั้น มันเป็นเรื่องที่เราได้รับการถ่ายทอดมาทางยีนหรือกรรมพันธุ์ หรือแม้แต่การเกลียดใครสักคนนั้น มันก็มีวิวัฒนาการ มีลำดับขั้นตอนของมันอย่างชัดเจน ด้วยทฤษฎีและวิธีคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์หลากหลายมุมมอง

....
คนเขียนเป็นศาสตราจารย์ด้านปรัชญาและสุนทรียศาสตร์ ก็เลยมีบทวิเคราะห์ทั้งในเชิงจิตวิทยา วิวัฒนาการมนุษย์ รวมถึงประวัติศาสตร์สังคม มาอ้างอิงให้เราคิดตามได้อย่างรอบด้าน หนังสือค่อนข้างอ่านยากนิดนึง แล้วคนเขียนก็ไม่ได้สรุปตายตัวว่ามันอย่างนั้นอย่างนี้ เวลาอ่าน เราต้องตะล่อมหาข้อสรุปเอาเอง โดยการเปรียบเทียบกับตัวเราเองหรือเรื่องราวที่เราเคยผ่านพบ ก็ถือว่าเป็นหนังสือที่เปิดมุมคิดใหม่ๆ ได้มากที่สุดอีกเล่มหนึ่งก็เลยชอบเป็นพิเศษค่ะ


Celebrity on Web 'ปราย พันแสง จากหน้าหนังสือสู่หน้าบล็อก จากนิตยสาร E.COMMERCE ฉบับ 114 เดือน มิถุนายน 2551

'ปราย พันแสง จากหน้าหนังสือสู่หน้าบล็อก
จากคอลัมน์ Celebrity on Web
นิตยสาร E.COMMERCE
ฉบับที่ 114 เดือน มิถุนายน 2551

....................
เมื่อพูดถึงนักเขียนผู้หญิงแถวหน้าของเมืองไทย 'ปราย พันแสง จัดได้ว่าเธอเป็นหนึ่งในผู้หญิงแถวหน้านั้น สำหรับคนรักหนังสือ น้อยคนนักที่จะไม่รู้จักผู้หญิงคนนี้ โดยเฉพาะกลุ่มคนรักหนังสือยุคไฮเทคที่ชื่นชอบการติดต่อสื่อสารในโลกไซเบอร์ เพราะนอกจาก ' 'ปราย ’ ติดต่อกับกลุ่มผู้อ่านผ่านทางผลงานวรรณกรรม หนังสือแปล และคอลัมน์นิตยสารต่างๆ แล้ว เธอยังมีบล็อก http://prypansang.blogspot.com ที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารกับคนรักหนังสือด้วย

เริ่มต้นงานเขียนบนโลกออนไลน์
คุณปรายเล่าว่า ชีวิตงานเขียนของเธอกับโลกออนไลน์เริ่มมาตั้งแต่ 10 กว่าปีที่แล้ว จากการใช้อีเมลในการส่งต้นฉบับ ซึ่งช่วงนั้นเขียนคอลัมน์ประจำที่นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ หลังจากใช้อีเมลในการส่งต้นฉบับทำให้เพิ่มสะดวกแก่สำนักพิมพ์มากขึ้นด้วย เนื่องจากไม่ต้องพิมพ์ซ้ำเพื่อตีพิมพ์อีกรอบ แต่ด้วยช่วงนั้นการใช้งานอินเทอร์เน็ตในเมืองไทยยังไม่ดีเท่ากับตอนนี้ บางครั้งส่งงานไปให้สำนักพิมพ์ แต่ไม่สามารถเปิดไฟล์งานได้ ทำให้เกิดปัญหากับการส่งต้นฉบับ
..............
เมื่อเจอปัญหามากขึ้นในการส่งต้นฉบับ จึงคิดหาวิธีแก้ปัญหาเพื่อให้การทำงานสะดวกมากขึ้น ซึ่งตอนนั้นใช้อีเมลของ Yahoo และบนหน้าเว็บไซต์มีการโปรโมตเว็บไซต์ geocities ให้ใช้พื้นที่สำหรับสมาชิกของ Yahoo จึงได้ตัดสินใจสมัครเป็นสมาชิก เพื่อขอใช้พื้นที่ฟรีที่เว็บไซต์นี้ในการอัพโหลดต้นฉบับใส่ไว้บนเว็บไซต์สำรองไว้ หากมีปัญหาในการส่งต้นฉบับทางอีเมล ทางสำนักพิมพ์จะสามารถเข้ามาอัพโหลดไฟล์งานจากเว็บไซต์นี้ได้
.........
หลังจากไม่ได้นำต้นฉบับไปอัพโหลดไว้บนเว็บไซต์ geocities แล้ว ทำให้พบว่ามีคนสนใจเข้ามาอ่านต้นฉบับบนเว็บไซต์ เพราะมีอีเมลจากคนอ่านที่ต่างประเทศส่งถามว่าทำไมช่วงนี้ไม่นำงานเขียนอัพโหลดขึ้นมาให้อ่านบ้าง ทำให้เริ่มรู้สึกว่าการเขียนการอ่านในโลกออนไลน์นั้นเป็นการสื่อสารไร้พรมแดนจริงๆ
........
ต่อมาสังคมอินเทอร์เน็ตในไทยเริ่มเว็บไซต์ข่าวสารต่างๆ มากขึ้น มีเว็บไซต์มาขอต้นฉบับไปลงในเว็บไซต์ให้อ่านฟรี จึงตัดสินใจคัดเลือกต้นฉบับที่ตีพิมพ์ลงนิตยสาร และเป็นครั้งแรกที่ไม่ได้เงินค่าเรื่อง (ขำ) แต่ก็ได้เห็นผลดีของการนำงานเขียนเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต เพราะคนรู้จักเราผ่านอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ระยะไม่นานก็มีแฟนประจำเกือบเท่ากับในคอลัมน์ที่มติชนสุดสัปดาห์เลย
...........
นอกจากนี้ยังพบข้อดีของการเผยแพร่ผลงานของเราบนอีกอย่างโลกออนไลน์คือ เมื่อคนอ่านที่ชอบผลงานของเรา เขาจะทำการส่งต่อไปยังเพื่อนๆ ในสังคมออนไลน์ของเขา ซึ่งช่วยให้ผลงานของเราได้รับการเผยแพร่ไปอย่างรวดเร็ว และมีคนรู้จักเยอะขึ้นมาก ทำให้เห็นถึงอานุภาพของอินเทอร์เน็ตอย่างแท้จริง
........
จากปรากฏการณ์ของการตอบรับจากแฟนหนังสือบนเว็บไซต์ ทำให้อยากทำเว็บไซต์เป็นของตัวเองในการรวบรวมงานเขียน หรือเรื่องราวต่างๆ ของเราเองให้คนอ่านผ่านทางอินเทอร์เน็ต แต่ก็พบปัญหาหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแบบที่จ้างให้คนทำให้ จนตัดสินใจไปเรียนทำเว็บไซต์เพื่อที่จะได้มาออกแบบเว็บไซต์เอง เผื่อจะโดนใจมากกว่าให้เขาทำให้ (ยิ้ม) แต่หลังจากเรียนจบ มีงานเขียนเข้ามาค่อนข้างมาก สรุปเว็บไซต์ที่ตั้งใจไว้ก็ไม่ได้เกิด หลังจากนั้นก็ลองใช้ทั้งเว็บไดอารี่ แต่ก็รู้สึกว่ายังไม่ใช่แบบที่อยากได้ ต่อมามีบล็อกเกิดขึ้น แต่ไม่ได้ลองใช้เพราะคิดว่าน่าจะเหมือนไดอารี่
.........
แต่จุดเปลี่ยนในการได้นำงานเขียนมาสู่โลกออนไลน์เต็มตัวเนื่องจากช่วงเหตุการณ์เครื่องบินชนตึกเวิร์ลเทรด 9 กันยายน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ช็อกโลก ทำให้ต้องติดตามข่าวต่างๆ บนอินเทอร์เน็ต เพราะอัพเดตเร็วกว่าช่องทางอื่น และเจาะลึกกว่าในหน้าจอทีวีหรือหนังสือพิมพ์ที่เมืองไทย ช่วงนั้นเข้าไปอ่านบล็อกเยอะมาก ส่วนใหญ่เป็นบล็อกของคนอเมริกันที่แสดงความรู้สึกของเขาต่อเหตุการณ์นี้ บางคนอยู่ในเหตุการณ์และหนีรอดมาได้ เขาก็มาเขียนเล่าว่าเกิดอะไรบ้าง หลากหลายคนมาเล่า ทำให้เวลาอ่านรู้สึกเหมือนนิยายสืบสวนสอบสวนดีๆ เรื่องหนึ่งเลย
.........
จากเหตุการณ์นี้ทำให้เห็นถึงความแตกต่างของบล็อกกับไดอารี่ออนไลน์ หลังจากนั้นได้มาลองเปิดบล็อกเป็นของตัวเองบ้าง และทดลองใช้บล็อกต่างๆ แต่รู้สึกว่าบล็อกคนไทยจะมีโฆษณาเยอะ ช่วงหลังจึงมาใช้บริการของ Blogger (http://prypansang.blogspot.com) ซึ่งมีผู้ที่สนใจเข้ามาอ่านกันพอสมควร
.........
ตอนนี้คุณปรายมีเว็บไซต์ที่เผยแพร่ผลงานกี่เว็บไซต์คะ?
หลักๆ ในการเผยแพร่งานเขียนชิ้นใหม่ๆ จะอยู่ที่บล็อก http://prypansang.blogspot.com และที่บล็อก http://prypansangbooks.blogspot.com ที่ทำไว้เพื่อให้ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับพ็อกเก็ตบุ๊กต่างๆ ซึ่งมี 20กว่าเล่ม แล้วมีบล็อก http://prypansangclipping.blogspot.com เอาไว้เก็บข่าวเก็บเรื่องราวที่มีคนอื่นเขียนถึงหนังสือหรือผลงานของเรา เพราะก่อนหน้านี้เก็บใส่แฟ้มไว้ที่บ้าน ก็หายบ้าง ลืมไปบ้าง แต่พอมารวมไว้ในบล็อกเป็นที่เป็นทางก็ดูจะเข้าที่ดี คนอื่นที่ไม่เคยอ่านก็สามารถคลิกเข้ามาอ่านได้ด้วย ทำให้ข่าวสารต่างๆ ไม่สูญหายไปไหน ยังมีคนได้อ่านได้เห็นมันอยู่เรื่อยๆ นอกจากนี้ยังมีบล็อกสำหรับเก็บเพลง เก็บภาพถ่าย เก็บอะไรต่อมิอะไรแยกต่างหากไว้อีกเยอะแยะ
.......
การใช้ประโยชน์บนโลกออนไลน์ในบทบาทของนักเขียนเป็นอย่างไร?
ช่วงหลังมานี่เลิกเขียนประจำในนิตยสารต่างๆ เพราะงานประจำหนักมาก เนื่องจากออกมาตั้งสำนักงานของตัวเอง (หุ้นกับพี่ๆ น้องๆ และเพื่อนๆ) ที่ต้องเลิกเขียนประจำลงนิตยสารเพราะบางทีงานประจำของเราไม่สามารถควบคุมเรื่องเวลาได้ แต่ตัวเราเองก็ยังมีเรื่องที่อยากเขียนอยู่ จึงใช้บล็อกนี่แหละเอาไว้เผยแพร่งานเขียน เพราะสามารถเข้ามาเขียนเมื่อไรก็ได้ เมื่อเขียนไปสักระยะก็จะคัดเรื่องที่เขียนลงบล็อกเอามารวมเล่มได้ด้วย ซึ่งจะเห็นว่าประโยชน์หรือกระบวนการของมันก็ไม่ต่างจากการเขียนประจำลงนิตยสารแต่อย่างใด เพียงแต่จะสะดวกเรื่องเวลาทำงานมากกว่าเท่านั้น ถือว่าเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์มากค่ะ
..........
ที่นักเขียนมีบล็อกเป็นของตัวเองเป็นผลดีมากน้อยแค่ไหน?
คิดว่าน่าจะมีประโยชน์ในการเผยแพร่ความคิดหรือผลงานของนักเขียนนะคะ ส่วนตัวพี่เองมีผลดีและเป็นประโยชน์มาก เพราะบล็อกเป็นสื่อกลางให้ตัวเราได้พบปะกับคนอ่านได้ตลอดเวลาที่แต่ละคนพร้อม นอกจากนี้ยังมีคนอ่านรุ่นใหม่ๆ เข้ามารู้จักเรามากขึ้น ตอนนี้มีคนอ่านผลงานของเราทั้งนักอ่านหน้าใหม่และหน้าเก่าเลยค่ะ
.........
ปัจจุบันนักเขียนเริ่มมาสร้างพื้นที่ในโลกออนไลน์ไว้เผยแพร่ผลงาน บทวิจารณ์ และติดต่อกับผู้อ่านมากขึ้น คุณปรายมองอย่างไรคะ?
พี่ว่ามันดีมากเลยค่ะ ถือเป็นช่องทางใหม่ๆ ที่สะดวกมาก สำหรับคนที่มีความสามารถจะได้โชว์ฝีมือ พี่เข้าไปอ่านในบล็อก ในเว็บไซต์บางแห่ง เขียนดีมาก เขียนดีกว่าเรื่องที่เราได้อ่านในหนังสือแพงๆ บางฉบับด้วยซ้ำไป อย่างบทวิจารณ์ภาพยนตร์ ถ้าไม่ใช่บทวิจารณ์ในหนังสือภาพยนตร์โดยตรงแล้วพี่อ่านไม่ได้เลยนะ เพราะเป็นแค่รีวิวสั้นๆ ตามใบปลิวประชาสัมพันธ์ของบริษัทหนัง เจอบ่อยๆ แบบนี้ก็ขี้เกียจอ่าน แต่พวกบทวิจารณ์หนังในบล็อก ในเว็บไซต์ต่างๆ ยังตามอ่านอยู่ บางคนเขียนดีมากเลย มีการหาข้อมูล ความรู้แน่น ตอนหลังพอเขียนบล็อกเยอะๆ ก็มีคนขอไปทำเป็นพ็อกเก็ตบุ๊ค พี่ว่ามันดีมากเลยนะ นอกจากดีสำหรับคนเขียนแล้วก็ยังดีสำหรับคนอ่านด้วย
............
สำหรับเว็บฯ http://prypansang.blogspot.com/ เป็นเว็บฯ หลักในการติดต่อสื่อสารกับคุณปรายใช่ไหมคะ คอนเทนต์ในเว็บฯ นี้จะเป็นคอนเทนต์พิเศษที่ทำขึ้นมาเฉพาะใช่ไหม?
ใช่ค่ะ ตอนนี้เป็นสื่อหลักเลย ตั้งใจเขียนขึ้นใหม่สำหรับบล็อกนี้โดยเฉพาะเลย แต่บางครั้งงานยุ่ง ไม่ค่อยมีเวลามาอัพเดต นานๆ พี่ก็จะเอาเรื่องเก่าๆ ที่เคยเขียนไว้มาลงสลับบ้าง เพราะเกรงใจคนที่คลิกเข้ามาอ่านบ่อยๆ แล้วไม่เจออะไรใหม่ๆ บ้างเลย อย่างงานเก่าๆ บางชิ้นหลายคนก็ไม่เคยอ่านนะคะ แบบว่าเกิดไม่ทันทำนองนั้น (ขำ) แต่พอเอามาลงทีไรก็ได้รับการตอบรับดีทุกครั้ง
...........
เนื้อหาที่คุณปรายเขียนบนเว็บไซต์จะมีไปตีพิมพ์เป็นหนังสือไหมคะ?
มีค่ะ ออกมาแล้ว 1 เล่ม ชื่อ “คาเฟ่เสน่หา” เนื้อหาบางส่วนในเล่มนี้นำมาจากบล็อกค่ะ แต่ตอนตีพิมพ์เป็นหนังสือก็จะมีการเรียบเรียง ขัดเกลา เพิ่มเติม ตัดทิ้งบ้าง เพราะตอนเราเขียนบล็อกเราเขียนสดๆ พอมาตรวจแก้ทีหลังก็ต้องมีการปรับปรุงให้ลงตัวขึ้น
........
มองอย่างไรคะหากวันหนึ่งกระแสการอ่านเรื่องสั้น นวนิยาย บนเว็บไซต์ซึ่งสามารถอ่านได้ฟรี ได้รับความนิยมมากกว่าการไปซื้อหนังสือ คิดว่ามีผลกระทบกับนักเขียนที่ทำผลงานออกมาเป็นตัวเล่มขายหน้าร้านไหมคะ?
ถ้าคนเลิกซื้อหนังสือหมดคงกระทบนักเขียนแน่ๆ ค่ะ แต่ถ้าคนหันมาอ่านออนไลน์กันหมด ถ้าไม่พิมพ์หนังสือกันแล้ว ต่อไปเวลาจะอ่านอะไรออนไลน์อาจจะต้องจ่ายเงินก่อนอ่านมากขึ้นนะคะ อย่างหลายๆ เว็บไซต์ที่ให้จ่ายเงินเป็นสมาชิกก่อนถึงจะได้อ่าน สำหรับพี่ยอมรับได้นะ เพราะคิดว่าโลกมันเปลี่ยน ทุกอย่างก็ต้องเปลี่ยนอยู่แล้ว และเมื่อมันเปลี่ยนไปถึงจุดหนึ่ง ในจุดนั้นมันก็ต้องหาสมดุลของตัวเองได้เหมือนกัน
......
ในอนาคตคุณปรายคิดวางแผนขายคอนเทนต์บนเว็บไซต์ไหมคะ?
ถ้าคนเลิกซื้อหนังสือกันหมดคงต้องคิดเหมือนกันค่ะ แต่ตอนนี้หนังสือยังขายได้เรื่อยๆ คอนเทนต์บนเว็บฯ ก็เลยไม่ซีเรียสเท่าไรค่ะ เพราะโดยส่วนตัวก็ยังอยากให้การเขียนบล็อกเป็นอิสระจากธุรกิจไปเรื่อยๆ ถ้าต้องขายคงต้องเกร็งแน่ๆ เลยเวลาจะเขียนอะไรลงบล็อกแต่ละชิ้น แต่ตอนนี้คนอ่านฟรีไงคะ ก็เลยเขียนอะไรก็ได้ตามใจ สบายใจ ไม่เครียด ไม่เกร็ง แต่ขออย่างเดียวอ่านแล้วทิ้งคอมเมนต์ไว้ให้บ้างเท่านั้นก็ดีนะคะ (ยิ้ม)
....
สุดท้ายนี้อยากให้คุณปรายฝากผลงานที่ออกมาในปัจจุบัน และเว็บไซต์ที่สามารถเข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคุณปรายได้ค่ะ
ผลงานพ็อกเก็ตบุ๊กล่าสุดตอนนี้ก็มี “คาเฟ่เสน่หา” เป็นรวมบทความคัดสรรของ “ปราย พันแสง” ชุดล่าสุด กับงานบรรณาธิการเรื่องแปล “ร้านชำสำหรับคนอยากตาย” ค่ะ ถ้าสนใจจะแวะเวียนไปอ่านไปชม หรือแวะเข้าไปพูดคุยกันได้ที่บล็อก http://prypansang.blogspot.com/ นะคะ
....

คงจะเป็นการอ่านรอบที่สาม โบยบินแล้วไม่หวนคืน

นี่คงจะเป็นการอ่านรอบที่สาม
โบยบินแล้วไม่หวนคืน
"บางเรื่องราว มีกลิ่นหอมหวาน น่ารัก บางเรื่องสื่อถึงความจริงบางอย่างที่บางครั้งเราเกือบลืมเลือนมันไป"
จาก บ้านนู๋หวีด
....
หลังจากอ่าน "ความรักเจ้าขา" จบไปตั้งแต่ต้นเดือน เราก็เริ่มมีอาการ อยากอ่านหนังสือ ต่อไปเรื่อยๆ แต่ปัญหาใหญ่ที่ตามมาก็คือ ไม่รู้ว่าจะอ่านเรื่องอะไรต่อดี หนังสือที่ซื้อมาตอนปลายปีที่แล้ว 8-9 เล่มและยังไม่ได้อ่านก็ไม่ยอมหยิบออกมาอ่านซักที อืม...ม ให้มันได้อย่างนี้สิ งงกับตัวเองจริงๆ
........
อยากอ่านหนังสือแต่ไม่รู้จะอ่านอะไรดี ทุกวันก็ได้แต่หยุดยืนอยู่หน้าชั้นหนังสือ เอื้อมมือออกไปและหยุดชะงักอยู่แค่นั้น ไม่ยอมหยิบหนังสือมาอ่าน
....
ไม่รู้สินะ มันเหมือนกับว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะอ่านหนังสือที่ตัวเองมีอยู่ เหมือนหนังสือแต่ละเล่มมีช่วงเวลาของมัน เวลาแบบนี้ ช่วงนี้ ต้องเรื่องนี้...เหมือนๆกับการฟังเพลงมั้ง อารมณ์เหงาๆต้องเพลงนี้ อารมณ์ดีต้องเพลงนี้ จังหวะนี้ อะไรประมาณนั้น
.........
นั่งรอหนังสือที่เพื่อนรักบอกว่าจะส่งมาให้ รอ...ร๊อ...รอ ก็ยังไม่มีวี่แววว่าคุณเธอจะส่งมาซักที บอกจะส่งของขวัญ(หนังสือ)มาให้ตั้งแต่หลังสงกรานต์จนบัด now ของขวัญวันเกิดเราก็ยังคงนอนแน่นิ่งอยู่ที่เดิม ณ.เชียงใหม่ เหอๆ บ่นมากไปก็ไม่ได้ เดี๋ยวโดนคุณเธอกัดจิกกลับมา เจ็บตัวเปล่าๆ
...........
"ทีของขวัญวันเกิดช้านแกยังดองข้ามปี นี่ชั้นดองของขวัญแกไม่ถึงเดือนทำบ่น" แหะๆ...ก็เราไปดองของเค้าก่อนนี่นา....เอาวะ ร้องเพลงรอต่อไป จนกว่าคนข้างๆคุณเธอจะมีเวลา และเห็นใจสาวสวยน่ารักคนนี้ว่าร้องเพลงรอหลายรอบจนเสียงแห้งมานานพอควรแล้ว
.............
ตอนนี้เลยต้องหาซื้อ Magazine มาอ่านแก้ขัดไปพลางๆก่อน (จริงๆซื้อมาแทบไม่ได้อ่านเลย นั่งเปิดๆดูจนหมดเล่มแล้วก็โยนทิ้งไว้อย่างนั้น) เมื่อวานก็ไปซื้อมา 3 เล่ม (เอากะมานสิ เหอๆ) ทีแรกคิดว่า 3 เล่มนี้คงอ่านได้ 2-3 วัน แต่ที่ไหนได้ พอดึกๆ Magazine ทั้งหลายก็จรลีไปอยู่ข้างเตียงหมด (ไม่มีอารมณ์อ่านง่ะ) อยากอ่านหนังสือๆๆๆๆ...ลุกไปหาหนังสือมาอ่านดีกว่า...

.

.

"อ่านอะไรดีหว่า" บ่นกับตัวเอง สายตาก็ไล่ไปตามหนังสือบนชั้นวางหนังสือสีเขียวสดอย่างช้าๆ
....เทพนิยายกรีก...อ่านแล้ว
....เทวดาฝรั่ง....อยากอ่าน แต่ไว้ก่อน...
....บุหลันแรม...นกไม่มีปีก...ท่าทางจะหนักไป..ผ่าน...
....เม้าท์แม่....อ่านแล้ว
Love letter...เพิ่งอ่านจบ...

..............
เล่มไหนดีหว่า??......"เอาเล่มนี้ละกัน" ฉันดึงหนังสือเล่มหนึ่งออกมาจากชั้น...หนังสือหน้าปกสีเขียวใสเย็นตา ไม่หนามาก "โบยบินแล้วไม่หวนคืน (เรื่องส่วนตัว) 'ปราย พันแสง" นี่คงจะเป็นรอบที่ 3 แล้วที่ฉันอ่านหนังสือเล่มนี้ เปิดอ่านอีกทีก็ยังคงชอบเรื่องราวต่างๆภายในเล่มที่พี่ปรายเขียน มีทั้งเป็นบทกลอน บทความ..เรื่องสั้น บทสัมภาษณ์ เรื่องส่วนตัวของคนเขียน บางเรื่องราว มีกลิ่นหอมหวาน น่ารัก บางเรื่องสื่อถึงความจริงบางอย่างที่บางครั้งเราเกือบลืมเลือนมันไป
.........
เปิดอ่านไปทีละหน้าอย่างตั้งใจไปสักพักใจก็เริ่มคิดสงสัย ชื่นชม และแอบอิจฉาขึ้นมานิดๆว่าทำไมเค้า (นักเขียน) ถึงได้เขียนอะไรๆได้ดีจัง...สั้นๆ ง่ายๆ แต่แฝงไว้ด้วยความหมาย แง่คิดมากมาย
...........
ไอ้เราอยากเขียนได้แบบเค้ามั่ง นั่งเขียน นั่งพยายามแทบตายกลับเหลวเป๋วไม่เป็นท่าไปซะทุกที ที่เขียนไปวันๆก็ได้อยู่แค่นี้ เขียนออกมาแบบตรงๆ ทื่อๆ คิดยังไงก็เขียนอย่างนั้น ขัดเกลาถ้อยคำให้สละสลวยแบบคนอื่นไม่เคยได้ซักที บางครั้งเขียนเสร็จก็นั่งอายตัวเองอยู่เหมือนกันว่าชั้นเขียนอะไรไปนี่ เหมือนกับแค่มานั่งบ่นๆให้คนอื่นอ่านเลย...เฮ้อ...

........
เอาน่าๆ ไม่เป็นไร ถึงเราจะเขียนให้ใครๆคิดตามได้ไม่ดีนัก แต่เราก็รักที่จะคิดตามในสิ่งที่ใครๆ เขียนละกันน่า ^ ^

ลูกหลานของมูราคามิ


ลูกหลานของมูราคามิ


จากบล็อก opera.com ห้วงคำนึงของหุ่นกระป๋องตัวหนึ่ง




มีประชากรนักเขียนนับหัวกันแล้วในประเทศนี้ อาจไม่ถึงสิบเปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั้งหมด
.........
หากนับด้วยฐานะของรายได้ที่บุคคลผู้เรียกตัวเองว่านักเขียนนั้น หาได้จากงานเขียนของตัวเองจริงๆ
.........
“แกลองคิดดูสิ ถ้านักเขียนเท่าที่มีอยู่น้อยนิด พากันเขียนเรื่องเกี่ยวกับตัวเอง อาทิเช่น เหตุไฉนหนอ ตูข้าถึงมาเป็นนักเขียน แล้วตูข้าจะฟันฝ่าสถานะของความล้มเหลวในผลงานที่วางอยู่บนความฝันที่สั่นคลอนได้อย่างไร มันคงจะน่าเบื่อพิลึกนะ ที่ทุกคนพากันเขียนเกี่ยวกับตัวเอง เพราะกรอบของคำว่า จงเขียนสิ่งที่คุณรู้ดีที่สุด มันครอบอยู่”
............
มันอีกแล้วครับทั่น เจ้านายผมมันเริ่มบ่นตามประสาอีกแล้ว หลังจากอ่านหนังสือ HARUKI STUDY BOOK MURAKAMI
..........
หรือฉบับแปลในชื่อภาษาไทยว่า ศาสดาเบสต์เซลเลอร์ ของ ‘ปราย พันแสง
.........
หนังสือเล่มนี้เปลื้องเปลือยชีวิตของนักเขียนผู้เปรียบเสมือนหลักปักหมุดให้กับงานเขียนสมัยใหม่ หลังยุคสงครามเย็น
..........
ก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการแสวงหาตัวตน
..
ผมยังไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้อย่างจริงจัง อาศัยฟังเอาจากเจ้านายก็พอจับน้ำเสียงแกมอิจฉาของพี่แกได้ว่า
งานเขียนของมูราคามิ ในทัศนะของเคนซาบุโร โอเอะ ที่เป็น ภาพจำลองอนาคตญี่ปุ่นที่สะเปะสะปะไร้ทิศทาง นั้น มันมีอิทธิพล มันมี “อะไร” มากกว่าแค่การพร่ำบ่นถึงชีวิตของนักเขียนหนุ่มคนหนึ่ง ที่พยายามอย่างยิ่งในการเติมเต็มชีวิตอันว่างเปล่าไร้ทิศทาง ด้วยการดวลเบียร์เข้าไปจนเต็มกระเพาะ ตลอดฤดูร้อน
.............
“คุณและค่าของการที่นักเขียนคนหนึ่ง หรือคนที่กล้าเรียกตัวเองด้วยคำนั้น จรดพรมมือลงบนแป้นพิม์
เขียนแต่สิ่งที่เป็นส่วนตัวเอามากๆ อย่างชีวิตตัวเองลงในสิ่งที่เรียกว่า นิยาย นั้น วัดกันจากอะไร ?”
............
ผมอ้าปากหวอ สารภาพกับตัวเอง (โดยไม่กล้าเอ่ยกับเจ้านาย) ว่า กูก็ไม่รู้ (โว้ย !)
...........
เราวัดด้วยอะไรเหรอ ? จากงานเขียนชิ้นหนึ่ง
...........
สงครามและสันติภาพ ของทรอสทรอย มีคุณค่ามากกว่าหรือน้อยกว่า กลาย ของฟรันซ์ คาฟคา

“แกลองคิดดูสิ ถ้านักเขียนทุกคนในประเทศนี้ พากันเขียนเกี่ยวกับเรื่องของนักเขียนอีกคนในตัวเอง เราจะมีวรรณกรรมแบบไหนบนชั้นหนังสือ ฉันก็ไม่ได้อยากชี้นิ้วโบ้ยไปที่มูราคามิหรอกนาโว้ย
แต่เราหมกมุ่นอยู่กับการค้นหา ตั้งคำถาม รื้อคำตอบ สร้างคำถามชุดใหม่ พิสูจน์สมมุติฐานจากทฤษฎีที่เราก็ไม่ได้เชื่อมั่นอะไรนักหนา เพื่ออะไรวะ ? เพื่อบอกคนอ่านในหน้าสุดท้ายว่า ขอโต๊ด งานเขียนชิ้นนี้เป็นเรื่องของนักเขียนคนหนึ่งคร้าบบบ”
...........
เราอยู่ในยุคที่ไม่รู้ว่าควรจะเดินไปทางไหนจริงๆ หรือแค่เราแสแสร้งแกล้งทำ เพราะมันทำให้เราแตกต่างจากคนอื่นๆ กันแน่ ?
...........
ผมครุ่นคิดเรื่องนี้ เท่าที่สมองผุๆ ขึ้นสนิมของผมพอจะนึกออก
การปะทะของสองยุคสมัย
การวิพากษ์และวิจารณ์คนรุ่นใหม่ของคนรุ่นก่อน
เกิดและดำเนินไปอย่างคู่ขนานมาเสมอ ไม่ว่าในยุคสมัยไหน
แต่เสรีภาพแบบไหนกัน ที่เราปรารถนา
เราจะพากันเดินดุ่มๆ ในความมืด มีแสงจากไฟแช็คราคาถูกเพื่อส่องนำทาง
แล้วหลอกตัวเอง ว่านั่นถือวิถีของกบฎงั้นหรือ ?
.............
เพื่ออะไร ?
............
รอยทางของคนรุ่นก่อนที่ปูไว้ มันน่ารังเกียจ กระทั่งชวนให้ขยะแขยงถึงขั้นภาคเสธรากเหง้าตัวเองเชียวหรือ ?
......
ในทางตรงกันข้าม เมื่อเรากลายเป็นคนรุ่นก่อน แล้วหันหลังกลับไปมอง คนรุ่นหลังที่กำลังก้าวตาม
กลับพบว่า มันเอาแต่ออกนอกลู่ เอาแต่ชมนก ชมไม้ เราจะเดินไปเบิ๊ดกะโหลกมันสักเผียะดีไหม ?
...........
มันน่าคิดนะ
............
คำถามเรื่องคนแต่ละรุ่น มันโยงกลับไปสู่คำถามข้างบน ถึงคุณและค่าของการเขียนที่เจ้านายผมยึดถืออยู่
ทั้งสองคำถามนี้ มันทำให้ผมนึกวลีเก่าแก่ (มั้ง) ที่พูดว่า
............
“ไม่สำคัญว่าคุณจะเป็นใคร แต่สิ่งที่คุณทำต่างหากจะเป็นตัวบอก”

Oh ! yeh